Share

เห็นชื่อเรื่องอย่างนี้ไม่ได้ชวนเล่นหุ้นนะ แต่พอดีได้ดู TED 2006 เรื่อง Ideas Worth Spreading พบว่าน่าสนใจมากที่ไอเดียค่อนข้างน่าสนใจ ถ้าเราสามารถสร้างแหล่งข้อมูลที่เข้าถึงได้โดยง่าย และสังเคราะห์มันออกมาได้อย่างถูกต้อง ความอัศจรรย์ก็อยู่ไม่ไกลเกินไป

จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเรามีแหล่งข้อมูลดิบขนาดใหญ่ไว้ในอินเทอร์เน็ต เช่นสำนักข่าวซักสำนักอาจจะแจกบันทึกของสายข่าวของตนให้กับชุมชนอินเทอร์เน็ตฟรีๆ แล้วปล่อยให้มีการวิเคราะห์ข่าวอย่างกว้างขวาง โดยสำนักข่าวนั้นอาจจะได้รับค่าใช้จ่ายจากการโฆษณาบนเว็บ หรือจะเป็นการตีพิมพ์บทวิเคราะห์ที่นักวิเคราะห์อิสระเหล่านั้นมาวิเคราะห์ให้ฟรีๆ บนอินเทอร์เน็ต

โลกในตอนนี้มันกำลังแบนลงเรื่อยๆ เราอาจจะแปลกใจว่าตรรกะที่เราเคยเข้าใจใช้ไม่ได้กับโลกในตอนนี้และอีกห้าปีข้างหน้าอีกต่อไป ที่สำคัญคือประเทศไทยเองก็เป็นส่วนหนึ่งของกระแสโลกนี้ด้วย อย่าง Blognone เองก็เป็นหลักฐานหนึ่งที่เราเปิดให้นักเขียนเข้ามาเขียนข่าวได้อย่างอิสระ ซึ่งในแง่ของสื่อยุคเก่าแล้วอาจจะตั้งคำถามว่า “ใครจะมาเขียนข่าวให้คนอื่นอ่านกันฟรีๆ?” แต่เราพบว่าคนจำนวนไม่น้อยทีเดียวที่ได้รับประโยชน์จากการเขียนข่าวฟรีๆ เช่นนั้น

ปัญหาของข้อมูลไทยๆ ทุกวันนี้ยังมีอยู่เยอะโดยเฉพาะ การค้นหาที่ย่ำแย่มากเมื่อใช้กับข้อมูลภาษาไทย

ปล. TED Talk นี่เป็นงานสัมมนาระดับสุดยอด ด้วยการเชิญคนที่แสดงไอเดียได้ระดับโลกมาพูดเกี่ยวกับแนวคิดของเขาสั้นๆ แค่ 20 นาที เลยเป็นการคั้นแต่เนื้อล้วนๆ ไม่มีน้ำ ที่น่าแปลกคืองานสัมมนานี้คนเข้าฟังต้องได้รับเชิญจากทาง TED เองเท่านั้น และบัตรค่าเข้าฟังนี่ 4,400 ดอลลาร์ต่อที่นั่ง !!! แต่ข่าวดีคือมีวีดีโอในงานให้ดูกันฟรีๆ ที่ Google Video แถมโหลดไปแจกใครต่อใครได้เพราะเป็น Creative Commons (By, Share-Alike, No-Comercial)

 

OpenContent

หลายปีก่อนตอน MIT เปิดโครงการ OpenCourseWare มันสร้างความตื่นเต้นให้กับผมมาก เมื่อได้นั่งดูวีดีโอวิชา Linear Algebra ส่งตรงมาจาก MIT

ห้าปีผ่านไป MIT เพิ่มวิชาในโครงการ OCW ขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่วิชาเหล่านั้นมักไม่มีอะไรมากไปกว่าเอกสารการบ้านและเฉลยการบ้าน ซึ่งไม่ต่างอะไรจากเว็บที่เคยกระจัดกระจายกันอยู่ แค่รวมไว้ใต้โดเมนเดียวกัน ตลอดจนหลักสูตรของแต่ละวิชา โดยทาง MIT ระบุว่าเนื่องจากค่าใช้จ่ายในการอัพโหลดวีดีโอขึ้นอินเทอร์เน็ตนั้นแพงมากจน blah blah blah…. สรุปคือต้องใช้เงินหลายล้านดอลลาร์ต่อวิชาต่อปี

Berkeley นั้นมาตอนหลัง แต่ปริมาณวีดีโอเต็มวิชานั้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลายวิชาพร้อมกับการอัพโหลดวีดีโอขึ้น Google Video ให้ดูกันจนจุใจ ทำให้ภาพของ Berkeley นั้นดูสปอร์ต และจริงใจที่จะพัฒนามาตรฐานการศึกษาของโลกมากกว่ามาก

มาเขียนเพราะเพิ่งเห็นมีคนรวมวิชาที่ออนไลน์ไว้ให้แล้ว (ที่นี่) แต่ยังไม่ว่างดูเพราะต้องอ่าน Introduction to Algorithm อยู่ ยังดีที่วิชานี้ที่ MIT มีวีดีโอให้ (สอนดีมากๆ) วิชาอื่นเลยต้องพับเก็บไว้ก่อน

ใน Google Video นี่นอกจากพวกวิชาเรียนแล้วยังมีสารคดีดีๆ อีกเยอะมาก เรื่องล่าสุดที่ดูคือ The Code Linux เห็นแว๊บๆ ว่ามีวีดีโองานประชุมวิชาการน่าสนใจอีกหลายงาน

 

Against-Tag

ปรากฏการณ์ Blog-Tag ที่เพิ่งเกิดขึ้น นับว่าเป็นการแสดงความสามารถในการเชื่อมโยงของโลกไซเบอร์ได้ค่อนข้างดี ไว้รอมันซาๆ ไปก่อนจะไปขอตัวเลขมาวิเคราะห์กัน แต่ที่น่าสนใจคือเป็นไปได้ไหมที่เราจะใช้แนวทางนี้ในการทำอย่างอื่น เช่นการประท้วงอย่างสันติ

เราเห็นกันบ่อยๆ ที่มีการรณรงค์โดยบางกลุ่มให้ติด Tag บนหัวเว็บเพื่อประกาศความเป็นตัวตนบางอย่าง แต่ขณะที่การเรียกร้องให้แก้รูปแบบเว็บอาจจะลำบากสำหรับคนส่วนมาก (โดยเฉพาะคนขี้เกียจอย่างผม) เราอาจจะใช้รูปแบบอะไรที่ง่ายๆ เพื่อให้ประชากรในเว็บแสดงเจตจำนงค์บางอย่างร่วมกัน

ผลที่ออกมาคงคล้ายๆ กับ OpenLetter ของ Blognone แต่ถ้าเป็นเรื่องที่คนจำนวนมากเห็นตรงกัน การใช้การแสดงความเห็นในรูปแบบนี้อาจจะสร้างปรากฏการณ์อะไรบางอย่างที่ต่างกันออกไป

แค่สงสัย เราอาจจะต้องรอเหตุการณ์อะไรบางอย่างที่คนจำนวนมากๆ เห็นตรงกันอีกที

 

ดิจิตอล

โลกดิจิตอลทำให้ความฝันที่ไม่เคยเป็นไปได้ เป็นขึ้นมาจริงๆ เอาเหมือนกัน คนในวีดีโอนี่เล่นไม่เป็นทั้งกลองทั้งเปียโน ตัดต่อวีดีโอเป็นอย่างเดียว แต่ตอนนี้ดังขนาด WSJ เอาไปเขียนเป็นข่าวแล้ว แถมคนดูรายการนี้มากกว่า 1.5 ล้านครั้ง ทำรายการทีวีบ้านเราอายได้ง่ายๆ