ความเห็นต่อการเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตในไทย

ช่วยมาร์คทำการบ้าน เอามาลงบล็อคแล้วกันเผื่อจะกลายเป็น Blog-Tag

– ช่วยแนะนำตัวเองคร่าวๆ เช่น ตำแหน่งหน้าที่การงาน ลักษณะการทำงาน
> วิศวกรคอมพิวเตอร์, ผู้ดูแลระบบ, ผู้ดูแลเครือข่าย, เว็บมาสเตอร์, โปรแกรมเมอร์, นักวิจัย, นักศึกษา (มั่วจริงตู)

– ใช้อินเทอร์เน็ตมานานแค่ไหน? ใช้อินเทอร์เน็ตในการทำงานเยอะน้อยอย่างไร (เช่น ใช้บ้าง หรือ ขาดไม่ได้) ช่วยอธิบายลักษณะการใช้งานอินเทอร์เน็ตแบบคร่าวๆ (เช่น หาข้อมูลบนเว็บ ทำรายการทีวีออนไลน์)
> ตั้งแต่ ป. 5 นับรวมแล้วประมาณ 15 ปี เมื่อขาดอินเทอร์เน็ตแล้วประสิทธิภาพการทำงานลดลงเหลือเพียง 1 ใน 10

– ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา โดนผลกระทบจากการเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยบ้างหรือไม่? (โดน/ไม่โดน ถ้าโดน เป็นที่บ้านหรือที่ทำงาน หรือเป็นเจ้าของ/ผู้ดูแลเว็บไซต์ที่โดนเซ็นเซอร์)

> โดนบ้างไม่มากนัก ทั้งที่ทำงานและที่บ้าน เนื่องจากมักเป็นการบล็อคแบบทั่วประเทศ

– ถ้าได้รับผลกระทบจากการเซ็นเซอร์ ได้กระทำการหลบเลี่ยงหรือแก้ไขอย่างไรบ้าง (เช่น ใช้ proxy หรือ Tor,
ย้าย ISP, ย้ายเซิร์ฟเวอร์, โพสต์แสดงความไม่เห็นด้วยตามเว็บบอร์ด/บล็อก) ถ้าไม่ได้ทำอะไรเป็นพิเศษช่วยระบุ

> ยังไม่เคยเจอกรณีที่ทำอะไรไม่ได้ แต่โดยมากแล้วเมื่อมีการบล็อคจะทำให้พฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตเปลี่ยนไป โดยมากแล้วแล้วจะเข้าเว็บที่ถูกบล็อคบ่อยกว่าเดิม เนื่องจากสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นจึงถูกบล็อค

– มีความเห็นอย่างไรต่อการเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ต (เช่น เห็นด้วยทั้งหมด เห็นด้วยบางประเด็น ไม่เห็นด้วย) พร้อมทั้งให้เหตุผลประกอบ

> __ไม่เห็นด้วยในบางประเด็น__ หลักๆ คือการบล็อคโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมที่อธิบายได้ เพราะโดยส่วนตัวแล้วคิดว่าเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเซ็นเซอร์ในบางประเด็นที่ชัดเจนได้ เช่นภาพอนาจารเด็ก

– ในกรณีที่เห็นด้วยเป็นบางประเด็น คิดว่าควรเซ็นเซอร์เรื่องอะไรบ้าง (ตัวอย่าง: การเมือง ศาสนา วัฒนธรรม สถาบันพระมหากษัตริย์ การก่อการร้าย แบ่งแยกดินแดน ภาพอนาจาร ภาพอนาจารเด็ก การพนัน ฯลฯ)

> ประเด็นที่มีความผิดทางกฏหมาย__อย่างชัดเจน__ เช่น ภาพอนาจาร (ผิดกฏหมายไทยอยู่แล้ว) สถาบันพระมหากษัตริย์ก็ผิดกฏหมายเช่นกัน แต่ทั้งหมดทั้งมวลคือต้องผ่านกระบวนการยุติธรรม

– ถ้าเห็นด้วยกับการเซ็นเซอร์ (ไม่ว่าจะทั้งหมดหรือบางส่วน) คิดว่าการเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตควรทำที่ระดับชั้นไหน (เลือกได้มากกว่า 1 ข้อ หรือจะตอบอย่างอื่นก็ได้)
– นโยบายระดับรัฐบาล-กระทรวง
– กฎหมาย
– เกตเวย์ออกกต่างประเทศ (ปัจจุบันมี 3 แห่งคือ CAT, TOT และ True)
– ISP
– องค์กรที่สังกัด (เช่น มหาวิทยาลัย บริษัท)
– พีซี/โน้ตบุ๊ก (เช่น ลงซอฟต์แวร์เซ็นเซอร์)

> กฏหมายบังคับไปที่เกตเวย์น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีในเชิงเทคนิค อย่างไรก็ตามควรคำนึงถึงค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น เช่นรัฐสั่งบล็อคจำนวนมากและซับซ้อนส่งผลให้เอกชนรับภาระค่าใช้จ่าย แล้วผลักภาระไปให้ผู้บริโภค กรณีอย่างนี้จะจัดการอย่างไร?

– คิดว่าการเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ต ต่างจากสื่อชนิดอื่นๆ เช่น หนังสือ ภาพยนตร์ โทรทัศน์ หรือไม่

> ต่างกันที่คนมีความเข้าใจมีเพียงจำนวนน้อย ทำให้การจัดการทำได้ไม่ดีนัก หลายครั้งมั่ว และหลายครั้งมีการทำเกินอำนาจที่กฏหมายระบุ

– คุณมีความเห็นต่อการเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ต หลังรัฐประหาร 19 กันยา 2549 อย่างไร

> มั่วซั่ว ตีคลุมอย่างไร้ทิศทาง และขาดความเข้าใจ โดยทั่วไปแล้วสร้างภาพลบให้กับคณะรัฐประหารอย่างทรงประสิทธิภาพ

– คิดว่าระดับการเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ถือว่ามากหรือน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ (เท่าที่ทราบมา)

> ไม่มากนักเมื่อเทียบกับจีน และประเทศแถบตะวันออกกลาง

– มีความคิดเห็นต่อประเด็นด้านการเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ต ใน พรบ.ความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 อย่างไร

> ขาดบทลงโทษการใช้อำนาจนอกเหนือกฏหมาย เช่นข่มขู่ผู้ให้บริการต่างๆ ในรูปแบบของการขอความร่วมมือ เรื่องเหล่านี้ล้วนเป็นอาชญากรรมในเชิงข้อมูลข่าวสาร และทำให้เราไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลและบริการได้ไม่ต่างจากการแฮกคอมพิวเตอร์แต่อย่างใด

– รู้จักกลุ่มต่อต้านการเซ็นเซอร์ในประเทศไทยหรือไม่ คิดว่ามีผลกระทบต่อระดับการเซ็นเซอร์มากน้อยแค่ไหน

> รู้จัก และติดตาม Blog ตลอดเวลา แต่คิดว่ายังมีผลในวงจำกัด

– คิดว่าในอนาคต สถานการณ์การเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยจะมากขึ้นหรือน้อยลง

> มากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงเวลาหนึ่ง อาจจะ 5-10 ปี หลังจากนั้นแล้วเมื่อคนไทยตระหนักในสิทธิของการเข้าถึงข้อมูลมากขึ้น ภาครัฐน่าจะระมัดระวังในการกระทำการใดๆ มากกว่านี้

– ความเห็นอื่นๆ ต่อการเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ต

> การเรียกร้องในวันนี้ยังไม่มีผลเท่าใดนักเพราะผู้ใช้อินเทอร์เน็ตยังอยู่ในวงจำกัด และกลุ่มผู้ใช้ยังเป็นเด็กอยู่เป็นจำนวนมาก แต่อนาคตเมื่อการกระจายตัวในการเข้าถึงได้กว้างขึ้น และกลุ่มผู้ใช้เป็นผู้ใหญ่กว่านี้ การกระทำเช่นในอดีตจะถูกต่อต้านมากกว่านี้ตามระยะเวลา

ไม่รู้มาร์คส่งให้ใครทำบ้าง แต่อยากเห็นความเห็นของ[พี่เฮ้าส์](http://house.exteen.com/), [คุณเทพพิทักษ์](http://thep.blogspot.com/), และ[ต่าย](http://ipats.exteen.com/) ดูมั่ง ถ้าว่างๆ ลองทำดู

 

สาธารณะ

พอดีไปอ่านเจอเอากรณีการลบกระทู้ในประชาไท เรื่องเนื้อหาว่าลบไม่ลบหรือเหมาะไม่เหมาะคงไม่พูดถึง แต่เรื่องที่น่าสนใจคือการมองเป็นประชาไทเป็นพื้นที่สาธารณะ

ที่น่าสนใจเพราะกรณีใน Blognone นั้นเป็นรูปแบบเดียวกันคือถึงจุดหนึ่งแล้ว คนจำนวนมากเริ่มมองว่าพวกเขาเป็นเจ้าของพื้นที่นั้น ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วผมมองว่าถ้าเป็นในระดับที่รับรู้ว่ามีคนต้องรับผิดชอบเว็บอยู่จริงก็น่าจะไม่มีปัญหาอะไร

ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อคนจำนวนที่ว่าเริ่มเข้าใจว่าตัวเองมีสิทธิขาดในเว็บ ที่จะประกาศอิสระในหลายๆ รูปแบบได้

ผมอาจจะคิดผิด แต่ในความคิดของผมตอนนี้แล้ว สิ่งที่ควรจะเรียกร้องร่วมกันคือกติกาที่ยอมรับได้ในอินเทอร์เน็ตมากกว่าที่จะเป็นเว็บใดเว็บหนึ่ง ภาพในความคิดของผมนั้นมองเหมือนกับถนนสาธารณะกับถนนในห้างหรือในบ้าน  ขณะที่ถนนสาธารณะนั้นมีกติกาการใช้งานที่ชัดเจนและเป็นกลาง ถนนส่วนบุคคลอื่นๆ อาจะสร้างขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เฉพาะ และไม่ได้สร้างความเท่าเทียมในการใช้งานแต่อย่างใด

ประเด็นการต่อต้านการบล็อคเว็บอย่างไร้กระบวนการเป็นการเรียกร้องให้กติการในการใช้รถใช้ถนนบนพื้นที่สาธารณะมีความชัดเจน มากกว่าที่จะเรียกร้องว่าทุกบ้านและทุกหน่วยงานต้องมีกติกาที่ชัดเจนเหมือนๆ กัน  จากเหตุการณ์ที่ผ่านมาใน Blognone เห็นได้ชัดว่าคนจำนวนมาก ยังมองภาพว่าการเรียกร้องกติการวมนั้นหมายถึงพื้นที่ทั้งหมดต้องมีกติกาแบบเดียวกัน

ข่าวร้ายคือเมืองไทยนั้นแม้แต่หากมีคนอยากทำเว็บที่มีกติกาที่ชัดเจน ก็น่าจะทำได้ยาก เพราะด้วยระบบการขอร้อง ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้มันทำลายกติกา และระบบลงไปอย่างยากจะแก้ไข

 

์No Censorship Pact

พยายามใช้ freenet แล้วพบว่าความยุ่งยากมีอยู่จริง การทำงานที่ซับซ้อนแต่ให้ฟีเจอร์ที่ต่ำกว่ามาตรฐานทำให้ freenet ไม่น่าได้รับความนิยมในวงกว้าง อย่างน้อยก็ในช่วงห้าปีข้างหน้านี้

ผมนึกถึงอะไรที่ง่ายกว่า อย่างการทำ Planet ด้วยการให้เว็บมาสเตอร์ 3 – 5 คน ที่ไม่มีความกดดันทางการเมืองร่วมกัน เช่นอยู่คนละประเทศที่กฏหมายต่างกัน โดยเฉพาะประเทศที่ไม่มีสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนต่อกัน หนึ่ีงในนั้นอาจจะเป็นผู้ที่อยู่ในประเทศที่มีความเสรีในการแสดงความคิดเห็นสูงๆ หรือเป็นผู้มีความสามารถในการตั้งโฮสต์อย่างนิรนามเต็มรูปแบบ

ทั้งกลุ่มร่วมกันสร้าง Blog สาธารณะ ที่ไม่มีความพยายามในการเก็บข้อมูลส่วนบุคคล เกินไปกว่าที่กฏหมายของตน ทุกคนสนับสนุนให้ผู้ใช้ของตนเข้าถึงเว็บผ่านทาง HTTPS และใช้ Proxy สาธารณะที่ตั้งอยู่ในประเทศที่สามเพื่อความเป็นส่วนตัว

ประเด็นที่สำคัญที่สุดคือเว็บมาสเตอร์ทุกคนตกลงร่วมกันว่าจะส่งข้อมูลที่เว็บของตนได้รับไปยังเว็บพันธมิตร “ทันที” เนื่องจากเว็บมาสเตอร์พันธมิตรคนอื่นๆ ไม่มีความกดดันทางการเมืองร่วมกัน หากเว็บมาสเตอร์คนใดคนหนึ่งได้รับการกดดันให้ต้องลบข้อความส่วนใด หรือบางส่วนเขาก็ลบไปตามแรงกดดันนั้นได้เลย เนื่องจากข้อความนั้นๆ จะถูกเก็บไว้ในประเทศอื่นแล้ว

ประเด็นต่อมาคือการโพสทั้งหมดต้องได้รับการ Digital Sign จากเจ้าของข้อความ ในขณะที่ไม่มีการระบุตัวตนของผู้ใช้ แต่ผู้ใช้คนอื่นจะไม่สามารถปลอมแปลงเป็นอีกคนได้ โดยกระบวนการนี้จะไม่ได้รับประกันว่าผู้ใช้เครือข่ายนี้จะไม่โพสข้อความโดยแสดงตัวเองเป็นผู้ใช้หลายคนแต่อย่างใด

เท่าที่ลองนึกดูซอฟต์แวร์อย่างนี้สามารถสร้างได้ไม่ยากนักใช้ PHP กับ Rest อีกสองสามคำสั่งก็น่าจะได้แล้ว ไว้ว่างๆ มานั่งเขียนดู