Dedicated Virtual

ช่วงนี้ทำ Linux เยอะ เลยอยากเปิด Hosting ของตัวเอง แน่นอนว่าถ้าจะเปิดจริงๆ ต้องไม่ใช่โฮสต์แบบที่มีจนเต็มบ้านเต็มเมืองแล้วตอนนี้

ผมนึกถึง Blade Server ที่กำลังได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อยๆ ในโลกของระบบไอทีระบบองค์กรณ์ แต่อยากได้อะไรที่ง่ายกว่านั้น ลองนึกถึงบอร์ด Atom 20-30 บอร์ด ถูกอัดเข้าไปในเคสแบบ Tower เพียงตัวเดียว มันกินไฟแค่ 1,000 watt

ความสวยงามของมันคือเราสามารถขาย Dedicated Server ได้ในราคาที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน ราคาอาจจะใกล้เคียงกับเครื่องที่เป็น VPS แต่ทุกคนได้ Dedicate จริงๆ และแน่นอนว่าปัญหาที่เคยเกิดขึ้นใน VPS เช่น Disk Access ช้า อะไรอย่างนั้น จะไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป

แน่นอน โลกมันไม่สวยงามขนาดนั้น ประเด็นหลักที่เราต้องแก้ไขในเรื่องนี้คือ Manageability ของระบบ เราไม่สามารถยัดเครื่อง 20 เครื่องลงไปในกล่องๆ เดียวแล้วขายๆ ไปโดยที่ใครอยากจะลง OS อะไรให้ไปลงกันเอาเองโดยเดินทางไปศูนย์ข้อมูลได้

ฟีเจอร์ที่เราต้องการ

– รีเซ็ตเครื่องได้จาก remote (อาจจะรวมถึงสั่งปิดเปิดได้) อันนี้จะมีประเด็นเรื่องระบบจ่ายไฟด้วย ATX Supply แบบปรกติใช้ไม่ได้แหงๆ
– mount iso ได้ ไว้ลงซอฟต์แวร์
– เข้าไปดูหน้าจอเครื่องผ่าน remote ได้ตลอดเวลา อันนี้เป็นความท้าทายมาก ถ้าใช้ IP KVM ก็ไม่ยากมาก แต่จะแพงจัด

จริงๆ ก็มีเท่านี้นี่หว่า

Atom 1 บอร์ด ประมาณ 3,500 บาท รวมแรมและฮาร์ดดิสก์แล้วประมาณ 7,000 บาท โดยประมาณ ค่าเช่าเดือนละ 2,000 บาท (ดีกว่า VPS ทั้งแรมและพื้นที่แน่นอน) หักค่าใช้จ่ายรายเดือนไปแล้วระยะคืนทุนน่าจะอยู่ที่ครึ่งปี

น่าสนแฮะ

 

My Atom

 ปลุกปล้ำมาพักใหญ่ๆ ก็เวิร์คเกือบหมดแล้วครับ ขอบคุณ Hardy ที่ทำให้เจอปัญหาเยอะขนาดนี้ – – ” สุดท้ายตอนนี้ Gutsy ยังเป็นหนึ่งในดวงใจผมอยู่ต่อไป

จริงๆ แล้วอยากรีวิวให้ทันฉลอง 30 ปีสถาปัตยกรรม x86 แต่มันก็ผ่านไปแล้วเมื่อสองวันก่อน (วันที่ 8) เลยว่าจะค่อยๆ ใช้งานแล้วมาเล่าให้ฟังกันเรื่อยๆ แล้วค่อยเขียนสรุปลง Blognone ทีเดียว

เล่าให้ฟังเกี่ยวกับ Atom ตัวนี้กันก่อน

  1. มันเป็น Hyperthread นะครับ ดังนั้น OS จะเห็นสองคอร์ (Wow!!!)
  2. ที่สำคัญคือมันรองรับ AMD64 ดังนั้นเรื่องของอนาคตไม่ต้องห่วง แต่อย่าหวังว่าจะใส่แรมเยอะ เพราะมันมีแค่ช่องเดียว
  3. กำลังคันหัวใจสงสัยว่ามันรองรับ Virtualization ด้วยรึเปล่า????
  4. ไม่แน่ใจว่าเป็นความสามารถพิเศษรึเปล่า ตัวเมนบอร์ดตัวนี้สามารถ Emulate ให้ USB กลายเป็น SCSI ได้ ดังนั้นเวลาเอาซีดีมาเสียบลง Ubuntu แล้วมันจะเหมือนลงฮาร์ดดิสก์เลย แต่ช้ากว่ากันเยอะ
  5. ผมไม่มีวัตต์มิเตอร์ เลยยังดูไม่ได้ว่าตอนที่ไม่มีซีดีรอมและไม่ใช้ฮาร์ดดิสก์มันกินไฟเท่าใหร่กัน
  6. แต่จะว่าไปเนืองจากงบน้อย เลยเอา Supply ขนาด 400 วัตต์มาจ่ายให้ เข้าใจว่าจะไปเปลืองที่หม้อแปลงซะเยอะใช้ได้เลย
  7. เย็นจริง!!! พัดลมเงียบสนิท ผมว่าเสียงค่อยกว่า ThinkPad ของผมเลยนะ
  8. ผมเอา ACPI ไม่ขึ้นไม่รู้ว่าทำไมเหมือนกัน เดี๋ยวจะกลับไปปล้ำอีกที
  9. ส่วน Hardy นั้นไม่เห็นอะไรเลยแม้แต่ Bash – -“
  10. อีกอย่างที่ต้องทำคือหาจอกว้างมาทรมานกับวีดีโอ HD ให้ได้
  11. ผมเคยคุยกับทางอินเทลเรื่องนี้ว่าอนาคตผมว่ามันต้องมีคนเอา Atom ไปทำเว็บเซิร์ฟเวอร์แหงๆ เคสขนาด 400 วัตต์ ยัดลงไปได้สิบบอร์ด มองเห็น 20 คอร์ แถมปิดเครื่องเวลา Off-Peak ได้ตามใจชอบมี Fail-Over ในตัว โอ้ลัลล้า……..
  12. ถ้า Flash Drive มันประหยัดไฟกว่า HDD อย่างมีนัยสำคัญ แสดงว่าเราควรแคชทุกอย่างไว้ในแรมให้เป็นก้อนโตๆ ก่อนที่จะเก็บลงฮาร์ดดิสก์ทีละชุด น่าสนใจมากกว่าถ้าเขียนโปรโตคอล P2P ใหม่ให้คิดถึงเรื่องการประหยัดไฟแล้ว เราอาจจะได้ Paper มาอีกชุดทีเดียว
  13. ที่อยากทำอีกอย่างคือกาปิดตัว GMA950 ทิ้งไป แล้วทำเป็น Headless สั่งงานผ่าน Serial ลองดูว่าเราจะบีบพลังงานออกได้มากแค่ไหน
  14. ผมเชื่อว่าเมืองไทยขายดีแน่ๆ คนรอซื้อไปโหลดบิตเพียบ!!! งานนี้เจ้าไหนไป Computex หาของมาขายอย่าลืม Power Supply ขนาด 50-80 วัตต์ด้วยนะครับ

วันก่อน โดนมือดีแฮก WordPress ไปเรียบร้อยด้วยความขี้เกียจอัพเดต

ภายในสองวันนี้ต้องอัพเกรดแล้วครับ