Somehow the barista knew I’m an user.
Uncategorized
Pre-Order
ซื้อของออนไลน์มานาน ไม่เคยคิดออกว่าจะพรีออเดอร์ทำไม ยิ่งเป็นสินค้าดิจิตอล ที่ไม่มีจำกัดยิ่งคิดไม่ออก
แต่วันนี้ก็กดไปแล้วชิ้นแรก
วิศวกรใหม่
เดือนที่แล้วมีโอกาสไปพูดที่งานปฐมนิเทศของ MFEC แนะนำน้องพนักงานใหม่ ว่ามีคำแนะนำอะไรบ้างในการทำงาน เลยมาสรุปไว้หน่อย
ใช้งานหัวหน้า 15 ปีก่อนสมัยผมเริ่มทำงาน ตอนอบรมก็ได้รับคำอบรมมา คำนึงคือ “มีหัวหน้า ใช้ให้เยอะๆ” ตอนนั้นนึกไม่ออกนักว่าใช้ยังไง (ใช้แล้วจะโดนไล่ออกไหม) แต่ในความเป็นจริงแล้ว เวลาทำงาน เราควร “ใช้หัวหน้า” เมื่อต้องใช้ อยู่เรื่อยๆ และความทุกข์ในการทำงานก้อนใหญ่ๆ มักเกิดจากการไม่ได้ใช้หัวหน้าในจังหวะที่ต้องใช้ เช่น งานมีปัญหาในระดับที่เราตัดสินใจไม่ได้ หรือทุกข์ใจกับงาน มีปัญหากับเพื่อนร่วมทีม ฯลฯ บ่อยครั้งสิ่งที่เกิด คือ พอเราทุกข์ถึงระดับนึงเราก็แอบๆ ไปสมัครงานใหม่ หัวหน้ารู้จริงๆ ว่าเราทุกข์แค่ไหนหรือนานแค่ไหนคือวันที่เราไปลาออก บางคนหนักกว่านั้น จนลาออกแล้วก็ยังไม่ยอมบอกว่ามีปัญหาอะไร
การแจ้งปัญหาให้หัวหน้ารู้ไม่ได้แก้ปัญหาทันทีเสมอไป แต่ที่แน่ๆ คือหากเราไม่บอก ปัญหาจะไม่ถูกแก้ แทบไม่มีหัวหน้าคนไหนจะรู้ได้ทันทีว่าเรามีปัญหาอะไร ไม่ว่าจะเป็นความไม่พอใจเงินเดือน โบนัสน้อยไป, เพื่อนร่วมงานนินทา ฯลฯ บางอย่างบอกไปหัวหน้าอาจจะได้แค่รับทราบ แต่ถ้าบอกไป 5 เรื่องถูกแก้ได้ 2 เรื่อง แล้วจะทนกับ 5 ไปเรื่องทำไม?
รักษาสมดุลชีวิต อันนี้ตามจากหัวข้อที่แล้ว ธุรกิจแบบ MFEC บางทีก็มีช่วงที่งานหนัก อาจจะต้องอยู่ดึกกว่าปกติ แต่เมื่อมีเหตุจำเป็นก็มักคุยกันได้ สมัยผมเป็นจูเนียร์ก็มีเพื่อนที่ไม่กล้าขอกลับก่อนแม้จะเป็นวันเกิดแฟน อันนั้นเกินไป อย่าขนาดนั้น เหตุแบบนี้บอกกันสักหน่อย (ให้ดีก็บอกล่วงหน้า) ก็ไม่มีปัญหาอะไร
อย่าหยุดเรียน อันนี้เน้นกับสายงานไอที เทคโนโลยีมันเปลี่ยนทุก 3-5 ปี คุณหยุดเรียนไม่ได้ ไม่อย่างนั้นรู้ตัวอีกทีจะไม่ทันแล้ว มาวันนี้ความสามารถด้านลินุกซ์แทบกลายเป็นพื้นฐานในการพัฒนาซอฟต์แวร์สมัยใหม่ (แม้แต่จะพัฒนาบนแพลตฟอร์มไมโครซอฟท์!!!) หาเวลาและงบประมาณเรียนเรื่องใหม่ไปเรื่อยๆ บริษัทมีโอกาสอะไรให้ก็ใช้ซะ ที่สำคัญคือภาษาอังกฤษ ความรู้ไอทีส่วนใหญ่ในโลกอยู่ในภาษาอังกฤษ จะก้าวหน้าได้ก็ต้องอ่าน/ฟัง ตรงจากเจ้าของให้ได้ เทคโนโลยีตัวอื่นฝึกไปเรียนไปอาจจะไม่ได้ใช้เพราะเลือกเรียนผิด แต่ภาษาอังกฤษแทบไม่มีโอกาสผิด การศึกษาไทยไม่ได้ดีพอที่จะบอกว่าได้เกรดภาษาอังกฤษมาดีๆ แล้วจะได้คล่อง แต่เมื่อมาทำงานมีทรัพยากรเพิ่มจากตอนเรียนก็ควรขวนขวายให้ใช้งานได้เป็นธรรมชาติ ดู Netflix ปิด subtitle (ดูเกาหลีก็ซับอังกฤษ), อ่านหนังสือคู่มือไม่ต้องรอแปล ไม่ต้องรอบทความภาษาไทย
อย่างมงายในวิทยาศาสตร์
เพิ่งอ่านเล่มนี้จบแล้วเจอเคส “แชร์วิทยาศาสตร์เทียม” พอดี ว่าจะดองรีวิวเลยไม่ดองดีกว่า
Pandora’s Lab เป็นหนังสือประวัติศาสตร์แห่งวิทยาศาตร์อีกเล่ม แต่มันพูดถึงกรณี “Science gone wrong” วิทยาศาสตร์ถูกนำไปใช้อย่างผิดๆ สร้างความเสียหาย ทำลายชีวิต เริ่มตั้งแต่เคสคลาสสิคอย่าง ยาเสพติดเช่นเฮโรอีนที่เคยถูกใช้เป็นยาแบบไม่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์, การผ่ากลีบสมอง (lobotomy), ไปจนถึงการคัดเลือกสายพันธุ์ของมนุษยชาติที่นำไปสู่กระบวนการ Eugenics และการฆ่าล้างเผ่าพันธ์
มีกรณีอื่นๆ ในหนังสืออีก แต่ประเด็นในหนังสือคือ “อย่างมงายในวิทยาศาตร์” หนังสือบอกเล่าถึงความผิดพลาดในการเชื่อถือข้อมูลที่ “ดูเป็นวิทยาศาสตร์” และถูกนำมาประยุกต์ใช้งานจริงเพื่อที่จะพบว่ามันเป็นวิทยาศาสตร์เทียมหรือเป็นข้อมูลเท็จ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เรื่องราวมักซ้ำไปมา เช่น ความเชื่อเริ่มต้นไร้ข้อมูลสนับสนุน, คนเผยแพร่เป็นนักวิทยาศาตร์ดังแต่ไม่ได้ทำงานวิจัยพิสูจน์ความเชื่อที่ตัวเองเผยแพร่จริง, หรือกระทั่งงานวิจัยที่แสดงผลได้เพียงครั้งเดียวและได้ตีพิมพ์ในวารสารดัง แต่คนอื่นทำซ้ำอีกไม่ได้
ช่วงท้ายของหนังสือวิเคราะห์ถึงอาการเป๋ ของนักวิทยาศาสตร์ดัง ที่หลายต่อหลายคนเข้าป่า เผยแพร่ความเชื่อผิดๆ จนเป็นบาดแผลต่อชื่อเสียงที่สร้างมา ว่าคนเหล่านี้บางทีก็ถูกมาตลอดจนยอมรับว่าตัวเองเชื่อผิดไม่ได้, หรือบางคนก็อยากค้นพบสิ่งยิ่งใหญ่เพื่อกลับมาดังอีกครั้ง
ความดังไม่มีผล ความเทพของงานวิจัยไม่มีผล วิทยาศาตร์ต้องพิสูจน์ได้ มีข้อมูล-กระบวนการ คนภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มเดิมทำซ้ำได้
ไม่ว่าคน/รายงานวิจัย/วารสาร จะเทพแค่ไหน ก็อย่าบูชา และอย่างมงาย