Trust

ผมไม่รู้สึกอะไรกับการที่ใครสักคนจะไม่ไว้ใจ

แต่เรื่องที่น่าเจ็บปวดที่สุดคือคนที่ไม่ไว้ใจผมนั้น แสร้งไว้ใจเพื่อจะให้ผมทำงานบางอย่าง เพียงเพื่อจะพิสูจน์ว่าผมน่าไว้ใจหรือไม่ หรือเพราะแค่เขาไม่มีทางเลือกอื่นใด

และมันเจ็บปวดจริงๆ

 

wireless wireless wireless

สงครามโทรศัพท์มือถือจะสนุกกว่านี้ ค่าโทรจะถูกกว่า และสหภาพแรงงาน CAT/TOT จะหายไปจากสารระบบของไทยด้วยเงื่อนไขเดียว คือคลื่นความถี่มีไม่จำกัด

สงครามทั้งหมดทั้งมวลมันเริ่มจากเงื่อนไขง่ายๆ และเป็นความจริงของโลกคือ “คลื่นความถี่มีจำกัด” เช่นเดียวกับน้ำมัน ป่าไม้  ที่ดิน และทรัพยากรอื่นๆ

และปริมาณข้อมูลที่ส่งไปในอากาศ (ที่จริงไม่ต้องมี “อากาศ” ก็ได้..) มีจำกัด ขึ้นกับปริมาณ “คลื่นความถี่” คำถามสำคัญเลยตกอยู่ที่ว่า ใครจะได้ความถี่ไป

Wi-Fi เป็นตัวอย่างของคลื่นความถี่แคบๆ ที่เปิดขึ้นมาให้ใครก็ได้เข้าใช้อย่างเสรีภายใต้เงื่อนไขเดียวกันคือความแรงที่จำกัด ทำให้รัศมีทำการของ Wi-Fi นั้นอยู่ที่ประมาณ 40 เมตรเท่านั้น โดยผู้ออกแบบเชื่อกันว่าภายในรัศมีเช่นนี้น่าจะมีผู้ใช้ไม่มากไม่มายนัก เพราะเมื่อก่อนการ์ดใบละสามหมื่น และคงไม่มีการติดตั้ง Wi-Fi อย่างหนาแน่นอีกเช่นกัน เพราะ Access Point ตัวละแสน

ผ่านไปสิบปีไม่มีอะไรจริง…

ภายในรัศมีแคบๆ เรามี Access Point หลายโหลทำงานพร้อมๆ กัน และมีคนใช้เยอะกว่าจำนวน access point อีกหลายเท่าทำงานพร้อมๆ กันเช่นกัน

ความเร็วของ 801.11g นั้นอยู่ที่ 54mbps ถ้าคิดง่ายๆ สิบคนก็จะใช้ได้คนละ 5mbps (ซึ่งของจริงจะอยู่ที่ประมาณครึ่งหนึ่งเท่านั้น) ก็น่าจะใช้งานได้ดี แถม Wi-Fi มีตั้ง 11 ช่อง…

เดี๋ยว 11 ช่อง…?

11 ช่องของ Wi-Fi เป็นเรื่องแปลกประหลาดทางวิศวกรรมที่ผมเองก็ไม่เคยเข้าใจว่ามันคิดขึ้นมาทำไมกัน เพราะในโลกความเป็นจริง ช่วงความถี่ที่ Wi-Fi รองรับได้พร้อมๆ กันจริงๆ จะมีเพียง 3 ช่องเท่านั้น คือ 1/6/11 ช่วงช่องอื่นๆ ใช้ไปมันก็จะกวนกันเอง….

ปัญหาใหม่บังเกิด เมื่อรศมี 40 เมตรที่เคยว่ากันว่าแคบๆ กลายเป็นตรงกลางห้างกลางกรุงสักห้าง ในรัศมี 40 เมตรอาจจะร้านกาแฟไปสามร้าน คนนั่งอยู่ รวมๆ เกือบสองร้อย ไม่ต้องพูดถึงห้องเรียน ที่ผมเคยเจอปัญหารัศมี 40 เมตรนั้นมีคนนั่งอยู่ 400 คน (เพราะเป็นห้องเรียนทั้งหมด) ผลคือไม่มีใครได้ใช้อะไร เพราะคลื่นชนกันไปมาเต็มไปหมเ

ทางออกมีสองทาง

  1. ทำสงครามโลกครั้งที่สาม ยึดโลกได้ให้ แล้วประกาศคลื่นความถี่เสรี 2.4GHz เพิ่มขึ้น
  2. หนีไปใช้ 802.11a ที่คลื่น 5GHz

เนื่องจากทางออกที่สองราคาถูกกว่ามากที่งาน PyCon2010 จึงเลือกทางนี้

ว่าแต่มันมี router ขายที่ไหนบ้าง?

 

Evilnesses’ of Microsoft

บทความนี้เขียนก่อนนอน โดยมีประเด็นอันยาวนานคือไมโครซอฟท์และ IE6

ผมเองเชืื่อว่าชุมชนไอทีและนักออกแบบเว็บกำลังโยนบาปทุกอย่างไปให้ไมโครซอฟท์โดยไม่สนใจว่าปัญหา IE6 นั้นมันเกิดขึ้นเพราะอะไรกัน แนวทางเช่นนี้เกิดขึ้นในรูปแบบเดียวกับการเมืองไทยที่หลายคนเชื่อว่าทักษิณหายไปจากประเทศไทยแล้วบ้านเมืองจะสงบสุขราวกับความเชื่อมั่นใน GT200

แล้วเราก็ต้องหาคำอธิบายสารพัด เมื่อผลลัพธ์ที่เราหวังไม่ได้เกิดขึ้นอย่างที่เราหวัง

ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่าไม่ว่าไมโครซอฟท์ หรือ NetScape จะเป็นผู้ชนะในสงครามเบราเซอร์รอบแรก มันจะนำไปสู่หายนะแห่งมาตรฐานอยู่ดี ด้วยลักษณะเฉพาะของสงครามรอบนั้น

ผมลองรื้อหา PC Magazine ในยุคนั้นมาอ่านแต่หาไม่ได้แล้ว สรุปให้ฟังง่ายๆ ว่าในยุคนั้น ความแพ้ชนะของเบราเซอร์วัดกันที่ “ฟีเจอร์” เช่น ตัวกระพริบ, ความสามารถในการไล่สีในตัว (Gradient), การทำอักษรวิ่ง ฯลฯ

ทุกเวอร์ชั่นที่ปะทะกัน นิตยสารต่างๆ จะพากันรีวิวฟีเจอร์ใหม่ๆ เหล่านี้อย่างหนักหน่วง และเช่นเดียวกัน นักออกแบบจะแห่แหนกันใช้ฟีเจอร์ใหม่ๆ เหล่านี้อย่างสนุกสนาน ไม่มีใครรู้จัก W3C ไม่มีใครรู้จัก ACID (เพราะมันยังไม่เกิด) ทุกคนรู้จักแต่ “Best viewed with”

สงครามที่มีผู้เล่นเพียงสองเจ้า และมีเป้าหมายคือความแตกต่างไม่รู้จบ…. สงครามที่เริ่มจากการผูกขาดของ NetScape และการต้องการชิงตลาดของไมโครซอฟท์ สงครามที่ต่างฝ่ายต่างตระหนักว่าอีกฝ่ายกำลังทำอันตรายกับความอยู่รอดของอีกฝ่าย

ไม่มีคำว่าประณีประนอม ไม่มีคำว่าตรงกลาง ต้องมีสักคนตายไป และสักคนที่ได้ทุกอย่าง

และไมโครซอฟท์ได้ทุกอย่างไป….

การค้าเสรีไม่ใช่หลักการที่เพิ่งเกิดมา สมบัติชาติไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนอยากปล่อยให้มันจากไป แต่ความจริงคือ “Power tends to corrupt, and absolute power corrupts absolutely. Great men are almost always bad men.” (John Emerich Edward Dalberg Acton) ให้คุณได้เงินกินเปล่าปีละสองสามหมื่นล้านโดยไม่ต้องหาเงินใช้เอง สักวันคุณจะเป็นคนเลวอย่างไม่ต้องสงสัย

และสงครามเบราเซอร์ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง

การแข่งขันที่ไม่เอื้อให้เกิดคู่แข่งรายใหม่เช่นสงครามเบราเซอร์รอบแรก ตรงข้ามสงครามรอบนั้นสร้างแรงกดดันให้เบราเซอร์หน้าใหม่อย่างไม่หยุดยั้งเมื่อเบราวเซอร์ที่ส่วนแบ่งตลาดสูงๆ สองเจ้าต่างมีมาตรฐานของตัวเองที่ล้วนได้รับความนิยมพอสมควรจากเหล่านักออกแบบในยุค “Best viewed with”

IE6 คือสิ่งที่เราควรเรียนรู้ เช่นเดียวกับ 3G เช่นเดียวกับ Office เช่นเดียวกับรถไฟ เช่นเดียวกับการเมือง เช่นเดียวกับ CPU

การครองตลาดอย่างเบ็ดเสร็จจะสร้างสภาพตลาดที่ชั่วร้าย ยุคที่มืดมน และการเยียวยาที่ต้องอาศัยเวลายาวนานอย่างไม่น่าเชื่อ

ผมเองไม่เชื่อว่า NetScape นั้นหากชนะสงครามครั้งนั้นได้อย่างเบ็ดเสร็จ จะมุ่งมั่นพัฒนาเบราเซอร์ต่อไปอีกนานนัก เพราะแรงจูงใจนั้นไปอยู่ที่ระบบที่ได้เงินอย่าง LDAP หรือ Web Server เสียหมดแล้ว ตรงกันข้ามเราอาจจะได้เห็นสิ่งแปลกประหลาดเพิ่มเข้ามาเพื่อให้เบราเซอร์ทำงานร่วมกับเว็บเซิร์ฟเวอร์ของ NetScape เองได้ดียิ่งๆ ขึ้น

การที่ไมโครซอฟท์ซัพพอร์ต IE6 อย่างยาวนาน ต้องถือว่าเป็นความดี ที่จริงเรียกได้ว่า “ประเสริฐ” ทีเดียวสำหรับวงการนี้ ซอฟต์แวร์แถมฟรีตัวหนึ่งมีการบำรุงรักษาที่ยาวนานอย่างไม่น่าเชื่อ ตรงกันข้าม การหยุดพัฒนา IE ไม่เชิงว่าเป็นความ “ชั่วร้าย” เสียทีเดียว กับบริษัทที่มีหน้าที่ต้องทำงานเพื่อสนองต่อผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น สงครามที่จบไปแล้วและไม่มีอันตรายใดๆ ต่อบริษัท แถมไม่ทำเงินไม่ควรได้รับการลงทุนเพิ่มเติมมากนัก

แต่สภาพตลาดที่ไมโครซอฟท์ครองเบ็ดเสร็จนั้นต่างหากเล่าเป็นความชั่วร้ายที่เราไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้นอีก

สภาพแบบเดียวกันกำลังเกิดขึ้นกับเว็บบนมือถือ เราเริ่มอยู่กับ WebKit เราเร ิ่มรู้สึกว่า WebKit ก็สะดวกดี ทดสอบทีเดียวใช้ได้ทั้งมือถือใช้ได้ทั้งเดสก์ทอป เราเริ่มไม่อยากทดสอบกับ Fennec ไม่ต้องพูดถึงมาตรฐานเว็บที่เราเริ่มๆ ลืมๆ validate กันไปแล้ว

แน่นอนสภาวะมันต่างกันไป WebKit ไม่ใช่โครงการที่ครอบครองเบ็ดเสร็จจากบริษัทเดียว มีคนสนใจพัฒนามันอย่างต่อเนื่องจำนวนมาก และสภาวะตลาดตอนนี้มีการแข่งขันที่แข็งแรงอย่างน่าแปลกใจ

ภาวนาว่าเราจะไม่ต้องอยู่ในสภาวะแบบเดิมอีก เราควรเรียนรู้ เราควรตระหนัก เราควรให้ความสำคัญกับความง่ายในการเปลี่ยนสินค้าทดแทน เราควรสนับสนุนให้ตลาดมีการแข่งขันที่มากขึ้น

แต่เราจะเรียนรู้ได้จริงๆ หรือ?