ปฏิรูป

เป็นเทรนด์เรื่องปฎิรูป เขียนถึงสักที

ทำไมปฎิรูปก่อนเลือกตั้งไม่ได้

ได้ครับ ถ้าพี่เสนอก่อนหน้านี้ จะอยากปฎิรูปเรื่องอะไรเสนอให้ชัดเป็นกฎหมายเข้าชื่อหมื่นชื่อเข้าสภาได้เสมอ สภาปัดตกก็ค่อยประท้วงเป็นเรื่องๆ ไปให้ชัดว่าจะเอาอะไร ทำออกมาแล้วปรากฎว่าเสียงส่วนใหญ่ไม่เอาด้วยก็มีเวลาให้นำเสนอข้อดีของข้อเสนอกันไปจนกว่าสังคมจะเอาด้วย ประชาธิปไตยให้สิทธิในการแสดงความเห็นอยู่แล้ว

ปฎิรูปมีแต่เรื่องปรับปรุงทำไมต้องกลัว

พี่เล่นพูดลอยๆ มีแต่หัวข้อไม่รู้จะทำอะไร ใครไม่เอาด้วยกับพีก็กลัวทั้งนั้น พูดว่าทำแล้วจะดีใครก็พูดได้ ผมก็คงพูดได้ว่าให้ผมปฎิรูปแล้วโลกจะสงบสุข ทำจริงทำได้ไหมไม่มีใครรู้ ไอ้ที่พูดมาดีอย่างนั้นอย่างนี้ดีจริงไหม มันจะกดหัวใครบ้างและจะให้ประโยชน์กับใครบ้างไม่มีใครรู้

เดี๋ยวปฎิรูปเสร็จก็มีเลือกตั้งจะกลัวอะไร

โลกทั้งโลกมันไม่ได้มีแต่การปฎิรูป มันมีเรื่องต้องตัดสินใจอื่นๆ ร้อยแปดพันเก้า จะเอาเงินตรงไหนบริหารประเทศ จะดำเนินนโยบายอะไรไม่ทำอะไร เรื่องพวกนี้สุดท้ายต้องมีใครสักคนตัดสินใจ สุดท้ายแล้วต้องมีคนตัดสิน หลายเรื่องรอไม่ได้และต้องมีรัฐบาลมาตัดสินใจรับผิดชอบ

เรื่องพวกนี้เขาไม่ให้รัฐบาลชั่วคราวมาตัดสินใจกัน แม้รัฐบาลอย่างเช่นตอนนี้ที่ได้รับเลือกตั้งมาแต่กลายเป็นรัฐบาลชั่วคราวเขาก็ต้องไม่ทำ มีแต่รัฐบาลชั่วคราวมารยาททรามต่ำช้าที่เร่งออกกฎหมายในสมัยตัวเองเป็นป้าเป็นหลัง

ไม่ปฎิรูปเลือกตั้งไปมันก็โกงเลือกตั้ง

แล้วกระบวนการเลือกตั้งที่พี่จะปฎิรูปมันวิเศษมาจากไหนถึงได้ทำแล้วไม่มีการโกง? ก่อนทำมันก็พูดได้ทั้งนั้นว่าจะดีงั้นดีงี้ จะทำแบบไหนก็ไม่บอก กระบวนการทุกวันนี้กฎก็หยุมหยิมมากมายอยู่แล้ว ให้คนดีๆ มาลงเล่นการเมืองก็ยุ่งยากซับซ้อน

สมัยนี้กล้องมือถือ อุปกรณ์การสื่อสารมากมายราคาถูก ก็ช่วยกันตรวจเข้าไป ตั้งกล้องหน้าหน่วยเลือกตั้งมันทุกหน่วยอัพขึ้น YouTube ให้การเลือกตั้่งมันโปร่งใสก็ไม่มีใครว่า

 

Ender’s Game [Spoil]

  • เพิ่งอ่านจบไปสักปีที่แล้ว มันเลยต้องจัด
  • มีประเด็นที่พูดถึงน้อยมาก คือ ประเด็นเศรษฐกิจ Ender เป็นลูกคนที่สามที่บ้านเสียภาษีเยอะมาก เพราะนโยบายจำกัดประชากรโลก ทำให้มีปมในตัว
  • ประเด็นนี้ถูกพูดถึงอีกครั้งตอนภาพสำรวจดาวของ Formic ว่าล้นโลกแล้วเหมือนกันเลยต้อง
  • เวลาจินตาการว่าไม่มีแรงโน้มถ่วงแล้วไม่มีบนล่างนี่จินตนาการยากจริง เพราะตอนอ่านก็จินตนาการห้อง battle room ไว้อีกแบบ
  • ภาคต่อๆ ไปมันจะได้สร้างหนังมั๊ย เพราะภาคนี้ยังมีฉากเข้าใจง่ายเยอะ ภาคต่อๆ ไปมันนัวร์ๆ อย่างเดียว
  • ไม่พูดถึง Launchy ว่า Ender ไปฝึกด้วยตอนโดนห้ามฝึก
 

บัตรเครดิต

แม้จะอยู่กับเทคโนโลยีมาตลอดชีวิต แต่เรื่องการเงินผมไม่ค่อยชอบเทคโนโลยีอย่างรุนแรง

  • ใช้บัตรเดบิตอยู่สองใบและตั้งวงเงินต่ำสุดเสมอ
  • ใช้เงินสดเป็นหลัก
  • ซื้อของผ่านเน็ตใช้ Web Shopping Card อย่างเดี่ยว

จนกระทั่งเมื่อต้นปีมาดราม่ากับกสิกรเรื่องการแสดงบัตรตอนซื้อตั๋วเครื่องบิน เลยตัดสินใจว่าได้เวลามีบัตรเครดิตแล้ว

กลับมามีคนโทรมาชวนทำบัตรเครดิตคนแรกก็ทำเลย (ไม่ดีมากๆ ปกติไม่ชอบคนโทรมาขายแบบนี้)

  • ทำงานมานาน เงินเดือนไม่มีปัญหาอะไร แป๊บเดียวอนุมัติ
  • อนุมัติมามากกว่าเงินเดือน ช็อกมาก และไม่ชอบมีบัตรอะไรที่หายไปแล้วเสียหายได้ขนาดนี้
  • โทรไปลดวงเงินเหลือพอใช้ (ลดง่ายมาก)

ใช้ๆ ไปเสพติด

  • ผมเลือกคืนเงิน 1% ทันที เพิ่งคิดได้ว่าเออ ไม่ใช้บัตร ร้านก็ไม่ลดให้เราอยู่ดี
  • ยังไม่เคยได้ลดจากโปรอื่น
  • ใช้ต่างประเทศได้แล้ว (เดือนแรกไปใช้ใต้หวันเลย)

ล่าสุดจะซื้อตั๋วต่างประเทศ งานเข้าทันทีเพราะวงเงินไม่พอ แต่ปรากฎว่าเอาเงินฝากเข้าไปก่อนได้ (เคาน์เตอร์ไม่รู้ว่าเรามีหนี้เท่าไหร่ จ่ายเท่าไหร่ก็รับหมด) ก็ฝากๆ เข้าไปจนพอ แล้วก็จ่าย

ปิดคดี บัตรเครดิตกลายเป็นบัตรเติมเงินแบบได้ส่วนลด 1% ไปเรียบร้อย

 

Digital Refugees

สองสามปีที่ผ่านมาเรามีกระแส (ที่สำเร็จไปแล้ว) คือการประมูล 3G ไม่ว่าจะดีจะชั่วอย่างไร มันก็เป็นก้าวแรกของการเข้าสู่ระบบใบอนุญาต

ผมพูดเสมอในประเด็น 3G ว่าสิ่งสำคัญของมันไม่ใช่การมีอินเทอร์เน็ตไร้สาย “ความเร็วสูง” ไว้ใช้งานกัน แต่ประเด็นสำคัญคือการย้ายมาใช้งาน non-voice ของคนทั่วๆ ไป เพราะผมมองว่าสังคมไปข้างหน้า เราต้องดึงคนอีกกลุ่มหนึ่งเข้ามายังโลกอินเทอร์เน็ตในราคาที่เหมาะสมกับการใช้งานของพวกเขา

ด้วยความเป็นคนเมือง บ้านผมมีโทรศัพท์มาตั้งแต่จำความได้ ผมต่ออินเทอร์เน็ตครั้งแรกสมัยประถม และมี ASDL ตั้งแต่เข้ามหาวิทยาลัย ผมมีการ์ด Wi-Fi ใช้คนแรกๆ ในรุ่น ผมไม่ได้พิเศษอะไร มีคนจำนวนมากในรุ่นใกล้ๆ กับผมจนกระทั่งรุ่นหลังผมลงไป เติบโตขึ้นมาพร้อมกับการสื่อสารที่ดีพอสมควร คนกลุ่มนี้เป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่ใช้ Facebook พวกเขามีอินเทอร์เน็ตไม่จำกัดใช้งานได้ทั้งที่บ้านและที่ทำงาน

ผมเรียกคนกลุ่มนี้ว่า Digital Natives พวกเขาอยู่กับโลกดิจิตอล โตมากับมัน และการใช้งานเป็นเรื่องที่คุ้นเคย พวกเขาอาจจะไม่ใช่คนจบคอมพิวเตอร์เสียทีเดียว แต่ก็เป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่ใช้โปรแกรมแชตใหม่ ลงเกมใหม่เมื่อมันดังและมีเพื่อชวนเล่นด้วย พวกเขามีปัญหาเครื่องช้า มีปัญหาพื้นที่ไม่พอลงโปรแกรมใหม่บ้าง จนกระทั่งต้องเปลี่ยนโทรศัพท์สักครั้งหรือสองครั้งมาแล้ว

แต่ชีวิตผมเองต้องต้องเจอกับคนอีกกลุ่มหนึ่ง ในยุคที่บ้านผมมีโทรศัพท์ คนกลุ่มนี้ต้องนัดแนะกันทางอื่นเพื่อคุยกัน พวกเขาต้องนัดเวลากับที่บ้านเพื่อจะได้ไปรอรับสายจากเพื่อนบ้าน ส่วนคนโทรต้องโทรจากตู้สาธารณะ

ในยุคอินเทอร์เน็ต คนกลุ่มนี้ คือคนที่ไม่มีแพ็กเกจอินเทอร์เน็ตไม่จำกัดใช้งาน พวกเขาอาจจะเป็นแม่บ้านอยู่ตามออฟฟิศ พนักงานรักษาความปลอดภัย หรือลูกจ้างร้านอาหาร พวกเขาใช้โทรศัพท์รุ่นสุดคุ้มต่างๆ และใช้งานจากแอพที่เพื่อนหรือร้านลงให้ พวกเขาใช้อินเทอร์เน็ตฟรีตามที่ต่างๆ อาจจะเป็นอินเทอร์เน็ตของอาคารที่อาศัยความสนิทสนมไปขอใช้งานมา อาจจะเป็นอินเทอร์เน็ตของร้านกาแฟข้างๆ

ผมเรียกคนกลุ่มนี้ว่า Digital Refugees เพราะขณะที่การใช้งานของพวกเขาไม่ได้มากมายอะไร แต่สิ่งที่พวกเขาใช้งานกลับเปลี่ยนแปลงชีวิตของพวกเขาอย่างมีนัยสำคัญ พวกเขาเคยลำบากกับการสื่อสารที่ราคาแพง ไม่ทั่วถึง และใช้งานลำบาก คนกลุ่มนี้จำนวนมากต้องอยู่ห่างจากครอบครัวเพราะพื้นที่ทำงานไกลบ้านออกไปหลายร้อยกิโลเมตร

ขณะที่การใช้งานของพวกเขาน้อยกว่าการใช้งานของคนเมืองที่โตมากับไอที มีทุกสิ่งพร้อม แต่ความเปลี่ยนแปลงที่ไอทีทำให้พวกเขากลับมากมายกว่ามาก พวกเขาเคยต้องแบกรับค่าใช้จ่ายมหาศาลในการสื่อสาร การพูดคุยเป็นเวลานานอาจจะหมายถึงต้องเดินทางกลับภูมิลำเนา ค่าใช้จ่ายที่สูงทำให้พวกเขาไม่สามารถสื่อสารกันได้สะดวก

โทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ต เปลี่ยนชีวิตพวกเขาได้มากกว่าที่เปลี่ยนชีวิตคนเมืองอย่างมาก พวกเขาสามารถสื่อสารกันได้ตลอดเวลาเป็นครั้งแรก สามารถส่งข้อความเสียง ข้อความภาพ แม้การใช้งานจะน้อยกว่า แม้พวกเขาจะไม่เคยลองโปรแกรมใหม่ๆ พวกเขาแค่ใช้สิ่งที่เคยใช้งาน แล้วก็ใช้ต่อไปอย่างนั้นเอง

เวลาที่เราเรียกร้องการเข้าถึงไอที เราเรียกร้องอะไร เวลาที่เราเรียกร้องอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงมากๆ (มากระดับที่ดูวิดีโอความละเอียดสูงได้ลื่น) เรากำลังเรียกร้องบริการ “ชั้นดี” มากกว่าที่จะเรียกร้องบริการ “ทั่วถึง”

คนจำนวนมากอาจจะรู้สึกโกรธที่ตัวเองเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงมากตลอดเวลาไม่ได้ แต่ผมมองว่านั่นไม่ใช่ปัญหาที่ต้องได้รับการคุ้มครอง ปัญหาของคนมีกำลังซื้อของพื้นฐานแต่อยากได้ของชั้นดีเป็นเรื่องที่ต้องเรียกร้องกันเองผ่านกลไกตลาด ไม่ใช่กระบวนการคุ้มครอง

เพราะผมเชื่อว่าอินเทอร์เน็ตและการสื่อสารควรนำมาซึ่งความเท่าเทียม ไม่ใช่ความรู้สึกหรูหราอะไร