eSports ไม่ใช่กีฬา

หรือจะใช่ ก็ช่างมันเถอะ

เรื่องจริงคือเราต้องกลับมามองว่า “กีฬา” ทุกวันนี้มันคืออะไร เราสนับสนุนมันเป็นบ้าเป็นหลัง เพราะมันทำให้คนออกกำลังกายแล้วสุขภาพดีจริงๆ น่ะเหรอ? หรือมันเป็นธุรกิจที่เราอยากแข่งขัน เราเห็นฟุตบอลอังกฤษ, เยอรมัน, สเปน ทำแล้วดัง แล้วอยากได้อย่างเขาบ้าง

ย้อนกลับมาใหม่ เราควรยอมรับว่า กีฬาจำนวนมาก มันเป็นรายการบันเทิง คนดูมหาศาลสักกี่คนจะกลับบ้านมาแล้วจับกลุ่มเล่นกีฬาที่พวกเขาดู บาส, บอล, มวยปล้ำ

คนไทยนิยมวิ่งขึ้นมากในช่วงหลัง แต่กีฬาวิ่งก็ไม่เห็นคนนิยมดูมากขึ้น ช่วงหลังๆ มหกรรมกีฬาดูจะน่าสนใจน้อยลงด้วยซ้ำ

eSports เป็นกีฬาไหม คงเถียงกันได้ไม่จบ แต่โลกความเป็นจริงคือเวลามองจอ (screen time) ของเด็กรุ่นต่อไป จะถูกรายการพวกนี้กลืนกินไปเรื่อยๆ เด็กรุ่นต่อไปดู live การแข่งพวกนี้มากขึ้นเรื่อยๆ เบียดเบียนรายการบันเทิงแบบอื่นไปทีละน้อย การจัดแข่งสดจะมีคนไปดูในสนามมากขึ้นเรื่อยๆ มากกว่ากีฬานานาชาติรายการเล็กๆ หลายรายการ

ในโลกที่มีความเปลี่ยนแปลงเร็วสูง สุดท้ายมันคือเวลารับชม

คนเราอาจจะไปดูการแสดงคอนเสิร์ตหรือกีฬาที่สนามได้สัก 2 รอบต่อเดือนเท่านั้น คนทั่วไปมองจออาจจะ ดูละครสักเรื่องสองเรื่อง 5 วันต่อสัปดาห์ ดูบอลสักสองคู่

แต่ถ้าคนรุ่นต่อไปไป ดูละครเหลือเรื่องเดียว (แถมอาจจะไม่ดูละครไทย) ดูบอลคู่เดียว ดู eSport รอบสำคัญสัปดาห์ละแมตช์ ดูแคสเกมอีกสัปดาห์ละสองชั่วโมง

จะกีฬาหรือไม่ แต่สุดท้ายก็อยู่บนสนามแย่งชิงความสนใจของคนเหมือนกัน เช่นเดียวกับแพลตฟอร์ม ที่ทีวีกำลังพ่ายแพ้ เมื่อคนรุ่นต่อไปดูทีวีน้อยลงเรื่อยๆ

 

Bad Wolf 2018

บทเรียนจากปีที่แล้ว ถ้าไปวันแรกๆ ไม่ได้ก็ไม่ต้องไปหรอก หนังสือดีๆ หายไปแทบหมดแล้ว

รอบนี้หนังสือน่าสนใจเยอะทีเดียว หนังสือดังๆ บางเล่มเริ่มแพง มี 3-500 ทั้งที่เป็นนิยายปกติ

แต่โดยรวมถึงยับยั้งไม่อยู่ก็จะได้หนังสือที่อ่านได้เกินปี

 

ธนาคารไทยควรทำ

เมื่อวานมีข่าว KTB Netbank เริ่มประกาศว่าจะไม่ยอมให้เครื่องที่ root ใช้งานได้อีกต่อไป โอเค มันก็เป็น mindset ของคนทำงานธนาคารโดยทั่วไปว่าเครื่องที่ root แล้วความปลอดภัยมันลดลง

แต่บางทีมันคงดี ถ้าธนาคารจะทำ practice ในฝั่งตัวเองให้ครบถ้วน เป็นแบบอย่างบ้าง เช่น

  • HTTPS นี่มันปี 2018 แล้ว เรามีใบรับรองดิจิตอลฟรีมาเป็นปีแล้ว ถ้ามีโดเมนธนาคารยังไม่เป็น HTTPS อยู่มันน่าจะมีอะไรผิด (อาจจะผิดที่ mindset ตรงนี้ไม่สำคัญ ฉันไม่ทำ) ข่าว KTB เองก็ต้องเข้า source ด้วย HTTP ถ้าใส่ HTTPS Everywhere นี่จะเข้าได้ แล้วเจอหน้า 404 สวัสดีปี 2018 เดี๋ยว Chrome ก็จะประจานหนักขึ้นเรื่อยๆ แล้ว จริงๆ แล้วตั้งแต่ปีที่แล้ว ธนาคารและบริษัทลูกที่ใช้แบรนด์เดียวกันทั้งหมดควรมีนโยบาย HTTPS Only กันได้แล้วนะ เคยเจอเว็บธนาคารทำดี สมัคร broker แล้วได้ HTTP server มาเป็นไอพีเลย ใช้ส่งข้อมูล PII เต็มรูปแบบ
  • เซิร์ฟเวอร์อีเมลรับ TLS อันนี้ทำแล้วหลายธนาคาร (ขอชื่นชม) ช่วงหลังกูเกิลประจานหนักขึ้นเรื่อยๆ ใน Gmail ก็ถึงเวลาต้องกลับไปคอนฟิกแล้ว พอมารู้ตอนหลังว่าหลายธนาคารทำทั้งที่ไม่มีใครประจานมาก่อนหน้านี้ก็ต้องชมว่างานละเอียดจริง
  • PDF กำหนดรหัสเองได้ อันนี้ยังไม่เจอธนาคารที่ใช้อยู่ทำ ไม่รู้จะอุตส่าห์ตั้งรหัสเป็นวัน-เดือนเกิดทำไม ประโยชน์เดียวคือ Gmail ค้นข้อความข้างในไม่ได้ ความปลอดภัยไม่ได้เพิ่มขึ้น (รหัสมีความเป็นไปได้ตั้ง 365 กรณี) บางธนาคารเติมปีมาให้ ความปลอดภัยน่าจะเพิ่มขึ้น “ติ๊ดนึง” อาจจะเดาช่วง 10-20 ปีได้ แนวทางหลังจากนี้การรายงานข้อมูลลูกค้าน่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ (สิงคโปร์เริ่มกำหนดให้ส่งอีเมลแจ้ง statement รายวัน) ข้อมูลถ้ารั่วไปหาคนอื่นมันจะร้ายแรงขึ้นเรื่อยๆ เปิดทางให้ user รักษาความปลอดภัยตัวเองสักหน่อย
  • ตรวจข้อมูลก่อนใช้ อันนี้เข้าใจว่าเมื่อก่อนสมัยไม่มีมือถือ หรืออีเมลไม่ได้ใช้งานหนักๆ ก็ไม่ได้ตรวจความถูกต้องกันนัก แต่ข้อมูลการสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์พวกนี้มันควรถูกตรวจก่อนใช้งานจริงจังบ้างได้แล้ว ข่าว KTB นี่ user เข้ามาแสดงความเห็นกันเพียบว่าสารพัดธนาคารไม่เคยตรวจว่าอีเมลถูกจริงไหม หนักสุดที่เคยเจอคือใส่ข้อมูลผิดกลายเป็นลงทะเบียน PromptPay สวมเบอร์คนอื่นได้เลย (ผิดประกาศแบงค์ชาติแน่ๆ แต่ไม่เคยได้ยินว่ามีการ mass revoke การลงทะเบียนที่ไม่ได้ตรวจก่อนทั้งหมดนะ)
  • รองรับ password manager เสียที คำแนะนำด้านความปลอดภัยใหม่ๆ เขาแนะนำให้ใช้ password manager มาพักใหญ่แล้ว เลิกห้าม paste รหัสผ่าน, เลิกสร้างคีย์บอร์ดเองในแอปและในเว็บ, เลิกกำหนดความยาวรหัสกันได้แล้ว
 

ว่าด้วย Cryptocurrency

เขียนเรื่องเงินจากวิทยาการเข้ารหัสลับ (เรื่องจะแปล cryptocurrency ว่าอะไรนี่เป็นประเด็นอีกอันอยู่) หลายครั้ง คำถามมักเป็นว่าควรซื้อไหม มันจะขึ้นไหม และอนาคตเราจะได้ใช้มันไหม อะไรแนวๆ นี้

สองคำถามแรก ตอบไปเหมือนเดิมเสมอ คือ “กูไม่รู้” (สุภาพกว่านี้ตามโอกาส แต่พูดกับตัวเองว่า “ถ้ากูรู้ กูซื้อนานแล้ว”)

แต่คำถามที่สามนี่น่าสนใจ เพราะทุกวันนี้หลายคนมักบอกว่าช่องทางการใช้เงินประเภทนี้แบบบนดินคือการโอนเงินข้ามประเทศ ขณะที่ญี่ปุ่นเองก็รองรับเงินประเภทนี้เป็นช่องทางการจ่ายเงิน

การโอนเงินข้ามประเทศเป็นสิ่งที่ธนาคารในระบบปัจจุบันทำได้ค่อนข้างแย่ ค่าธรรมเนียมแพง อัตราแลกเปลี่ยนแพง และกระบวนการโอนช้า

ค่าธรรมเนียมการโอนทุกวันนี้อย่างระบบบัตรเครดิต ร้านค้าออนไลน์อาจจะต้องรับผิดชอบค่าธรรมเนียมอยู่ถึง 3.5% เมื่อรับบัตรผ่าน payment gateway ต่างๆ และฝั่งผู้จ่ายเองก็ต้องรับค่าธรรมเนียมอัตราแลกเปลี่ยนอีก 2% รวมแล้วสูงถึง 5.5% ค่าธรรมเนียมของ Western Union ก็ใกล้เคียงกัน

เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เป็นไปได้ว่าจะมีส่วนต่างให้เงินจากวิทยาการเข้ารหัสลับพวกนี้เข้ามาแทนที่ ระบบเงินเหล่านี้เพียงสร้างระบบที่ค่าธรรมเนียมรวมถูกกว่า ให้เหลือ 1-2% ก็คงจะมีการใช้งานจริงแล้ว เช่น บริษัทรับแลกประเทศต้นทางคิด 0.3% ตัวบล็อคเชนคิดค่าธรรมเนียม 0.1% และบริษัทรับแลกปลายทางคิด 0.6% (เพราะทำหน้าที่เป็น payment gateway ในตัว และอาจจะต้องเป็นฝั่งรับความเสี่ยงค่าเงิน)

เงินบนบล็อคเชนเหล่านี้มีความได้เปรียบสำคัญคือกระบวนการ settlement รวดเร็ว (ถ้า block ไม่เต็มเสียก่อน) ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนโดยทั่วไปในระยะเวลาสั้นๆ ไม่ควรจะผันผวนมากมาย แต่ปัญหาตอนนี้คือปริมาณ transaction ที่รองรับได้ช่างจำกัดจำเขี่ย และหากใช้ท่าขยายขนาดบล็อคไปเรื่อยๆ ปริมาณข้อมูลบนบล็อคเชนก็จะมีขนาดมหาศาล ดังนั้นเราจึงต้องหาทางสร้างเทคโนโลยีที่ Vitalik พูดเรื่องนี้ไว้เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

การจ่ายเงินในอนาคตจึงเป็นไปได้ว่าร้านค้าบอกราคาสกุลเงินของตัวเอง และเมื่อเราเลือกจ่ายด้วย cryptocurrency หน้าเว็บก็แปลงเป็นเงินสกุลนั้นให้พร้อมกับบอกว่าจะคงราคาให้ 30 นาที เราเข้าเว็บบริษัทรับแลกจากเงินบาท และสั่งซื้อเงินจำนวนเท่าที่ระบุพร้อมกับสั่งโอนออก อีกสามนาทีเมื่อบล็อคเริ่มบันทึก transaction เว็บร้านค้าก็ยืนยันการรับเงิน และรอส่งสินค้า

การจะได้ใช้เงินประเภทนี้ในชีวิตประจำวันไหม จึงกลับไปที่เทคโนโลยีว่าเราจะสามารถสร้างเทคโนโลยีที่แทบไม่มีข้อจำกัดปริมาณรายการโอนไหม นับเป็นข้อแรกก่อน ถ้ารายการโอนวิ่งไม่ไป บล็อคเต็ม รอโอนเป็นวันก็จอดทันที

แต่ถ้าเทคโนโลยีเกิดแล้ว มันก็จะคาดโทษธนาคารและบริษัทรับจ่ายเงินทั้งหลายแล้วว่าจะวิ่งตามทันหรือไม่ สามารถหาทางมาต่อสู้กับเทคโนโลยีเหล่านี้ได้หรือไม่ ถึงจุดนั้นไม่ว่าธนาคารและเครือข่ายการจ่ายเงินทั้งหลายจะใช้อะไร (หรือใช้บล็อคเชนด้านหลังหรือไม่) ถ้าเราสามารถโอนด้วยระบบเดิมๆ แต่ค่าธรรมเนียมถูกลงจนใกล้เคียงกัน ธนาคารเลิกเก็บค่าธรรมเนียมความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน

ถ้าเป็นแบบนั้นต่อให้ cryptocurrency พร้อมแต่คนก็คงอยู่กับระบบเดิมต่อไป