Bard ไม่แพ้

ลอง Bard มาหนึ่งวันเต็ม

  • ภาษาอังกฤษเท่านั้น อันนี้จำกัดผู้ใช้มาก ถือเป็นความด้อยกว่า ChatGPT ชัดเจน
  • ข้อมูลใหม่มาก ไม่ต้องรอปีสองปีแบบ ChatGPT ชนะใส ถามวันเลือกตั้งไทยนี่ตอบถูกแล้ว
  • UI ยังแพ้ชัดเจน แยก chat ไม่ได้ ซึ่งสำคัญมาก เพราะมันคุย context ย้อนไปมา พวกเล็กๆ น้อยๆ อย่างโค้ดแล้วไม่มีปุ่ม copy นี่น่ารำคาญเล็กๆ
  • OpenAI แล้ว login หลุดบ่อยๆ นี่น่าเบื่อมาก Bard ดีกว่า เปิดเป็นติด
  • เวลาล่อให้มันตอบอะไรยาวๆ ChatGPT จะตอบไปเรื่อยๆ แล้วตัดจบไปเฉยๆ เมื่อ token quota หมด แต่ Bard จะ “ตัดกลาง” ได้ ล่อให้มันตอบ info ของจังหวัดในไทยเป็น JSON มันตัดย่อตรงกลางเลย อ่านบนล่างแล้วเหมือนตอบเต็ม มาดูไฟล์ อ้าว แอบตัดกลาง
  • คิดว่า Bard เร็วกว่า และดูจากอัตราการแจก waitlist (รวมถึงการ soft launch นอกสหรัฐฯ) แสดงให้เห็นว่ากูเกิลกำลังใช้พลัง “Google Scale” ขยาย infra เก่งในตัว ไม่ต้องรอคุยกันระหว่าง Microsoft <-> OpenAI พลังงานที่เหลือเฟือโชว์ด้วยการ generate คำตอบทีละสามคำตอบมาให้ดูเล่นเลย
  • ยังมีจุดเบลอๆ งงๆ บ้าง แต่ส่วนตัวน้อยกว่า ChatGPT จังหวะไม่ตอบมันไม่ตอบเลย

ใครชนะยังไม่แน่ใจ แต่นาทีนี้กูเกิลบอกได้ชัดเจนแล้วว่า “ช้าก่อนวัยรุ่น”

อีกจุดที่ควรมองคือ PaLM API ซึ่งคิดค่าใช้แบบ metering ถ้าพลังยังใกล้เคียงกันในระดับนี้ ต่อให้ใช้ภาษาไทยไม่ได้ แต่ถ้าราคาถูกกว่ามากๆ ก็จะพลิกตลาด

 

ปัญญาประดิษฐ์ (และหุ่นยนต์) ปฎิวัติ

คนจำนวนมากอาจจะเคยเห็นวิดีโอสายการผลิตอะไรในโรงงานแบบนี้ตามเฟซบุ๊กบ่อยๆ แล้วรู้สึกทึ่งกับความสามารถในการผลิตที่รวดเร็วของสายการผลิตเหล่านี้ ที่ของที่เราเคยคิดว่าต้องใช้เวลาทำนานๆ แล้วสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ แถมไม่มีคนเข้ามาเกี่ยวข้องแม้แต่น้อย

แม้จะน่าทึ่ง แต่ในความเป็นจริงเครื่องจักรเหล่านี้กลับไร้ความยืนหยุ่น เครื่องผลิตขนมถูกตั้งมาให้ผลิตขนมได้เพียงอย่างเดียวโดยปรับแต่งได้เพียงเล็กน้อย เช่น วาดหน้าเค้ดในรูปแบบต่างๆ หรือการปรับแต่งต้องอาศัยปัจจัยภายนอกเช่นไส้ที่เปลี่ยนสูตรไป การคิดอะไรแปลกๆ เช่น ทาร์ตทรงสามเหลื่ยมอาจจะหมายถึงการปรับแต่งเครื่องใหม่ทั้งหมด

มันไม่มีปัญหาอะไร ถ้าปริมาณการผลิตมันเยอะเพียงพอ กับอาหารก็ทำได้ไม่ยากนักที่เราจะผลิตสินค้าแบบเดียวกันนับล้านชิ้น

แต่สินค้าที่ความซับซ้อนสูง เช่น รถยนต์ เราไม่สามารถสร้างเครื่องจักรที่ผลิตเป็นสายพานเช่นนี้ โดยนั่งออกแบบเครื่องให้มันทำงานสอดประสานกันพอดีอย่างสมบูรณ์ได้ ทางออกในการทำให้กระบวนการเป็นอัตโนมัติคือการใช้หุ่นยนต์

แขนกลในโรงงานเป็นหุ่นยนต์ที่เราเห็นกันจนชินตา ในโรงงานรถยนต์หุ่นยนต์เหล่านี้ทำหน้าที่ เชื่อม ตัด หรือเจาะ ในส่วนที่ซับซ้อนจนปกติต้องใช้มนุษย์ แต่มันกลับทำได้โดยไม่หยุดพัก และความผิดพลาดแทบเป็นศูนย์โดยไม่มีปัจจัยความเหนื่อยล้า

หุ่นยนต์เคยเป็นเครื่องจักรราคาแพงที่มีเฉพาะการผลิตมูลค่าสูงเท่านั้นจะใช้งานได้ แต่ราคาหุ่นยนต์กลับเพิ่มขึ้นไม่มากนักในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้อุตสาหกรรมใหม่ๆ เริ่มนำหุ่นยนต์เหล่านี้มาใช้งานได้ง่ายขึ้น

Zume Pizza คือตัวอย่างของการใช้หุ่นยนต์กับสินค้ามูลค่าไม่สูงนัก ซีอีโอของ Zume ระบุว่าหุ่นยนต์ที่นำมาใช้คืนทุนได้ภายใน 6 เดือนเท่านั้น

แต่กรณีของ Zume Pizza ก็ยังเป็นเพียงกรณีเฉพาะ เพราะหุ่นยนต์ที่ใช้ทำงานเพียงงานง่ายๆ คือป้อนพิซซ่าเข้าเตาอบ เท่านั้น สายการผลิตของ Zume ยังคงต้องการเครื่องจักรเฉพาะ เช่นเครื่องราดซอร์สลงบนพิซซ่า

การใช้งานหุ่นยนต์ติดกำแพงในการเข้าถึงเพราะหุ่นยนต์ทุกวันนี้ยังต้องอาศัยวิศวกรเชี่ยวชาญสูงในการ “สอนงาน” ให้หุ่นยนต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง แม้ว่าตัวหุ่นยนต์อาจจะซื้อสำเร็จรูปได้แล้วก็ตาม แต่การสอนให้หุ่นยนต์ทำงานกับสภาพแวดล้อมอย่างสอดประสาน เช่น รอให้พิซซ่าดิบมาถึงระยะที่เหมาะสม นำถาดไปรองรับ วางพิซซ่าลงในเตาที่ยังว่างอยู่ สิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยวิศวกรที่มาโปรแกรมมันทั้งสิ้น

https://www.youtube.com/watch?v=Rt0GkhVPjac

สารคดี Tesla ในการพัฒนาสายการผลิต Model S พูดถึงเรื่องการเซ็ตอัพให้หุ่นยนต์เดินเครื่องตามที่โปรแกรมไว้เป็นเซคชั่นใหญ่ของตัวสารคดีทั้งเรื่อง วิศวกรต้องโปรแกรม, ปรับแต่ง, และแก้ไขให้หุ่นยนต์ค่อยๆ ทำตามที่มนุษย์ตั้งใจ ซอฟต์แวร์เหล่านี้มีความซับซ้อนสูง วิศวกรต้องคิดถึงความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นและแนวทางที่หุ่นยนต์ควรรับมือกับความไม่แน่นอนของโลกความเป็นจริง

https://www.youtube.com/watch?v=jE-XiWrAg3M

ปัญญาประดิษฐ์คือด่านสุดท้ายของสั่งคอมพิวเตอร์และหุ่นยนต์โดยไม่ต้องการความเชี่ยวชาญสูงนัก ทุกวันนี้ปัญญาประดิษฐ์ทำหน้าที่แปลงคำสั่งจากภาษามนุษย์เป็นคำสั่งที่คอมพิวเตอร์เข้าใจได้ด้วยความซับซ้อนที่สูงขึ้นอย่างช้าๆ คนไม่ทันเทคโนโลยี ไม่เข้าใจการใช้แอปปฎิทินสามารถแจ้งเตือนนัดหมายล่วงหน้าผ่าน Siri ได้เหมือนสั่งงานเลขาที่เป็นคนจริงๆ

ปัญญาประดิษฐ์กับหุ่นยนต์จะทำให้แทบไม่มีอุปสรรคใดๆ ต่อการสร้างระบบผลิตอัตโนมัติ พ่อครัวสักคนสามารถซื้อหุ่นยนต์แล้วสอนว่าการทอดที่พอดีสำหรับเขาเป็นอย่างไร จานชามจะไม่ต้องวางในตำแหน่งที่แน่นอน เจ้าของหุ่นยนต์เพียงสั่งด้วยคำสั่งระดับสูง

เมื่อโปรแกรมให้หุ่นยนต์ทำก๋วยเตี๋ยวสักเมนู ในอนาคตอันใกล้อาจจะเป็นเช่นนี้

  • เจ้าของร้าน: บันทึกเมนู เส้นเล็กต้มยำ เริ่มจากหยิบชาม
  • ปัญญาประดิษฐ์: ชามสีแดงหรือสีขาว
  • เจ้าของร้าน: สีขาว สีแดงใช้เฉพาะลูกค้าสั่งเมนูพิเศษ
  • ปัญญาประดิษฐ์: ได้ แล้วทำอย่างไรต่อ
  • เจ้าของร้าน: หยิบเส้นเล็กหนึ่งกำ ประมาณ 70-90 เส้น ใส่ตระกร้อ ลวกในน้ำเดือด 30 วินาที หรือให้แน่ใจว่าเส้นอ่อนนุ่มทั้งหมดแล้ว
  • หุ่นยนต์ + ปัญญาประดิษฐ์: [ลวกเส้นทันที] ประมาณนี้ใช่ไหม
  • เจ้าของร้าน: นานกว่านี้อีกหน่อย ให้เส้นใสกว่านี้ ยกตระกร้อขึ้นมาดูเรื่อยๆ
  • หุ่นยนต์ + ปัญญาประดิษฐ์: [ลวกเส้นต่ออีก 5 วินาที] ประมาณนี้ใช่ไหม
  • เจ้าของร้าน: ได้ ประมาณนี้เลย แล้วเอาเส้นใส่ชาม ใส่เครื่องปรุง น้ำปลาหนึ่งช้อนชา น้ำมะนาวหนึ่งช้อนชา น้ำตาลหนึ่งช้อนชา พริกครึ่งช้อนชา
  • หุ่นยนต์ + ปัญญาประดิษฐ์: [มองรอบๆ ครัวแล้วหยิบเครื่องปรุงเองตามคำสั่ง]
  • เจ้าของร้าน: คลุกเข้ากับเส้น ใส่ซุปครึ่งชาม แล้วใส่ลูกชิ้นสี่ลูก

ร้านร้านหนึ่งอาจจะต้องทนฝึกหุ่นยนต์ไปเรื่อยๆ จนรับคำสั่งลูกค้าได้ถูกต้องทั่งหมด (เส้นนุ่มพิเศษ, เพิ่มเส้น ฯลฯ) แต่หลังจากจุดหนึ่ง มันจะไม่เหนื่อย ไม่ลา ไม่ขาด ไม่สาย รอซ่อมตามรอบอย่างเดียว

แถมเมื่อฝึกแล้วสำเนานิวรอนไปกี่ตัวก็ได้ ไม่จำกัด

 

รถอัตโนมัติ

ต่อจากตอนเดิมอีกหน่อย เพราะเพิ่งเห็นทวีตของ Elon Musk

เลยนึกได้ว่าอีกข้อนึงที่รถอัตโมัติจะชนะคือมันจะถูกอย่างรวดเร็ว เพราะไม่ต้องมีพวงมาลัยไม่ต้องมีหน้าจอแสดงข้อมูลสารพัด (ซึ่งเป็นต้นทุนผลิต)

เช่นเดียวกับรถไฟฟ้า Tesla ที่ทุกวันนี้ไม่มีเพลากลางห้องโดยสารเลยกว้างขึ้นมาก ถ้าพวงมาลัย, เบรก, คันเร่ง หายไป ห้องโดยสารจะกว้างกว่าเดิม ต้นทุนผลิต (ในระยะยาว) จะถูกลงมาก แม้ว่าตอนแรกจะแพงกว่า แบบเดียวกับ Tablet ที่ตอนแรกอาจจะแพง แต่ชิ้นส่วนน้อยกว่าก็กดราคากันลงไปได้เหลือไม่กี่พัน

 

โลกที่ไม่ลืม

เรามีหนังและมีนิยายมากมากเกี่ยวกับ “ความสามารถพิเศษ” ที่พูดถึงคนที่ความจำดีอย่างเกินธรรมชาติ เราพูดถึงความเจ๋งไปพร้อมๆ กับความทรมานกับการสูญเสียความสามารถในการลืมไป

แต่จะเป็นอย่างไรถ้าเรา “ทุกคน” กลับมีความสามารถแบบเดียวกันนี้

โลกที่ไม่ลืมเป็นความฝันของนักวิจัยที่อย่าง Mark Weiser ที่ทำนายไว้ว่าจะมีวันหนึ่งที่พื้นที่เก็บข้อมูลของเรามากพอ จนกระทั่งเราไม่ลบอะไรอีกเลย โดยเขาทำนายไว้ที่ความจุ 1TB ที่ทุกคนจะไม่สนใจลบไฟล์อีก

ซึ่งไม่จริง ทุกวันนี้ภาพความละเอียดสูง วิดีโอ 4K, วิดีโดสโลวโมชั่น ทำให้เราผลิตข้อมูล 1TB ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงได้อย่างง่ายดาย เราสามารถผลิตข้อมูลมหาศาลจนเราเองไม่สามารถหาที่เก็บมันได้อย่างเพียงพอ เมื่อเราเลือกเก็บ ข้อมูลบางส่วนหายไประหว่างทาง ภาพความละเอียดสูงหายไปกับฮาร์ดดิสก์ลูกเก่า เหลือเพียงภาพความละเอียดต่ำที่อัพโหลดไว้บางภาพ

ขณะเดียวกัน ภาพใหม่ๆ จำนวนมหาศาลก็ทำให้เรา “ลืม” ภาพเก่าๆ ไปจำนวนมาก แม้มันจะกองอยู่ในฮาร์ดดิสก์โน้ตบุ๊ก ห่างจากมือของเราไปไม่กี่มิลลิเมตรอยู่ทุกวันก็ตามที

แต่ปัญญาประดิษฐ์ กำลังทำให้เราทุกคนเสียความสามารถในการลืมไปอย่างถาวร….

 

หลายก่อนที่เป็นช่วงก้าวกระโดดของวงการสตอเรจในคอมพิวเตอร์ โลกเพิ่งเห็นแผ่นซีดี, ฮาร์ดดิสก์ขนาดเกิน 1GB, เทปขนาดหลายร้อยเมกกะไบต์ สิ่งหนึ่งเราเรามักจะเอามาเทียบกับความจุเหล่านี้คือจำนวนหน้าหนังสือ หรือบางทีก็เอามาเทียบว่าเป็นไบเบิลกี่เล่ม

ประวัติศาสตร์และคำสอนของศาสนาคริสต์ทั้งหมด รวมอยู่ในข้อความแบบยังไม่บีบอัดเพียง 4.3MB เท่านั้น คำสอนนี้นิยามตัวตนของผู้ที่เรียกตัวเองว่าเป็นคริสเตียนจำนวนมหาศาล ขณะที่ข้อมูลระดับเทราไบต์ที่เราถ่ายวิดีโอช่วงเวลาสั้นๆ ของเรากลับไม่ได้บอกตัวตนอะไรเรามากมายนัก

ไม่ว่าจะบอกว่าเป็นประสงค์ของพระเจ้า หรือคนศาสนาอื่นอาจจะบอกว่าเป็นความสามารถของเหล่า Apostle ในศาสนา แต่ไบเบิลก็ถูกบีบอัดข้อมูลประวัติศาสตร์นับพันปีมาอย่างปราณีต ข้อมูลช่วงสำคัญถูกเลือก ถูกเล่าในรูปแบบที่เน้นถึงจุดสำคัญ จนกระทั่งออกมาเป็นหนังสือที่มีจำนวนอักขระไม่ได้มากมายกว่าหนังสือหนาๆ เล่มอื่นๆ ในโลก

เราเห็นพลังของการบีบอัดเอาช่วงสำคัญเช่นนี้ เช่น จดหมายเหตุของชาติต่างๆ, บันทีกที่เหล่าขัณฑีบันทึกการกระทำของฮ่องเต้ในจีน, ปูมเรือที่จดโดยเหล่าลูกเรือ

ปัญญาประดิษฐ์กำลังเข้ามาทำหน้าที่นี้ให้กับ… ทุกคน

 

ปัญญาประดิษฐ์แสดงความสามารถสำคัญหลายอย่างที่จะบีบอัดเรื่องราวของเราไว้ให้มีขนาดเล็กแบบเดียวกับไบเบิลที่เลือกสรรค์ประวัติศาสตร์มาเป็นอย่างดี เมื่อเราถ่ายรูป ปัญญาประดิษฐ์เริ่มมีความสามารถในการบรรยายรูปภาพเหล่านั้นดีขึ้นเรื่อยๆ

คงไม่ใช่เรื่องยากที่วันหนึ่งเราถ่ายภาพทิ้งขว้าง ปัญญาประดิษฐ์จะสามารถแนะนำให้เราลบภาพที่ไม่มีค่า (เช่นเบลอหรือถ่ายพลาด) ออกได้ทันที ภาพทุกภาพจะถูกบรรยายอย่างละเอียด ใครอยู่ในภาพบ้าง เป็นงานอะไร กำลังทำอะไร หากเราพบใครสักคนเป็นครั้งแรก ปัญญาประดิษฐ์จะบันทึกวันที่เราพบกันไว้อย่างแม่นยำ

เมื่อเวลาผ่านไป เมื่อพื้นที่ดิสก์เริ่มเต็ม ปัญญาประดิษฐ์จะเลือกลบ หรือย่อรูปที่ไม่มีคุณค่าออกจากระบบ ภาพบางภาพจะถูกครอปเฉพาะจุดสำคัญ วิดีโอความละเอียดสูงถูกตัดเลือกช่วงเวลาสำคัญที่สุด เวลาอื่นๆ ถูกย่อลงเหลือความละเอียดต่ำหรือเลือกภาพแค่บางเฟรมออกมา

 

ข้อมูลดิบหายไป แต่ความทรงจำของเราถูกบรรยายไว้อย่างปราณีต เรื่องราวที่เราพบเจอถูกบันทึกเป็นข้อความอย่างละเอียด ข้อความทั้งหมดที่บรรยายชีวิตของเราแต่ละวันอาจจะไม่กี่ร้อยกิโลไบต์ แต่มันกลับเป็นบันทึกที่ละเอียดจนไม่มีใครทำได้ แต่ละปีข้อมูลที่ถูกจดบันทึกนี้มีเพียงไม่กี่สิบเมกกะไบต์ มูลทั้งชีวิตของเราที่ไร้ภาพ กลับถูกบรรยายไว้ทุกแง่มุมในขนาดรวมไม่กี่กิกะไบต์ ภาพสำคัญ วิดีโอ เสียง ฯลฯ ถูกลิงก์เข้ากับข้อความแต่ละส่วน

เมื่อเราพบกับใครสักคนและได้ร่วมงานหรือพบเจอกัน เราจะสามารถดึงความสัมพันธ์ของเรากลับมานั่งทบทวนได้ทั้งหมด

เราจะไม่ลืมอีกต่อไป

 

ผมไม่รู้ว่าเราจะความสุขกับโลกแบบนี้ไหม ไม่ใช่ทุกคนที่มีความสุขกับการที่เฟซบุ๊กเตือนให้เพื่อนๆ มาอวยพรวันเกิด การที่เราจำเรื่องราวของกันและกันได้อย่างละเอียด แต่เราก็รู้ว่าต่างฝ่ายต่างไม่ได้จำจริงๆ แต่เป็นความทรงจำที่คอมพิวเตอร์ช่วยจัดการให้เช่นนี้เป็นสิ่งที่เราจะอยู่ร่วมกับมันอย่างไร

คงเป็นคำถามที่เราจะได้คำตอบกันในช่วงชีวิตของเราเอง