ขอบคุณที่มาส่ง และเราคงไม่พบกันอีก

ชีวิตนักอ่านของผมที่ขอบคุณที่สุดคงเป็นพ่อผมเอง มีวางนโยบาย “หนังสือคือสิ่งจำเป็น” มาโดยตลอด ผมซื้อของในห้างเกินพันครั้งแรกก็คือหนังสือ (และมองกลับไปตอนนั้นยังคิดว่าทำไมซื้อเยอะขนาดนั้น แต่ตอนนี้ผมซื้อได้เล่มเดียว) แต่อีกในช่วงเวลาก็มีนักเขียนอีกคนที่มีอิทธิพลต่อการอ่านของผมเป็นอย่างมาก

ผมพบหนังสือของเขาในร้านหนังสือระหว่างนั่งรถเมลกลับบ้านและตัดสินใจหยิบมันกลับมาเล่มหนึ่ง พบว่ามันสนุกดีและหลังจากนั้นก็ซื้อหนังสือของเขามาเรื่อยๆ แต่จุดสำคัญคงเป็นหนังสือนิยายประวัติศาสตร์ จากวิชาน่าหลับสมัยมัธยมต้น หนังสือเล่มนั้นเปิดโลกว่าประวัติศาสตร์และการเรียนรู้จากอดีตเป็นอย่างไร ผมมองวิชาประวัติศาสตร์ไปอีกแบบ อ่านหนังสือที่ดูจะอ่านยากๆ ได้มากขึ้น มุมมองที่ยังคงงงๆ แต่จากเนื้อเรื่องที่ดึงประวัติศาสตร์มาใช้อย่างก้าวกระโดดไปมา แต่ทั้งหมดก็ทำให้การอ่านหนังสือเชิงวิชาการมีความสนุกขึ้นอย่างมาก

ผมยังคงอ่านหนังสือของเขาทุกเล่ม (ทุกเล่มจริงๆ) อยู่หลายปี ซื้อหนังสือและมีโอกาสขอลายเซ็นอยู่บ้าง แม้จะไม่ใช่คนเก็บหนังสือ และโดยเฉพาะไม่ได้เป็นคน “รักษา” หนังสือเท่าใดนัก

สิ่งที่เคยจุดประกายให้ผมอ่านหนังสืออีกหมวดหนึ่งที่ผมอาจจะไม่อ่านเลยหากไม่ได้มีการจุดประกายไว้อย่างสนุกสนานและอ่านได้ง่ายก่อนหน้า กลับเริ่มถูกตั้งคำถามว่าภายใต้ความง่ายและความสนุกนั้นมันถูกเลือกอย่างจงใจ ถูกวางจังหวะและเวลามาอย่างระมัดระวัง

ถึงจุดหนึ่งผมพบว่าผมสนุกกับประวัติศาสตร์ได้เอง ผมพบว่าความ “ง่าย” นั้นไม่ใช่สิ่งที่ผมปรารถนาเท่าใดนักอีกต่อไป ผมอ่านผลงานในช่วงหลังแล้วพบว่าการเปิดโลกว่าหนังสือเล่มหนึ่งไม่ใช่เพียงเขียนเพื่อความสนุกแต่อ้างอิงความจริงเป็นฐาน ในความบิดเบี้ยวจากความเป็นจริงแล้วก็น่าสงสัยว่ามันจะบิดต่างจากการจินตนาการล้วนๆ มากน้อยแค่ไหน

ผมหยุดอ่านหนังสือของเขาไปนาน หนังสือเล่มหลังๆ ที่ซื้อมาผมพบว่าอ่านไม่จบ จนบางเล่มก็ไม่เคยเปิดอ่าน

ผมยังจำความตื่นเต้นของเด็กม. 3 ที่แอบเปิดไฟอ่านหนังสือใต้ผ้าห่มเพราะไม่สามารถหยุดอ่านหนังสือเล่มแรกๆ นั้นได้ และมันคงเป็นส่วนหนึ่งของผมไปตลอดกาล

อย่างไรก็ดี เมื่อผมเห็นหนังสือเหล่านั้นอีกครั้่ง ผมก็คิดในใจกับพวกมันว่า

“ขอบคุณที่มาส่ง และเราคงไม่ได้พบกันอีก”

 

#เท่าทันสื่อ

เห็น @supinya พูดถึงเรื่องการรู้เท่าทันสื่อแล้วคิดถึงเรื่องของตัวเอง

ผมมองว่าการที่เราจะบอกว่าเรา “เท่าทัน” อะไรสักอย่างอย่างคงต้องเป็นการก้าวข้ามจากการเชื่ออย่างหมดใจมาเป็นการมองตามความเป็นจริง สิ่งที่เราไม่เคยเชื่อถือเราคงไม่ต้องการการเท่าทันเท่าไหร่นัก เพราะไม่ว่าสิ่งนั้นจะบอกอะไรเรา เราก็ไม่เคยเชื่อหรือไม่เคยสนใจอยู่แล้ว

การที่จะบอกว่าให้เราเท่าทันสื่อก็คงเป็นเรื่องที่สมมติอยู่บนฐานว่าคนจำนวนนึงเชื่อว่าสื่อบอกอะไรมาก็เป็น “ความจริงอันสมบูรณ์” ไปในทันที (ซึ่งก็คงมีจริง) และการเท่าทันก็เป็นเรื่องที่เราต้องบอกให้คนกลับมาคิดว่าสื่อเองก็มีความผิดพลาดหรือความไม่สมบูรณ์ได้เหมือนกัน

สำหรับผมเองการ “เท่าทัน” ครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งคือการเท่าทัน “ครู”

ด้วยระบบการศึกษาไทยที่มีการแบ่งชั้นชัดเจน ผมถูกปลูกฝังมาว่าครูคือผู้ถือความถูกต้องเอาไว้เสมอ ความรู้สึกและความเชื่อนี้เป็นจริงในช่วงเวลาหลายปีในชีวิตนักเรียน

แล้ววันหนึ่งผมก็รู้ว่าครูก็สอนผิดเป็น

มันก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรนักกับการที่คนๆ หนึ่งจะสอนอะไรผิดไป แต่สำหรับนักเรียนที่เชื่อว่าครูคือผู้ถือความจริงอันสมบูรณ์มันสร้างคำถามในชีวิตว่า แล้วต่อจากนี้กูจะเหลืออะไรให้เชื่อได้อีกบ้าง ในแง่หนึ่งมันคืออาการ “โลกสลาย” เมื่อเราพบว่าโลกที่เราเคยรู้จักมันไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

บทเรียนหลังจากนั้นผมเจออะไรอีกหลายอย่างที่ต้อง “เท่าทัน” ทั้งครูอีกหลายๆ คนที่พบว่าสามารถเล่าเรื่องตาม forward mail ได้อย่างเป็นจริงเป็นจังโดยไม่ได้ตรวจสอบ คนในวงการศาสนาที่ทำผิดเสียเอง งานวิจัยเมกผล งานวิจัยอ้างผลเกินจริง ฯลฯ อีกมากมาย

โลกที่เคยสลายไปแล้วก็สลายไปอีกหลายๆ ครั้ง จนมันไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร มันก็แค่การมองโลกที่โลกมันเป็น

โลกมันเป็นอย่างนี้ เราเองถูกสอนให้มองโลกอย่างที่มันไม่เคยเป็น เราเองถูกสอนว่าอะไรเชื่อถือได้อะไรเชื่อถือไม่ได้ อะไรคือความ “สมบูรณ์” ในตัวเอง ผมมองกลับไปแล้วพบว่าแม้ครูคนหนึ่งจะสอนผิดแต่เขาก็สอนสิ่งที่ถูกต้องอีกหลายอย่าง แม้ครูคนหนึ่งจะเล่าเรื่องตาม forward mail อย่างมั่วซั่วแต่เขาก็เตรียมการสอนในเนื้อหาอย่างดีเยี่ยม

โลกมันเป็นแบบนี้ของมัน มันไม่มีความสมบูรณ์ในตัว ถ้าเราไม่คาดหวังความสมบูรณ์ และเรียนรู้ว่าทุกอย่างอาจจะผิดได้ แม้แต่ตัวเราเองที่ประสบการณ์เปลี่ยนไป เรื่องที่เราบอกว่าพิจารณาไตร่ตรองมาอย่างดีว่าถูกต้อง ตัวเราเองในอนาคตก็บอกว่ามันผิดได้เหมือนกัน

การเท่าทันสื่อเลยไม่ใช่เรื่องใหญ่โตที่ผมคิดว่าเราต้องไปอะไรเป็นพิเศษนัก ถ้าเรายังมีช่องทางที่เราเชื่อว่ามัน “สมบูรณ์” อยู่ ช่องทางนั้นก็คงเป็นช่องทางที่เราต้องเรียนรู้จะเท่าทันมันต่อไป

 

เสือก

บล็อคผมเมื่อปี 2014 กลายเป็นประเด็นสังคมขึ้นมาอีกรอบเมื่อสังคมไทยมีประเด็นอีกครั้ง ผมไม่ได้แชร์เองในรอบนี้แต่ตามคนรอบข้างก็มีเอาบล็อคไปแชร์อยู่เรื่อยๆ เรียกความคิดเห็นกันเป็นระยะ

สังคมไทยจำนวนมากเริ่มเข้าในสิทธิพื้นฐานในบางระดับ เราเริ่มเห็นการถกเถียงเปลี่ยนผ่านจากการที่เด็กท้องแล้วเป็นตัวอย่างศีลธรรมอันเลวทรามที่ต้องขจัดออกไปจากสังคม และเริ่มมีเสียงตรงกันมากขึ้นว่าเด็กแม้จะพลาดไปก็ต้องมีโอกาสได้เรียน

ข้อถกเถียงใหม่ๆ ของผู้ที่เปี่ยมไปด้วยจริยธรรมอันโหดเหี้ยมจึงเปลี่ยนไป และแสดงความปรารถนาดี™ ขึ้นมาได้อย่างน่าขนลุก

น้องๆ สุขภาพมีปัญหาแล้วจะเรียนได้ยังไง ควรไปที่ที่จัดไว้เฉพาะ

เสียงในหัวผมลอยก้องขึ้นมาทันที ว่า “เสือก”

คนพวกนี้ใส่หน้ากากความสงสารเพื่อตัดสิทธิ์พื้นฐานของคนสนองจริยธรรมอันโหดร้ายได้อย่างน่ากลัว ภายใต้ความสงสารพวกเขาผลักไสคนออกไปให้พ้นหน้าพ้นตาภายใต้ความรู้สึกว่าได้กระทำดี

เราอยู่ในสังคมที่หญิงทำงานโรงงาน (ที่บางคนก็ไม่ได้อายุเยอะกว่าเด็กในวัยเรียนที่ว่าสักเท่าไหร่) มีโอกาสลางานไปคลอดได้สามเดือน เราอยู่ในสังคมที่เด็กโดนรถชนขาหักสามารถเรียนจากโรงพยาบาลแล้วตามมาสอบได้ ประเด็นคนป่วยแล้วมาเรียนมาสอบอยู่ในหนังสือมานีมานะที่คนยุคนี้ดูจะ “อิน” กันเสียด้วยซ้ำ

ถ้าเราให้โอกาสคนเหล่านั้นให้เป็น “ปกติ” ที่สุดที่เราจะทำได้ แล้วจะเป็นอะไรกันนักหนากับคนท้อง เพียงเพราะเขาท้องตอนเรียน?

เขาทำอะไรได้ไม่ได้ก็เรื่องของเขา เขาจะพยายามลำบากกว่าคนปกติหรือไม่ก็เป็นทางเลือกของเขา การ “เสือก” เอาความสงสารไปทำลายชีวิตเขาคงไม่ใช่สิ่งที่คนที่มองตัวเองว่าเป็นคนดีจะทำกัน

 

ผู้ใหญ่

สมัยเรียนเริ่มเรียนปริญญาตรีไม่นาน วันหนึ่งผมได้รับโทรศัพท์ตอนตีสอง เพื่อนคนหนึ่งโทรมาแล้วบอกสั้นๆ ว่าคนที่มันชอบตกลงเป็นแฟนกับคนอื่นไปแล้ว แล้วมันก็เงียบ

ผ่านไปหลายปีมันก็มีช่วงเวลาผมเองก็มีเวลาทำอะไรแปลกๆ แบบนั้นบ้างเมื่ออารมณ์ขึ้นสุดลงสุด ทำเอาคนรอบข้างกังวลอยู่หลายครั้ง

แล้วมันก็ผ่านไป ช้าบ้างเร็วบ้าง สุดท้ายมันก็ต้องกลับมาเรียน กลับมาทำงาน

แล้วมันก็ผ่านไป

วันหนึ่งที่มีเรื่องเข้ามากระทบอีก รู้ตัวอีกทีก็พบว่าตัวเองทำตัวแทบจะปกติ ไม่มีความอยากบอกใคร ไม่มีความอยากให้ใครมาสนใจ แค่อยากให้ทุกอย่างเหมือนวันปกติที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

เพราะเดี๋ยวมันก็ผ่านไป