ความเห็นต่อการเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตในไทย

ช่วยมาร์คทำการบ้าน เอามาลงบล็อคแล้วกันเผื่อจะกลายเป็น Blog-Tag

– ช่วยแนะนำตัวเองคร่าวๆ เช่น ตำแหน่งหน้าที่การงาน ลักษณะการทำงาน
> วิศวกรคอมพิวเตอร์, ผู้ดูแลระบบ, ผู้ดูแลเครือข่าย, เว็บมาสเตอร์, โปรแกรมเมอร์, นักวิจัย, นักศึกษา (มั่วจริงตู)

– ใช้อินเทอร์เน็ตมานานแค่ไหน? ใช้อินเทอร์เน็ตในการทำงานเยอะน้อยอย่างไร (เช่น ใช้บ้าง หรือ ขาดไม่ได้) ช่วยอธิบายลักษณะการใช้งานอินเทอร์เน็ตแบบคร่าวๆ (เช่น หาข้อมูลบนเว็บ ทำรายการทีวีออนไลน์)
> ตั้งแต่ ป. 5 นับรวมแล้วประมาณ 15 ปี เมื่อขาดอินเทอร์เน็ตแล้วประสิทธิภาพการทำงานลดลงเหลือเพียง 1 ใน 10

– ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา โดนผลกระทบจากการเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยบ้างหรือไม่? (โดน/ไม่โดน ถ้าโดน เป็นที่บ้านหรือที่ทำงาน หรือเป็นเจ้าของ/ผู้ดูแลเว็บไซต์ที่โดนเซ็นเซอร์)

> โดนบ้างไม่มากนัก ทั้งที่ทำงานและที่บ้าน เนื่องจากมักเป็นการบล็อคแบบทั่วประเทศ

– ถ้าได้รับผลกระทบจากการเซ็นเซอร์ ได้กระทำการหลบเลี่ยงหรือแก้ไขอย่างไรบ้าง (เช่น ใช้ proxy หรือ Tor,
ย้าย ISP, ย้ายเซิร์ฟเวอร์, โพสต์แสดงความไม่เห็นด้วยตามเว็บบอร์ด/บล็อก) ถ้าไม่ได้ทำอะไรเป็นพิเศษช่วยระบุ

> ยังไม่เคยเจอกรณีที่ทำอะไรไม่ได้ แต่โดยมากแล้วเมื่อมีการบล็อคจะทำให้พฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตเปลี่ยนไป โดยมากแล้วแล้วจะเข้าเว็บที่ถูกบล็อคบ่อยกว่าเดิม เนื่องจากสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นจึงถูกบล็อค

– มีความเห็นอย่างไรต่อการเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ต (เช่น เห็นด้วยทั้งหมด เห็นด้วยบางประเด็น ไม่เห็นด้วย) พร้อมทั้งให้เหตุผลประกอบ

> __ไม่เห็นด้วยในบางประเด็น__ หลักๆ คือการบล็อคโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมที่อธิบายได้ เพราะโดยส่วนตัวแล้วคิดว่าเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเซ็นเซอร์ในบางประเด็นที่ชัดเจนได้ เช่นภาพอนาจารเด็ก

– ในกรณีที่เห็นด้วยเป็นบางประเด็น คิดว่าควรเซ็นเซอร์เรื่องอะไรบ้าง (ตัวอย่าง: การเมือง ศาสนา วัฒนธรรม สถาบันพระมหากษัตริย์ การก่อการร้าย แบ่งแยกดินแดน ภาพอนาจาร ภาพอนาจารเด็ก การพนัน ฯลฯ)

> ประเด็นที่มีความผิดทางกฏหมาย__อย่างชัดเจน__ เช่น ภาพอนาจาร (ผิดกฏหมายไทยอยู่แล้ว) สถาบันพระมหากษัตริย์ก็ผิดกฏหมายเช่นกัน แต่ทั้งหมดทั้งมวลคือต้องผ่านกระบวนการยุติธรรม

– ถ้าเห็นด้วยกับการเซ็นเซอร์ (ไม่ว่าจะทั้งหมดหรือบางส่วน) คิดว่าการเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตควรทำที่ระดับชั้นไหน (เลือกได้มากกว่า 1 ข้อ หรือจะตอบอย่างอื่นก็ได้)
– นโยบายระดับรัฐบาล-กระทรวง
– กฎหมาย
– เกตเวย์ออกกต่างประเทศ (ปัจจุบันมี 3 แห่งคือ CAT, TOT และ True)
– ISP
– องค์กรที่สังกัด (เช่น มหาวิทยาลัย บริษัท)
– พีซี/โน้ตบุ๊ก (เช่น ลงซอฟต์แวร์เซ็นเซอร์)

> กฏหมายบังคับไปที่เกตเวย์น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีในเชิงเทคนิค อย่างไรก็ตามควรคำนึงถึงค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น เช่นรัฐสั่งบล็อคจำนวนมากและซับซ้อนส่งผลให้เอกชนรับภาระค่าใช้จ่าย แล้วผลักภาระไปให้ผู้บริโภค กรณีอย่างนี้จะจัดการอย่างไร?

– คิดว่าการเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ต ต่างจากสื่อชนิดอื่นๆ เช่น หนังสือ ภาพยนตร์ โทรทัศน์ หรือไม่

> ต่างกันที่คนมีความเข้าใจมีเพียงจำนวนน้อย ทำให้การจัดการทำได้ไม่ดีนัก หลายครั้งมั่ว และหลายครั้งมีการทำเกินอำนาจที่กฏหมายระบุ

– คุณมีความเห็นต่อการเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ต หลังรัฐประหาร 19 กันยา 2549 อย่างไร

> มั่วซั่ว ตีคลุมอย่างไร้ทิศทาง และขาดความเข้าใจ โดยทั่วไปแล้วสร้างภาพลบให้กับคณะรัฐประหารอย่างทรงประสิทธิภาพ

– คิดว่าระดับการเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ถือว่ามากหรือน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ (เท่าที่ทราบมา)

> ไม่มากนักเมื่อเทียบกับจีน และประเทศแถบตะวันออกกลาง

– มีความคิดเห็นต่อประเด็นด้านการเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ต ใน พรบ.ความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 อย่างไร

> ขาดบทลงโทษการใช้อำนาจนอกเหนือกฏหมาย เช่นข่มขู่ผู้ให้บริการต่างๆ ในรูปแบบของการขอความร่วมมือ เรื่องเหล่านี้ล้วนเป็นอาชญากรรมในเชิงข้อมูลข่าวสาร และทำให้เราไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลและบริการได้ไม่ต่างจากการแฮกคอมพิวเตอร์แต่อย่างใด

– รู้จักกลุ่มต่อต้านการเซ็นเซอร์ในประเทศไทยหรือไม่ คิดว่ามีผลกระทบต่อระดับการเซ็นเซอร์มากน้อยแค่ไหน

> รู้จัก และติดตาม Blog ตลอดเวลา แต่คิดว่ายังมีผลในวงจำกัด

– คิดว่าในอนาคต สถานการณ์การเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยจะมากขึ้นหรือน้อยลง

> มากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงเวลาหนึ่ง อาจจะ 5-10 ปี หลังจากนั้นแล้วเมื่อคนไทยตระหนักในสิทธิของการเข้าถึงข้อมูลมากขึ้น ภาครัฐน่าจะระมัดระวังในการกระทำการใดๆ มากกว่านี้

– ความเห็นอื่นๆ ต่อการเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ต

> การเรียกร้องในวันนี้ยังไม่มีผลเท่าใดนักเพราะผู้ใช้อินเทอร์เน็ตยังอยู่ในวงจำกัด และกลุ่มผู้ใช้ยังเป็นเด็กอยู่เป็นจำนวนมาก แต่อนาคตเมื่อการกระจายตัวในการเข้าถึงได้กว้างขึ้น และกลุ่มผู้ใช้เป็นผู้ใหญ่กว่านี้ การกระทำเช่นในอดีตจะถูกต่อต้านมากกว่านี้ตามระยะเวลา

ไม่รู้มาร์คส่งให้ใครทำบ้าง แต่อยากเห็นความเห็นของ[พี่เฮ้าส์](http://house.exteen.com/), [คุณเทพพิทักษ์](http://thep.blogspot.com/), และ[ต่าย](http://ipats.exteen.com/) ดูมั่ง ถ้าว่างๆ ลองทำดู

 

เห็นต่าง

วันนี้เดินไปซื้อรองเท้ากีฬา เดินไปอย่างสบายใจและกำลังลองรองเท้าอยู่ หันไปอีกทีก็เห็นทั้งบ้านกำลังดู ASTV

ผมเกลียด ASTV เพราะคิดว่ามันเป็นทีวีปลุกระดมที่สร้างขึ้นมาเพื่อเหตุผลทางการเมือง และผลประโยชน์ของสนธิเท่านั้น

แต่ผมยังซื้อรองเท้าต่อไป แม่ค้าถามว่าจะเอาถุงเท้าเพิ่มไหม ผมไปดูแบบแล้วไม่ถูกใจเลยปฏิเสธไปยิ้มๆ แล้วเดินออกมาพร้อมรองเท้า

เรื่องหนึ่งที่ผมไม่ชอบ เวลาอ่านเว็บบอร์ดราชดำเนินคือการจับขั้วกันอย่างสุดโต่ง ผมเห็นกระทู้จำนวนมาก อารมณ์ประมาณว่า “ร้านนี้เปิด ASTV จะไม่เข้าแล้ว ขอให้มันเจ๊ง” และความเห็นสนับสนุน พร้อมกับด่าแช่ง “ฝั่งตรงข้าม”

ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ ผมเชื่อว่าเราควรตระหนักให้มั่นว่า “ฝั่งตรงข้าม” นั้นเป็นคนไทย และไม่ว่าจะชอบหรือไม่ นี่คือคนที่เราต้องอยู่ร่วมประเทศไปอีกตลอดชีวิต

ไม่ว่าอย่างไรเสียเราก็ยังเป็นคนไทยเหมือนๆ กัน ไม่ควรมีการเสนอให้ “ไปอยู่ประเทศอื่น” เกิดขึ้นอีกในบ้านเมืองนี้

เรามีปัญหากัน เราพยายามแก้ปัญหา เราเรียนรู้จากปัญหา แล้วเราจะกลับมาอยู่ร่วมกันเหมือนเดิม

ไม่ใช่ว่า เรามีปัญหา เราฆ่ากัน ใครชนะครองประเทศ

 

We’re just “pity”

นานมาแล้วผมเคยไปยืนอ่านหนังสือฟรีในร้านหนังสือแถวโบสถ์

หนังสือเล่มนั้นเป็นรวมเรื่องสั้นที่เนื้อหาค่อนข้างหนัก ผมอ่านไปได้แค่เรื่องเดียวแล้วก็พบว่าตัวเองคงไม่อยากอ่านหนังสือแนวนี้เท่าใหร่เลยหยุดอ่านไว้แค่เรื่องเดียวที่ลองอ่านนั่นล่ะ

เนื้อเรื่องของเรื่องสั้นเรื่องนั้นพูดถึงครอบครัวหนึ่งที่มีโอกาสได้ไปช่วยเหลือหญิงท้องแก่ที่ขาดที่พึ่งด้วยการรับมาอยู่ในบ้าน

เวลาผ่านไป หญิงสาวคนนั้นดูเหมือนจะมีชีวิตที่สบายเกินไปในสายตาของสมาชิกครอบครัว ทุกคนเริ่มอึดอัดใจที่ต้องช่วยเหลือหญิงคนนี้ พวกเขาเริ่มกดดันให้หญิงคนนี้ต้องทำงาน และกดดันจากสายตาและความรู้สึก

เรื่องราวจบลงที่หญิงคนนั้นทำงานจนกระทั่งลูกคลอดออกมาระหว่างทำงาน และครอบครัวก็ตาสว่างขึ้นมาว่าพวกเขาไม่ได้อยากช่วยให้หญิงคนนี้มีชีวิตที่ดีกว่าเดิมเลย

พวกเขาแค่อยากให้มีคนที่อยู่ในระดับที่ต่ำกว่ามาอยู่ในบ้านเพื่อให้รู้สึกว่าตัวเองนั้นสูงขึ้นสักหน่อย และพวกเขาอยากให้มันเป็นอย่างนั้นตลอดไป

ผมนึกถึงสังคมไทยในตอนนี้แล้วสังเวชกับความคิดของชนชั้น “ปัญญาชน” จำนวนมาก นานมาแล้วที่เรามองภาพว่าคนต่างจังหวัดขาดโอกาส เราสร้างภาพว่าเราอยากช่วยเหลือเขา ด้วยการออกไปสอนหนังสือเด็กกันปีละสามสี่วัน กับสร้างศาลาที่ไม่รู้จะเอาไปทำอะไรให้หมู่บ้านละหลัง

แล้วเราก็รู้สึกภูมิใจในตัวเองว่าเรานี่ช่างสูงส่งเสียจริงที่เราได้ช่วยเขาถึงเพียงนี้

มาวันนี้คนต่างจังหวัดเหล่านี้แหละ ที่เราบอกนักหนาว่าเขาควรได้รับโอกาสต่างๆ นาๆ เริ่มมีเสียงในสังคม

เรากลับลำกันทุกอย่าง ด้วยการดูถูกพวกเขาว่าโง่ และควรถูกกดให้อยู่ในระดับต่ำกว่าเช่นนั้นต่อไป พวกเขาไม่ควรมีสิทธิ์มีเสียงอะไร

เราอยากให้พวกเขารับการ “บริจาค” จากเราตลอดไป

แล้วเราก็รู้สึกว่าเราเป็นคนดีเสียจริง

 

Reverse Globalization

ภาวะน้ำมันแพงในช่วงหลังๆ มานี้สร้างภาวะใหม่ให้กับโลกกันอย่างช้าๆ โดยที่หลายๆ คนไม่รู้ตัว คือการถดถอยของกระแสโลกาภิวัตน์ เนื่องจากราคาน้ำมันที่กำลังแพงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้อุตสาหกรรมหลายๆ อย่างที่มีสัดส่วนค่าขนส่งต่อราคาค่อนข้างสูงไม่สามารถแบกรับต้นทุนได้อีกต่อไป สิ่งที่เกิดขึ้นคือการไหลกลับของอุตสาหกรรมนั้นๆ ไปยังประเทศที่เจริญแล้วอย่างยุโรป หรือสหรัฐฯ

อุตสาหกรรมที่โดนผลกระทบแน่ๆ คืออุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ ที่บ้านเรามีมูลค่าสูงพอสมควรเสียด้วย ผมไม่แน่ใจว่าเราเตรียมการอย่างไรกับการเปลี่ยนแปลงแบบใหม่นี้ เพราะคำถามมันเปลี่ยนไป จากเมื่อก่อนเราถามกันว่าทำอย่างไรเขาจึงไม่ไปซื้อของจากเวียดนาม, จีน หรือประเทศใน SE Asia แต่คำถามใหม่กลายเป็นว่าทำอย่างไรเขาจึงจะมาซื้อ เพราะปรกติแล้วเขาจะทำใช้เอง

สำหรับโลกไอทีเองนั้น คงไม่กระทบเท่าใหร่นัก เนื่องจากค่าขนส่ง “บิต” นั้นต่ำมากจนแทบไม่ได้รับผลกระทบจากค่าน้ำมัน

น่าสนใจมากว่าถ้าสถานะการณ์ยังเดินหน้าไปทางนี้ต่อไป โลกของเราจะเป็นอย่างไรกัน เราจะเห็นอุตสาหกรรมสิ่งทอ, ประมง, ฯลฯ ไหลกลับไปยังประเทศโลกที่หนึ่ง ถึงตอนนี้คนของเราจะทำอย่างไร?

ยังคิดไม่ออก จดเก็บไว้ก่อน