หน้าที่

เอามาจาก[บทความของคุณ Nost@lgia แห่ง Pantip.com](http://www.pantip.com/cafe/rajdumnern/topic/P6966099/P6966099.html)

ผมเคยลองถามเพื่อนที่อยู่ที่ญี่ปุ่นดูว่าที่นักการเมืองญี่ปุ่นโกงกันมั้ย?

คำตอบจากเพื่อนคือ ใช่ อเมริกาก็โกง อังกฤษก็โกง แค่เราไม่ได้อยู่ในสังคมนั้น เราก็เลยไม่รู้

จากคำตอบของเพื่อน ทำให้ผมเกินคำถามในใจว่า ทั้ง ๆ ที่ประเทศที่พัฒนาแล้วก็โกง แต่ทำไมประเทศที่กล่าวมาถึงเจริญกว่าไทยแบบสุดกู่

คำตอบที่ผมคิดได้คือ “คุณภาพของประชากรต่อหน่วย” มันต่างกันจนเทียบไม่ได้

ณ ตอนนี้ กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ว่าฝ่ายไหน ต่างใช้สิทธิกันเต็มที่ เพื่อชาติอันเป็นที่รักของตน ด้วยวิธีที่ตนเองเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง

แต่ พวกท่านกำลังลืมไปว่า ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น ประชาชนไม่ได้มีแค่สิทธิ แต่ยังมี “หน้าที่” อยู่ด้วย

ผมเชื่อ 100% ว่า ทุกท่านที่ไปชุมนุมนั้น รักชาติรักแผ่นดินทุกคน

แต่ วิธีการของท่าน การใช้สิทธิอย่างเต็มที่โดยละเลยหน้าที่ตามบทบาทของท่าน เป็นการทำให้ชาติของพวกเรา พ้นวิกฤติ พ้นปัญหา ทำให้ชาติไม่ล่มจมจริงหรือ?

คน ที่เห็นว่ารัฐบาลเป็นตัวแปรสำคัญที่สุดที่ทำให้ประเทศไม่พัฒนา และใช้สิทธิอย่างเต็มที่เพื่อขับไล่รัฐบาลนั้น ผมอยากทราบว่า ก่อนที่ท่านจะใช้สิทธิอย่างเต็มที่นั้น ท่านทุ่มเทให้กับหน้าที่ ที่ท่านมีอย่างเต็มที่แล้วหรือยัง?

ขอยกตัวอย่างในอุดมคติซักเรื่อง เพื่อให้เห็นภาพง่ายขึ้น

หาก ทุกคนในชาติทำงาน อันเป็นหน้าที่ตามบทบาทของท่าน ให้หนักขึ้น หมอ ทุ่มเทเวลารักษา วิศวะกร ทุ่มเทเวลาและใจให้งานวิศวะกรรม โปรแกรมเมอร์ทุ่มเทให้กับการเขียนโปรแกรม ฯลฯ

เมื่อทุกคนในชาติ ทุ่มเทให้กับการทำงานของตัวเองมากขึ้น รายได้ของทุกคนก็จะเพิ่มขึ้น เมื่อรายได้ทุกคนเพิ่มขึ้น อำนาจการใช้จ่ายของทุกคนก็จะเพิ่มขึ้น เมื่ออำนาจการใช้จ่ายของทุกคนก็จะเพิ่มขึ้น เงินในระบบเศรฐกิจก็จะหมุนเวียนเร็วขึ้น

และการที่ เงินในระบบเศรฐกิจก็จะหมุนเวียนเร็วขึ้น มันแปลว่า เศรฐกิจดีขึ้น ใช่หรือไม่?

ฉะนั้น การพูดว่าประเทศชาติย่อยยับนั้นเป็นความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรีนั้น

ถูกต้อง แต่ไม่ทั้งหมด นายกรัฐมนตรี อาจต้องรับผิดชอบมากหน่อย แต่ไม่ใช่รับผิดชอบทั้งหมด
เพราะความรับผิดชอบส่วนใหญ่มันไปตกอยู่ที่ “ประชาชนในชาติทุกคน”

ทั้งรัฐบาล ทั้ง พธม. ทั้ง นปช. ทั้งตำรวจ ทั้งทหาร ทั้งสมาชิก pantip และทุกคน มีส่วนรับผิดชอบกันทั้งหมด

ผมจำได้ว่าเคยอ่านนิยายเรื่อง ชีวิตรันทด เรื่องจริงผ่านคอม ของคุณ แอร์กี่ ใน pantip แห่งนี้ มีอยู่ตอนหนึ่งที่คุณแอร์กี่เล่าให้ฟังว่า

ใน เครื่องบินสมัยก่อน จะมีที่นังสูบบุหรี่ด้วย ซึ่งคนไทยที่สูบบุหรี่ จะซื้อตั๋วไม่สูบ แล้วถ้าอยากสูบจะไปนั่งสูบในโซนที่สูบได้ ในขณะที่คนญี่ปุ่นที่สูบบุหรี่ จะซื้อตั๋วที่นังสูบบุหรี่เลย

ตรงนี้ แสดงให้เห็นชัดมาก ๆ ถึงเรื่องการเคารพกฎของสังคม ความไม่เอาเปรียบสังคม ที่คนญี่ปุ่นมีแต่คนไทยไม่มี

ขอวกกลับมาที่ การตระหนักถึงหน้าที่ของคนในชาติ

การ ทำให้ประเทศไทยเจริญได้นั้น ผมมองว่า แค่คนไทยทุกคน ตระหนักในหน้าที่ของตัวเอง ตั้งใจทำงานที่เป็นอาชีพของตัวเองให้หนัก ให้อะไรแก่สังคม ถ้าให้ไม่ได้ อย่างน้อยก็อย่าเอาเปรียบสังคม เท่านี้ ประเทศชาติก็ไปรอดแล้วครับ

ที่พูดมาทั้งหมดไม่ได้จะบอกว่า รัฐบาลจะโกงก็ปล่อยให้มันโกงไป เราหลับหูหลับตาทำงานไปเหอะ แต่ต้องการจะบอกว่า ถ้ารัฐบาลโกง แล้วเราละเลยหน้าที่ของตัวเองเพื่อไปแสดงสิทธิในการขับไล่รัฐบาล ประเทศชาติมีแต่จะล่มจมเร็วขึ้น

ถ้าเราเห็นว่ารัฐบาลโกง แต่เราปกป้องชาติด้วยการทำหน้าที่ของเรา โดย เราสามารถทำให้รัฐบาลไม่มีสิทธิเข้ามายุ่งกับการบริหารประเทศได้ ด้วยหน้าที่หนึ่งในระบอบประชาธิปไตยที่ชื่อว่า “การเลือกตั้ง” ครับ

จากเหตุการณ์ในหน้าหนังสือพิมพ์ ผมเห็นอุดมการความรักชาติและความมุ่งมั่นของคนไทยแล้ว ผมเห็นการอดทนเพื่อชาติของผู้ที่ไปชุมนุมแล้ว

ผม เชื่อมั่นครับ ว่าถ้าเพียงแต่ท่านใช้ความมุ่งมั่นความรักชาติของท่านให้ถูกวิธี ประเทศชาติของเรา ได้แซงหน้าญี่ปุ่นภายใน 50 ปีนี้แน่นอน….

นี่เป็นความเห็นส่วนตัวของผมที่เป็นนิสิตชั้นปีสี่คณะวิทยาศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยแห่งนึงนะครับ ผมอยากให้ทราบว่า นิสิตนักศึกษาที่ไปร่วมชุมนุมนั้น เป็นแค่ส่วนนึง ยังมีอีกหลายส่วนนะครับ ที่มีความเห็นแบบอื่นที่ไม่ใช่แบบที่ท่านเห็นในหน้าหนังสือพิมพ์ ความเห็นของผมดังที่แสดงไป ก็เป็นหนึ่งในความเห็นที่หลากหลายของนิสิตสถาบันที่ผมศึกษาอยู่

กรุณาอย่าเหมารวมนะครับ ผมขอร้อง

 

หัวหมาและหางเสือ

ผมอ่านเรื่องพวกนี้จาก mk มาหลายตอนว่าแล้วก็คงได้เวลาเขียนเรื่องพวกนี้กันซักที

[mk ตั้งคำถามว่าทำไมคน “ชั้นกลาง” โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ รวมถึงชั้นกลาง-สูง เช่นอาจารย์มหาวิทยาลัยในต่างจังหวัด พากันกลับข้างไปมากันอย่างสนุกสนานในช่วงเวลาไม่ถึงสิบปีมานี้](http://www.isriya.com/node/2143/the-main-problem-of-thailand)

ผมเองเชื่อว่านี่คือปรากฎการณ์หัวหมาและหางเสือ…

ก่อนหน้ารัฐธรรมนูญ 2540 นั้นเราคงนึกกันออกว่าไม่ว่าคุณจะจบปริญญาไหนๆ หากคุณไม่ได้รวยระดับ 1% แรกของประเทศหรือมีตำแหน่งทางทหารอยู่ในระดับนายพลแล้ว อิทธิพลในเชิงการปกครองนั้นเข้าใกล้ศูนย์เป็นอย่างยิ่ง เพราะการซื้อเสียงที่มากมายจริงๆ ในสมัยนั้น รวมกับการปฎิวัติที่ทำกันเหมือนการล้างบ้านประจำสัปดาห์ ทำให้ไม่ว่าเราจะเป็นคนชั้นกลางที่ผ่อนโซลูน่าอยู่ หรือชาวบ้านที่เลี้ยงควายอยู่ชายทุ่ง ล้วนไม่มีสิทธิไม่มีเสียงใดๆ ในทางการเมืองมากมายนัก

สุรยุทธเคยพูดในรายการเรื่องเล่าเช้านี้ว่าเขารู้สึกว่าบ้านเมืองนี้ไม่ใช่ของเรา ผมคิดว่าความรู้สึกเช่นนี้เป็นความรู้สึกที่สะท้อนชนชั้นกลางได้ค่อนข้างดี แต่ความรู้สึกนี้จริงๆ แล้วมันไม่ได้ต่างไปจากสมัยก่อนหน้าปี 2540 นัก แต่ก่อนหน้า 2540 นั้นคนทั่วไปรู้สึกว่า

“บ้านเมืองนี้__ไม่เคย__เป็นของเรา”

ชนชั้นกลางในสมัยนั้นคือ __หัวหมา__ ที่ไม่ว่าจะสูงส่งเพียงใดแต่ก็ยังเป็นหมาอยู่นั่นเอง

รัฐธรรมนูญ 2540 ให้ความเสมอภาคที่รุนแรงอย่างมากในสังคม รากหญ้ามีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการตัดสินใจในระดับประเทศ ความไม่ลงรอยในรัฐธรรมนูญ 2540 นั้นเกิดจากความพยายามสร้างแนวทาง 1 คน 1 เสียงในสังคมไทย

สนธิเก่งกาจมากในการที่พยายามประกาศว่าชนชั้นกลาง (ที่เคยเป็นหัวหมา) นั้นจริงๆ แล้วเป็น__หางเสือ__ แม้จะเป็นเสือชั้นล่างๆ หน่อยแต่ก็ยังเป็นเสือ

แนวทางนี้อาจจะสะท้อนออกมาทางความเห็นของเด็กจบจุฬาฯ อย่างซูโม่ตู้ ที่กล่าวอย่างชัดแจ้งว่าในหนังสือของเขาว่า “ระบอบบ้านี่ ให้เสียงส่วนใหญ่ปกครอง กุลีเสียงเท่าเรา แล้วแบบนี้เราจะเรียนปริญญาตรีกันไปทำไมครับ”

จากคนที่ไม่เคยมีเสียงเท่าๆ กัน ในวันนี้สิ่งที่สนธิพยายามหยิบยื่นให้คนชั้นกลางคือ “ศักดินา” สนธิบอกแก่คนกรุงจำนวนนับล้านว่าจริงๆ แล้วเขาควรเป็นหางเสือที่มีสิทธิกดคนอีกหลายสิบล้านไว้ใต้การปกครองได้ และความวุ่นวายในวันนี้ประกันได้ว่าคนจำนวนไม่น้อยเลยที่อยากได้ศักดินานี้ไว้ในมือ

ถึงคนที่เหนื่อยหน่ายบ้านเมืองในวันนี้ คงต้องท่องไว้หนทางแห่งประชาธิปไตย และความเสมอภาคในสังคมนั้นใช้เวลานานมากในการสร้างขึ้นมา ฝรั่งเศสเองนั้นใช้เวลานับร้อยปีกว่าจะเรียนรู้มัน ระหว่างนั้นมีรัฐประหารอยู่หลายต่อหลายครั้ง เยอรมันเองนั้นก่อสงครามโลกไปแล้วสองครั้งกว่าจะเรียนรู้

ทั้งหมดต้องใช้เวลา นานบ้างสั้นบ้างตามปัจจัยจำนวนมาก

75 ปีของไทยนั้นยังเด็กนัก

 

กบฏ

[พี่เฮ้าส์เขียนเรื่องนี้](http://house.exteen.com/20080826/entry)ไว้พอดี เลยเอามาต่อมั่ง

ผมประณามการกระทำของกลุ่มพันธมิตรฯ หลายต่อหลายครั้งว่าเป็นการกระทำของสื่อชั้นเลว ที่ไม่ได้มุ่งสร้างความเข้าใจในข้อเท็จจริงตามหน้าที่ แต่เป็นเครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์ของกลุ่มทุนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

มาวันนี้ ผมต้องบอกอย่างเดียวกันกับพี่เฮ้าส์ ว่าผมเข้าใจผิดมาโดยตลอด พันธมิตรไม่ใช่อะไรเลย ไม่ใช่สื่อ ไม่ใช่ม๊อบ แต่พันธมิตรคือกบฏอย่างชัดแจ้ง

การกระทำของพันธมิตร เกินกว่าประกาศสิทธิมนุษยชนพื้นฐานฉบับใดๆ จะให้การรับรองไว้อย่างแน่นอน และไม่ควรมีการแถลงการจากกลุ่มใดๆ เพื่อสร้างความชอบธรรมกับกลุ่มนี้อีกต่อไป

 

Mainstream

ผมเคยได้ยินบิล เกตต์พูดว่าอนาคตของคอมพิวเตอร์คือโทรศัพท์มือถือมานานมากแล้วตั้งแต่สมัย OLPC ออกมาใหม่ๆ ผมเข้าใจมาเสมอว่านั่นเป็นเรื่องของการเมืองเพราะ OLPC มีท่าทีผลักดันโอเพนซอร์สอย่างแข็งกร้าว

แต่มาวันนี้ต้องยอมรับว่าผมเข้าใจผิด และบิล เกตต์ มองโลกได้ไกลกว่าคนอย่างผมหลายก้าวนัก

ผมมาตระหนักความจริงข้อนี้เอาตอนที่เขียนข่าว[โทรศัพท์มือถือใน Blognone](http://www.blognone.com/topics/mobile) เพิ่มขึ้นในช่วงหลังมานี้ ต้องยอมรับว่ามันเพิ่มยอดผู้เข้าชมเว็บได้อย่างทรงประสิทธิภาพทีเดียว

มาร์คเคยบอกผมว่ามีคนบอกมาอีกที (งงเปล่า?) ว่าสิ่งหนึ่งที่ Blognone ต่างจากเว็บอื่นๆ คือคนเข้ามาอ่านเว็บนี้ปรับตัวเข้ากับเว็บ แทนที่ตัวเว็บจะปรับตัวเข้าหาคนอ่าน

ผมยินดีกับจุดแข็งเช่นนี้ แต่ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่าผมคาดหมายให้ Blognone กลายเป็นสื่อกระแสหลักไปด้วยในเวลาเดียวกัน ขณะที่ Blognone นำเสนอข่าวต่อต้านการปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร และสนับสนุนโอเพนซอร์ส เราก็มีนโยบายชัดเจนที่จะต้อนรับบทความทางการค้าหลากหลายรูปแบบ อย่าง Press Release และ Blognone Jobs ก็นับว่าเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีทั้งคู่

ความสำเร็จในแง่ปริมาณคนของข่าวโทรศัพท์มือถือเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ผมสนใจ เราอาจจะต้องวางสัดส่วนข่าว “กระแสหลัก” กับข่าว “ชี้นำสังคม” ไปในสัดส่วนที่พอเหมาะเพื่อให้โลกได้รับรู้อีกด้านหนึ่ง และขณะเดียวกัน เราต้องการความมั่นใจว่าคนที่รับรู้อีกด้าน ไม่ได้มีแค่คนที่อยู่ “อีกด้าน” รับรู้กันเอง

ความตั้งใจของผมแล้ว ความพอเหมาะระหว่างข่าวแต่ละด้านน่าจะทำได้โดยการที่ผู้สนใจแต่ละด้านเขียนข่าวกันเอง เมื่อคิดว่าข่าวอีกด้านน้อยเกินไปแล้วก็จะมีความพยายามที่จะเขียนข่าวในเรื่องอื่นๆ เพิ่มเข้ามา

เราพบว่าเราคงไปถึงจุดนั้นได้ยาก

Blognone ยังต้องพยายามชี้นำชุมชนของเราให้เป็นชุมชนแห่งการให้ (Contribute) โดยให้ทุกคนให้ส่วนเล็กๆ ของตัวเอง เช่นหนึ่งคนเขียนหนึ่งข่าวต่อเดือน ด้วยยอดสมาชิกหกพันคน เราจะมีข่าวอ่านกันวันละ 20 ข่าว น่าจะมากกว่าเซ็คชั่น Sci-Tech ของหนังสือพิมพ์เล่มไหนๆ

เรากำลังไปถึงจุดนั้น ตัวเลขปีที่แล้วจำนวนคนเขียนเราเริ่มกระจายตัวขึ้น แต่เริ่มหยุดนิ่งในช่วงหลายเดือนมานี้ อาจจะถึงเวลาที่เราต้องคิดแนวทางใหม่ๆ กันอีกครั้ง