แนวคิดส้นตีน

มันมีแนวคิดอย่างหนึ่งฝังรากมานานในประเทศไทย เป็นแนวคิดปลูกฝังกันมา จนเป็น “แนวคิดส้นตีน” อยู่ในประเทศนี้ เอามันไม่ออก

“เรื่องแค่นี้ทำไม่ได้ แล้วเรื่องอื่นจะไปทำอะไรได้”

นี่คือความส้นตีนสุดยอดในตรรกะของสยามประเทศ เป็นแนวคิดที่ห้ามพิสูจน์ เป็นแนวคิดที่พูดไปถูกมั๊ยไม่รู้ แต่คนพูดดูยิ่งใหญ่ (อาจจะเพราะใช้ส้นตีนคิดมา)

คัดลายมือให้ดียังทำไมได้ แล้วจะไปทำอะไรได้

ตัดผมให้เรียบร้อยยังทำไม่ได้ แล้วจะไปทำอะไรได้

ใส่เครื่องแบบให้ถูกต้องยังทำไม่ได้แล้วจะไปทำอะไรได้

 

แนวคิดส้นตีนนี้ถูกใช้อธิบายความเลวร้ายของสังคมได้อย่างอัศจรรย์ คุณอาจจะเห็นคำอธิบายว่าทำไมเด็กไทย ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ เพราะเด็กรุ่นใหม่มันไม่ได้เรื่อง มันไม่อยู่ “ในร่องในรอย” เหมือนคนสมัยก่อน (ที่ก็ไม่ได้มีความคิดสร้างสรรค์อะไรมากมาย)

คนที่อุปโลกตัวเองว่าผ่านน้ำร้อนมาก่อน จะพร่ำพรรณนาว่าในสมัยตัวเองนั้น ทุกคนล้วนอยู่ในวินัย

ไม่มีใครถามว่าไอ้ที่บอกว่า “เรื่องแค่นี้” มันส่งเสริมให้สังคมไปถึงจุดหมายได้อย่างไร

ทุกคนอธิบายเพียงว่ามันเป็นเรื่องเล็กๆ ผ่านไปไม่ยากหรอก อย่าไปตั้งคำถามกับมันสิ แล้วจะผ่านมันไปเอง

 

ส้นตีนเถอะครับ

 

ย้าย Host

ส่วนใหญ่คนอ่านบล็อกผมคงอ่านผ่าน Feed กัน แต่ถ้าใครไม่รู้ ก็มาบอกว่าผมย้ายโฮสต์แล้วครับ

ผมย้ายโฮสต์ทั้งที่มีสัญญาเหลืออยู่อีกประมาณปีกว่าๆ ทั้งโฮสต์และโดเมน แต่กรณีที่เจอน่าจะเป็นกรณีที่น่าเก็บไปคิดพอสมควร

ผมเลือกโฮสต์ของผมเองหลัง Blognone นานพอสมควร ในตอนนั้นเลือกโดยอาศัยบทเรียนจาก Blognone มาบ้าง ที่สำคัญคือเลือกคนที่ทำกิจการแนวนี้จริงๆ เพราะ Blognone ช่วงแรกประสบปัญหาผู้ให้บริการเกิดอาการไม่อยากทำต่อกันดื้อๆ

การเลือกครั้งนั้นแม้จะเลือกถูกเข้าว่าพอสมควร แต่ก็เลือกผู้ให้บริการเป็นบริษัทดูมั่นคงดี และมีกิจการหลักเป็นผู้ให้บริการโฮสต์

ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรใช่ไหมครับ?

จริง ไม่มีปัญหาอะไรเท่าใหร่ในช่วงปีที่ผ่านมา แต่แล้วก็เกิดปัญหาขึ้นสองครั้งเมื่อเว็บผมโดนแฮกเอาไฟล์ pirate มาวาง ประจวบกับวันดีคืนดีผู้ให้บริการก็จะอัพเกรดเซิร์ฟเวอร์พอดี

ปัญหาแรกผ่านไป โดยทางโฮสต์โทรแจ้งว่า limit ใกล้เต็ม (น่าประทับใจมาก) แต่เมื่อถามถึงอาการลึกกว่านั้น ก็ไม่มีคำตอบใดๆ นอกจากให้ไปดู log เอาเอง…

ผมแก้ปัญหาแรกไปได้ ต่อมาคือความผิดพลาดเมื่อ ทางโฮสต์แจ้งว่าผมไม่ได้ใช้บริการโดเมนกับเขา ทำให้ย้ายโดเมนให้ไม่ได้

ความคิดที่ว่าซื้อที่เดียวปัญหาจะได้น้อยๆ นี่สูญสลายมาก นี่เป็นประเด็นแรก

ปัญหาทุกอย่างแก้ไขได้ แน่นอน….

ทุกครั้งที่ผมส่งอีเมลไปติดต่อเพื่อแก้ไข ทางโฮสต์เดิมนั้นให้บริการดีมาก ไม่เคยมีเมลไหนผมถูกตอบกลับโดยใช้เวลานานกว่าครึ่งชั่วโมงเลย แต่น่าสนใจมากว่าผู้ตอบนั้นสลับเพศแทบทุกครั้งไป ความสนุกของเรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่ออีเมลประมาณหนึ่งในสี่เป็นการทวนปัญหาเดิมใหม่ทั้งหมด!!!

ผมเริ่มคิดในใจ “WTF!!!”

อีเมล 26 ฉบับเด้งไปมา จนได้ข้อสรุปสุดท้ายคือผมมีอำนาจในการจัดการโดเมนด้วยตัวเอง และสิ่งแรกที่ทำคือการย้ายโดเมนไปใช้กับโฮสต์อื่น!

เรื่องนี้สอนให้รู้ดีเลย

  • บางทีอะไรเล็กๆ ง่ายๆ ก็ดีกว่ามาก Cyberbeing.biz ที่ Blognone ใช้นั้นแม้จะไม่เป็นบริษัท การตอบสนองช้ากว่าในบางกรณี แต่เมื่อสอบถามได้แล้ว “รู้เรื่อง” เสมอ แถมช่วยแก้ปัญหากับผมหลายต่อหลายครั้ง
  • การ Scale บริษัทใหญ่โดยระบบไม่ใหญ่ตามนี่มันนรกมาก ประเด็นพวกนี้จะง่ายลงมากถ้าโฮสต์ที่มีซัพพอร์ตหลายคน จะมีระบบติดตามเคส และให้หมายเลขอ้างอิงกับผม เก็บข้อมูลการดำเนินงาน ฯลฯ
 

และเราก็แค่เห็นแก่ตัว

หนึ่งในหนังสือท่ผมซื้อมาจากคิโนะฯ ในช่วงหลังๆ นี้คือ Jurassic Park โดยจริงๆ แล้วตั้งใจว่าอ่านหนังสือของ Micheal Crichton ให้หมด

ในหนังเรื่องเดียวกันนั้น เราจะเห็นความยิ่งใหญ่ แต่นแต๊น โอ้โน่นไดโนเสาร์ อะไรอย่างนั้น แต่ในนิยายนั้นเป็นอีกมุมมองหนึ่งที่ว่าด้วยการที่มนุษย์พยายามจะเป็นพระเจ้า

ในหนังนั้นเอียน มัลคอม เป็นเพียงนักคณิตศาสตร์ที่ทำตัวแปลกๆ หน่อย (ออกจะหน้าม่อด้วย..) แต่ในนิยายนั้นเขาคือตัวเดิน “แนวคิด” ทั้งหมดของเรื่อง

คำถามของนิยายไม่ใช่ว่า “จะยิ่งใหญ่แค่ไหนถ้าเรานำไดโนเสาร์กลับมาได้?” แต่เป็นว่า “เรานั้นมันเล็กน้อยแค่ไหน และเราอวดตัวมากเพียงใดที่จะไปควบคุมธรรมชาติ”

น่าสนใจมากว่านิยายส่วนมาก รวมถึงนิยาย “รักโลก” ทั้งหลายนั้นมองว่า มนุษย์คือศูนย์กลางของทุกอย่าง มนุษย์นี่ล่ะที่มีอำนาจที่จะทำลายหรือรักษาโลกนี้ไว้ได้ เช่นเรื่อง The Day the Earth Stood Still เป็นต้น

Jurassic Park กำลังบอกเราอีกอย่าง ที่สำคัญคือมันบอกว่าเราเป็น “ไอ้ขี้โม้” เพียงใดเมื่อเราพยายามบอกว่าเราจะรักษาโลกใบนี้

โลกใบนี้ผ่านอะไรมามากมายกว่าสิ่งที่เราเห็นตรงหน้านี้มากมายนัก โลกใบนี้เองเคยผ่านช่วงเวลาที่ไม่มีออกซิเจนในอากาศ และช่วงเวลาที่ออกซิเจนสูงกว่าปัจจุบันเกือบเท่าตัว หรือประมาณ 35% ในยุคไดโนเสาร์ และเป็นเหตุผลว่าทำไมสัตว์ในยุคนั้นถึงตัวใหญ่กันนัก โลกผ่านช่วงเวลาที่ร้อนระอุ ผ่านยุคน้ำแข็งที่ทำลายสายพันธุ์นับล้านๆ ชนิด

แล้วโลกก็ยังเดินหน้าต่อไป…

ในขณะที่เราเริ่มโวยวายกับปริมาณคาร์บอนที่เพิ่มขึ้นสักสองเท่าตัวในช่วงไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมา ความเปลี่ยนแปลงนี้เป็นเพียงเศษเสี้ยวส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ของโลก กับประวัติศาสตร์ของ Homo Sapien ที่มีมาไม่เกินสองล้านปี กับประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติที่มีแค่สองหมื่นปี

แล้วเราก็คิดว่าเรารู้ไปซะทั้งหมด เราคิดว่าเราเป็นผู้พิทักษ์

เปล่าหรอก เราไม่ได้เป็นผู้พิทักษ์อะไรเลย เราแค่อยากให้โลกอยู่ในสภาวะที่เหมาะกับ “เรา” ก็เท่านั้น

เรารักษาระดับออกซิเจน คาร์บอนไดออกไซด์ ก็เพราะมันเป็นระดับที่เหมาะกับ “เรา” เรารักษาความหลากหลายทางชีวิภาพเพราะเรารู้ว่าเราอยู่สปีชีส์เดียวในโลก “ไม่รอด”

เราไม่ได้รักษาโลกหรอก เราแค่รักษาตัวเราเองก็เท่านั้น

 

What happen to Thai books?

นานมาแล้ว ผมจำได้ว่าพ่อผมพาผมเข้าร้าน SE-ED ที่ฟอร์จูน (IT Mall ปัจจุบัน) บ้านผมมีกติกาฝังหัวคือหนังสือนั้นเป็นสิ่งจำเป็นอันดับสองรองจากของกิน ดังนั้นอย่าแปลกใจที่ผมอ้วน… :P

ผมจำได้ว่าร้านหนังสือร้านนั้น “ใหญ่โคตร” สำหรับผมในตอนนั้น หนังสือละลานตาแบบอ่านทั้งชีวิตไม่หมด และสิ่งที่ดีที่สุดคือคำพูดของพ่อผมที่ว่า

“อยากได้เล่มไหนก็หยิบมา….”

ผมอ่านเยอะขึ้น และซื้อหนังสือด้วยทุนพ่อเรื่อยมา จนวันหนึ่งแล้วแล้ว เมื่อผมอ่านมากขึ้น และผมหยิบหนังสือมากขึ้น

หนังสือที่ผมซื้อก็เกินพันบาท…

ผมจำไม่ได้ว่าผมซื้อไปกี่เล่ม แต่จำได้ว่ามัน “โคตรเยอะ” ผมตั้งคำถามว่าผมจะอ่านหนังสือกองนั้นอีกกี่เดือนกันถึงจะหมด

กาลเวลาเปลี่ยนไป ความเจริญเพิ่มเข้ามา งานหนังสือย้ายจากสวนอัมพรมายังศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ การมาและจากไปของร้านดวงกมลที่ห้างซีคอน

หนังสือเป็นสิ่งจำเป็น กลายเป็นสัญชาติญานที่ถูกฝังในตัวผมไปเรียบร้อยแล้ว แม้แต่ตอนเรียนวิศวกรรมคอมพิวเตอร์เอง ผมก็ยินดีจะประหยัดกับค่าคอมพิวเตอร์มากกว่าที่จะประหยัดค่าหนังสือ

ผมจ่ายเงินมากขึ้นให้กับหนังสืออย่างต่อเนื่อง….. แต่หนังสือที่ได้มาแต่ละครั้งกองเล็กลง เล็กลง และเล็กลง…

หนังสือบ้านเราสวยขึ้นเรื่อยๆ หน้าปกมีการออกแบบที่ดีขึ้นเรื่อยๆ การเข้าเล่มใช้วิธีการที่คงทนกว่าเดิม กระดาษนั้นเป็นมิตรกับสายตาขึ้น

แต่ขณะที่ผมทำงานหาเงินเองได้นี้เอง ผมรู้สึกว่าตัวเองจนเกินไปที่จะซื้อหนังสือแบบเดียวกับที่เคยซื้อได้ก่อนหน้านั้น การซื้อหนังสือในงบประมาณที่ไม่ได้น้อยเลยนั้นกลับได้หนังสือที่อ่านเพียงไม่นานนักก็จะหมดลง

ผมรู้ตัวอีกทีตอนที่ผมเข้าร้านคิโนะคุนิยะเมื่อปีที่แล้ว…

หนังสือภาษาอังกฤษที่เคยเป็นของ “เกินเอื้อม” สำหรับผม กับร้านที่ผมเคยคิดว่า “หรูเกินไป” สำหรับคนอย่างผมนั้นกลายเป็นสิง่ที่ผมดูจะจ่ายได้ไม่ต่างจากหนังสือภาษาไทยนัก

แน่นอนคุณภาพมันแย่กว่ามาก กระดาษปรู๊ฟบางๆ กับหมึกเละหน่อยๆ ไม่ทำให้ใครรู้สึกหรูหราเมื่อเปิดหนังสือเหล่านั้นแน่นอน

แต่ใครสนใจกันล่ะ?

ผมหันมามองหนังสือในชั้น หนังสือแปลจำนวนมากนั้นหนามาก หลายเล่มต้องแบ่งสองเล่มเนื่องจากกระดาษคุณภาพสูงเหล่านั้น

ราคาหนังสือต่อเล่มที่คนไทยกำลังจ่ายนั้นมันเริ่มไม่ต่างจากที่คนตะวันตกจ่ายให้หนังสือของพวกเขาแต่ละเล่มเข้าทุกวัน

เรากำลังไปทางไหนกัน? เรากำลังกลับไปยุคก่อนกูเตนเบิร์กที่หนังสือเป็นของล้ำค่าไว้บูชาในบ้านหรืออย่างไร

เกิดอะไรขึ้นกับอุตสาหกรรมหนังสือไทย?