พื้นที่เปิดโล่ง

หนึงในนโยบายทางการศึกษาที่ผมเห็นการเริ่มต้นของมันด้วยตา และมองว่ามันเส็งเคร็งที่สุดคือนโยบายทรานสคริปต์กิจกรรม

กิจกรรมเป็นสิ่งที่ดีแน่นอน ผมเองสนับสนุนให้น้องๆ ทำกิจกรรมเรื่อยมา แต่มันไม่ใช่มันดีเพราะมันเป็นกิจกรรม กิจกรรมไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งการศึกษา

กิจกรรมคือการสร้างพื้นที่ “เปิดโล่ง” ให้กับสถานศึกษา มันคือสิ่งที่ใช้เรียกการกระทำ “อะไรก็ได้” ตามแต่ที่ตัวคนเรียนจะเห็นสมควร ภายใต้กรอบที่กว้างที่สุดเท่าที่สถานศึกษาจะเปิดพืนที่ให้ได้

การศึกษาที่เคารพผู้เรียนว่าไม่โง่งี่เง่าจนคิดอะไรไม่ออก ควรเปิดพื้นที่ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ วิชาเลือกต่างๆ ควรมีความหลากหลายและเพียงพอที่คนเรียนจะเลือกเส้นทางของตัวเองได้อย่างกว้างขวาง แต่กระนั้นแม้การสร้างทางเลือกให้มากมายแล้วก็ยังมีบางอย่างที่เกินกว่าจะสร้างทางเลือกในฐานะ “วิชา” ในสถานศึกษาไปได้

นั่นคือต้องมีกิจกรรม

ในภาวะที่หน่วยงานการศึกษาไทยจำนวนมากมีทรัพยากรจำกัดจำเขี่ย ผู้บริหารไร้ศักยภาพแม้แต่จะจัดสรรวิชา “บังคับ” ให้มีเพียงพอต่อการเรียน กลับเกิดภาวะแย่งกันเรียนจนแทบจราจลทุุกปี เราจะเชื่ออะไรกับคนกลุ่มนี้ที่มาพูดเรื่องความหลากหลาย

สิ่งที่พวกเขาทำไม่ใช่ความหลากหลาย สิ่งที่พวกเขาทำคือการสร้างสิ่งศักดิ์สิทธิขึ้นมาให้คนกราบไหว้

พวกเขาเลือกกิจกรรมขึ้นมาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พวกเขาสร้างภาพสิ่งที่เรียกว่าเป็นกิจกรรมให้สำเร็จรูป ตามภาพความเชื่อของพวกเขา กิจกรรมถูกบีบให้กลายเป็นสิ่งที่พวกเขามองว่าเป็นกิจกรรม สิ่งอื่นๆ นอกจากนั้นกลายเป็นสิ่งที่ไม่มีที่ยืน

ทุกอย่างมันย้อนกลับไปที่คำถามเริ่มต้น คุณเชื่อในคนเรียนแค่ไหน หรือคุณเห็นเขาเป็นแค่กระดาษที่รอการพิมพ์เนื้อความลงไป

 

ผู้หญิงคนแรก

เคยเขียนเรื่องคนดีไว้ที่ไหนสักที่ ว่าเวลาเราดีใจที่เราพบคนดีในสังคม นั่นเป็นเครื่องยืนยันว่าสังคมเราน่าเวทนาที่ต้องแสดงความยินดีเมื่อเจอคนดี และอีกแง่เรากำลังรู้สึกว่าการทำความดีเป็นเรื่องพิเศษที่ห่างไกลตัวเราเอง

ในแง่ของความเท่าเทียมทางเพศก็เช่นกัน ถ้าเรายังต้องแสดงความดีใจทุกครั้งที่มีผู้หญิงทำหน้าที่ต่างๆ และไปแสดงความยินดีเพราะเธอเป็น “ผู้หญิง” เป็นการยืนยันว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องแปลก และเป็นความน่ายินดีที่มันเป็นเรื่องแปลกเสียด้วย

ในแง่หนึ่งการดีใจกับคนที่ก้าวสู่ตำแหน่งต่างๆ ได้เพราะว่าเธอเป็นผู้หญิง คือการดูถูกว่าเธอเป็นผู้หญิงจึงได้รับการยกย่องในตำแหน่งเดียวกันเป็นพิเศษ

ถ้าใสใจความเท่าเทียม อาจจะต้องเริ่มจากการมองอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นด้านดีและด้านแย่

 

ราคาแห่งความจน

วันนี้ไปเดินหาอะไรกินในซุปเปอร์แถวบ้าน…

เจอแชมพูลดราคาอย่างหนัก ขวดขนาดหนึ่งลิตร ลดราคาอย่างไรเหตุผล เพราะมันถูกกว่าขวด 700cc. ที่วางอยู่ข้างๆ เสียอีก ผมซื้อมาหนึ่งขวด ทั้งที่ที่บ้านยังมีใช้ไปได้อีกอย่างน้อยสองเดือน

ที่บ้านผมเองมีของที่ต้องใช้เป็นประจำเหล่านี้สะสมในระดับที่ใช้งานได้เกินสามเดือนข้างหน้าเสมอๆ ทุกชิ้นล้วนซื้อมาในช่วงที่ค่อนข้างแน่ใจว่าได้ราคาต่ำสุด หลายชิ้นต่ำกว่าราคาเฉลี่ยในตลาดมากกว่าครึ่ง

เมื่อกลับมามองดูต้นทุนการดำรงค์ชีวิตพื้นฐานของผมแล้ว ผมพบว่ารายจ่ายเฉลี่ยสำหรับของพวกนี้ของผมถูกมาก

ผมทำเช่นนี้ได้เพราะมีทุนเพียงพอที่จะบอกว่าการซื้อล่วงหน้าเป็นเวลานาน

ผมนึกถึงสัมภาษณ์นักธุรกิจคนหนึ่ง เขาบอกว่าการทำธุรกิจกับกลุ่มรายได้ต่ำคือการแบ่งขายในขนาดเล็ก แม้จะขายราคาต่อหน่วยแพงขึ้นก็ตาม

แชมพูขวดหนึ่งอาจจะใช้ได้ต่อเนื่องสามเดือนเต็ม ในราคาไม่ถึงร้อย แต่คนรายได้น้อยกลับต้องจ่ายวันละ 5 บาทเพื่อใช้มัน

ความจนอาจจะไม่ได้เกิดจากความพยายามสิ้นเปลืองไปทั้งหมดเสียทีเดียว ความจนอาจจะเกิดจากความไม่มี

เราอาจจะรู้สึกว่าคนจนนั้นโง่ที่ได้เงินมาแล้วไปซื้อมอเตอร์ไซต์ นั้นเป็นเพราะเราอยู่ในเมืองที่มีระบบขนส่งมวลชนซับซ้อนและครอบคลุม

เราอาจจะไม่คิดอย่างนั้น ถ้าทุกครั้งที่เราต้องการเข้าตัวจังหวัด มันหมายถึงการเหมารถกระบะในหมู่บ้านออกไปครั้งละ 300 บาท การสิ้นเปลืองกับสิ่งที่ไม่ใช่ปัจจัยกลายเป็นเรื่องสมเหตุสมผลในทันที

ผมมองขวดแชมพูแล้วแอบคิดในใจ ว่าถ้าคนที่ต้องซื้อซองละห้าบาท เขาสามารถซื้อแชมพูขวดนี้ไปแล้วค่อยๆ จ่ายตามราคาพร้อมดอกเบี้ยได้

ชิวิตเขาคงดีขึ้นไม่น้อย

 

ATM #2

จบเรื่องหนังไปแล้ว กลับมาเรื่องความคิดอีกที

  • หนังสะท้อนค่านิยมของไทยโดยรวมๆ สาวไทยต้องแต่งงานก่อน 30
  • ที่จริงแล้วสังคมยุคใหม่คงไม่ได้สนใจเรื่องแต่งงานก่อน 30 กันจริงๆ แล้ว แต่มันสะท้อนมาจากค่านิยม แต่งงานคือมีลูก น่าสนใจมากว่าค่านิยมแบบนี้กำลังกดดันให้สาวๆ ในเมืองกรุงเลือกที่จะ “ไม่แต่งแม่งเลย” (อ่านจาก economist)
  • เส้น 30 คือ barrier ของสังคมที่กำลัง crash กันระหว่างรุ่น รุ่นใหม่: การมีลูกเป็น optional, ทำงานทั้งสองคน, ดูแลกันและกัน ไม่ใช่ให้ใครเอาใจใคร กับ รุ่นก่อนหน้า: ต้องมีลูก (ซิ), คนนึงหาเลี้ยง อีกคนดูแลบ้าน, ชั้นทำให้ลูกชายชั้นมาอย่างดี เธอมาก็ต้องทำได้เท่ากัน
  • การ crash กันแบบนี้สะท้อนออกมาในหนังอีกหลายต่อหลายเรื่อง ไอ้ประเภท 30+ ทั้งหลายนั่นล่ะ
  • ไอ้ที่ว่า crash กันนี่บางทีก็อยู่ในคนๆ เดียว อย่าแปลกใจถ้าแฟนหนุ่มบางคนงงๆ ว่าจะวางตัวยังไงกับแฟนดี จะให้ทำงานด้วยกันดีมั๊ย หรือจะให้อยู่บ้าน หรือที่บ้านจะว่ายังไง ภาวะงงๆ นี่ก็ออกมาในหนังอีกเหมือนกัน (งงสองต่อเพราะผู้หญิงเงินเดือนดีกว่า ทำลายกำแพงด้านเศรษฐกิจของครอบครัวไปอีก)
  • เรื่องงาน จริงๆ หลายคนคงมีปัญหาการคบกันในที่ทำงานอยู่แล้วจริงๆ ค่านิยมคนเมืองจำนวนมากกลัวการคบกับเพื่อนร่วมงาน ตัวหนังก็แค่เอามาขยายให้เว่อๆ
  • เด็กฝึกงาน… อันนี้ถ้ากลับเพศเคยเจอ เคสแบบในหนังนี่ยังไม่เคยเจอ