ไมโครซอฟท์

พบว่าช่วงหลังเกิดวิกฤติศรัทธากับไมโครซอฟท์ คือ ทุกคนใช้งาน แต่ทุกคนรู้สึกว่ากำลังใช้ “ของอื่นๆ” เยอะขึ้นเรื่อยๆ จนลืมว่าต้องพึ่งไมโครซอฟท์อยู่ รู้ตัวอีกทีที่กำลังด่าตอน Windows Update แล้วกลับบ้านไม่ได้

นั่งคิดเล่นๆ ว่าไมโครซอฟท์พลาดอะไรไปบ้าง และควรทำอะไรถ้าเกมจะออกมาดีกว่านี้ นั่งคิดแบบเลวๆ ไม่คิดถึงว่าจากมุมมองในอดีตของไมโครซอฟท์มันต่างไป (ไม่รู้ว่าแอนดรอยด์จะชนะ ไม่รู้ว่า mobile/web จะโต)

  • เลือกชื่อให้ Metro ซะ เรื่องชื่อเป็นเรื่องที่ไมโครซอฟท์ทำได้แย่มาตลอด (แบบเดียวกับวิดีโอกล่อง iPod เมื่อหลายปีก่อน) ชื่อของ Metro แย่เป็นพิเศษ เพราะไร้ guideline อย่างสิ้นเชิง เรียก Metro/Modern/Windows8UI สุดท้ายเรียกสลับไปมา
  • Metro ควรมี runtime ให้ Windows รุ่นเก่า แนวคิดที่ล็อกให้วินโดวส์ไม่ไปไหนตอนนี้คือรอบ release นาน ปรับหลายอย่าง ฟีเจอร์เยอะ ซึ่งมันก็ดีในยุคหนึ่ง (และยังทำเงินเป็นกอบเป็นกำในยุคนี้) แต่ในยุค release early release often แบบตอนนี้ iOS ปล่อยปีละรอบ Android ปีละสองรอบ Chrome OS ไม่มีใครสนเลขเวอร์ชั่น การที่ไมโครซอฟท์ไม่สามารถผลักดันแพลตฟอร์มใหม่เพราะ “จะเก็บเป็นฟีเจอร์ให้เวอร์ชั่นใหม่” เป็นเรื่องที่เลวร้ายมาก นักพัฒนาเห็นตลาด Windows ใหญ่เป็นทะเลแต่ไม่กล้าใช้แพลตฟอร์มใหม่ที่ไมโครซอฟท์นำเสนอ เพราะดันไปผูกกับเวอร์ชั่นล่าสุดที่คนใช้นิดเดียว
  • Surface RT เคอร์เนลวินโดวส์ทดสอบกับ ARM มานานแต่จุดแข็งของไมโครซอฟท์อยู่ที่ x86 ในท้ายที่สุด Surface RT อาจจะควรออกมา แต่ไม่ใช่ออกมาในภาวะ Metro ลูกผีลูกคน จริงๆ แล้วในจุดนั้นถ้าจะออกมา ก็ควรออกมาโดยไม่มี desktop ในภาพเลยแม้แต่น้อย แต่ก็ยังมีเพราะ Windows 8  ทำงานบน Metro เต็มรูปแบบไม่ได้ แถม Office ก็ไม่มี Metro

โดยร่วมๆ จากนี้ยังไงเสียไมโครซอฟท์ก็ต้องปรับกระบวนการ ให้ release often กว่าเดิม แต่ปัญหาจะกระทบโมเดลธุรกิจที่เน้นขายซอฟต์แวร์และการอัพเกรดทีละเป็นร้อยดอลลาร์ ถึงจุดนั้นไมโครซอฟท์ก็ต้องเลือกว่าจะยอมเสียอะไรเพื่อให้ได้อิทธิพลของผู้ถือแพลตฟอร์มกลับมา

 

Security Usability

สมัยผมเรียน มีวิชาหนึ่งต้องล็อกอินเข้าเซิร์ฟเวอร์เพื่อทำงาน แต่เซิร์ฟเวอร์สามารถส่งข้อความถึงกันเองได้ ทำให้รบกวนเพื่อนตอนทำงานเพราะหน้าจอเต็มไปด้วยข้อความของเพื่อนคนอื่นๆ

อาจารย์สั่งให้ปิดฟีเจอร์รับข้อความนี้เสีย หลายคนเล่นง่ายด้วยการส่งข้อความหาเพื่อนทุกคนแล้วบอกว่า “อย่าส่งข้อความมา”

ความปลอดภัยในโลกความเป็นจริงคงไม่ต่างจากนี้ ผู้ใช้ต้องการใช้งานในรูปแบบที่ตัวเองใช้งานอยู่ โดยไม่ได้สนใจว่ามีวิธีใช้งาน “ที่ควรเป็น” หรือไม่ ถ้ามันทำงานได้ เขาจะทำแบบนั้น

การโทษผู้ใช้ว่าทำแบบนี้แล้วไม่ปลอดภัยก็คงโทษได้ แต่สุดท้ายมันก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา เราอาจจะต้องอาศัยแนวคิด บังคับให้ปลอดภัย

  • เว็บเมลบังคับเข้ารหัสเป็นจุดเริ่มที่ดี แอพแชตทั้งหลายก็เริ่มเข้ารหัสเป็นธรรมดาแล้ว
  • เบราว์เซอร์ในอนาคตอาจจะต้องมี SSL Enforcer เปิดมาในตัวเสมอ และหากใช้งานไม่ได้จะกลายเป็นความผิดของเว็บ
  • HTTP2.0 เข้ารหัสโดยไม่ต้องถามล่วงหน้า เข้ารหัสให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
  • เว็บในอนาคตอาจจะต้องมี password generator ให้บริการ password 6 ตัวแรกสุ่มให้จากเว็บ เพื่อรับประกันว่าจะได้รหัสผ่านที่ปลอดภัยเสมอ
  • แอพแชตอาจจะต้องบังคับแชตได้ไม่เกิน 3 วันก่อนจะต้องแลก public key เพื่อยืนยันตัวตน

เราทำกระบวนการเหล่านี้ให้กลายเป็นเรื่องธรรมดา เป็นสิ่งที่ต้องทำ วันหนึ่งโลกอาจจะปลอดภัยเป็นค่ามาตรฐาน

 

เขื่อนแม่วงก์

ช่วงนี้มีประเด็นเยอะ อ่านๆ ดูแล้วมันกระจายมาก ลองรวบๆ มาอีกที ตัวเลขผมปัดๆ ไปอย่างจงใจให้กลมๆ

ข้อมูลพื้นฐาน

  • อุทยานแห่งชาติแม่วงก์มีพื้นที่ 550,000 ไร่
  • มีหลายอุทยานติดกัน พื้นที่รวมๆ 11 ล้านไร่
  • ตัวเขื่อนที่เสนอ กินพื้นที่ 13,000 ไร่
  • ถ้าเป็นไปตามที่ออกแบบ จะจุน้ำได้ 250 ล้านลบ.ม.
  • เวนคืนที่ดินคลองอีก 11,000 ไร่

เทียบขนาดเขื่อนกับเขื่อนอื่น

ที่มา 1, 2, 3,4

  • เขื่อนศรีนครินทร์ 18,000 ล้านลบ.ม.
  • เขื่อนภูมิพล 13,500 ล้านลบ.ม.
  • เขื่อนสิริกิติ์ 9,500 ล้านลบ.ม.
  • เขื่อนวชิราลงกรณ์ 8,900 ล้านลบ.ม.
  • เขื่อนรัชชประภา 5,600 ล้านลบ.ม.
  • เชื่อนอุบลรัตน์ 2,400 ล้านลบ.ม.
  • เขื่อนสิรินธร 2,000 ล้านลบ.ม.
  • เขื่อนบางลาง 1,400 ล้านลบ.ม.
  • เขื่อนลำปาว 1,400 ล้านลบ.ม.
  • เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 770 ล้านลบ.ม.
  • เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 750 ล้านลบ.ม.
  • เขื่อนแก่งกระจาน 710 ล้านลบ.ม.
  • เขื่อนลำพระเพลิง 320 ล้านลบ.ม.
  • เขื่อนแม่งัด 264 ล้านลบ.ม.
  • เขื่อนขุนด่านประการชล 224 ล้านลบ.ม.
  • เขื่อนน้ำพุง 165 ล้านลบ.ม.
  • เขื่อนห้วยกุ่ม 163 ล้านลบ.ม.

ประเด็นต่อต้าน

ที่มา – 1, 2, 3 (ebook)

  • ป่าน่าจะเสียเกินกว่า 13,000 ไร่ที่ระบุจากการตัดไม้เกินพื้นที่
  • EHIA ทำไม่ผ่านมาแล้วหลายรอบ
  • ป่าที่เสียเป็นพื้นที่ต่ำแหล่งอาหารสัตว์ป่า
  • น้ำใช้จริงไม่ได้เต็ม 250 ล้านลบ.ม. ยกตัวอย่าง เขื่อนทับเสลา 160 ล้านลบ.ม. เก็บอยู่ 42 ล้าน ใช้น้ำได้ 25 ล้าน (อันนี้งงๆ เพราะปกติก็ไม่มีใครเก็บน้ำเต็มปริ่มๆ เขื่อนอยู่แล้ว ยกเว้นตอนน้ำท่วม)
  • แก้ปัญหาน้ำท่วมของลาดยาว (พื้นที่ใกล้เขื่อน) ได้จำกัดเพราะมีทางน้ำอีก 12 ทาง แม่น้ำแม่วงก์เป็นปริมาณน้ำ 10-20%

ข้อเสนอ

  • สร้างฝายขนาดเล็กให้พื้นที่เกษตร 1,000 ไร่
  • จัดการทางน้ำออก ถนนที่กั้นน้ำอยู่
  • ยกตัวอย่าง ตำบลหนองหลวง อุทัยธานี ที่ใช้อ่างเก็บน้ำและฝาย

คำถามต่อข้อเสนอ

อันนี้ผมนึกเอาเอง

  • อุทัยปีนี้ก็น้ำท่วม ต.หนองหลวง วันนี้ก็ท่วมอยู่
  • พื้นที่ป่าที่ราบต่ำมีมากน้อยแค่ไหน จึงเรียกตรงแม่วงก์ว่าเป็นหัวใจ (นับเฉพาะผืนป่าเดียวกันก็เข้าใจได้) ยังไม่มีตัวเลขส่วนนี้
  • รายงานทั้งสองฝั่งเน้น best case/worst case คำถามคือโดยทั่วไปถ้ามองระยะสัก 10-20 ปีแล้ว benefit มีแค่ไหน
 

ด้วยความกรุณา

ช่วงหลังๆ นี้มีเรื่องต้องเขียนเกี่ยวกับสิทธิพื้นฐานหลายๆ อย่าง และต้องถกกับหลายๆ คนในเรื่องนี้ ผมพบว่าคนไทย แม้จะเป็นคนมีความรู้เอง ยังมองไม่ออกในเรื่องของสิทธิพื้นฐาน

เรายังอยู่กับความคิดของบุญกรรม เรายังไม่รู้สึกรับผิดชอบอะไรที่มีใครบางคนในสังคมเดียวกับเราไม่ได้รับสิทธิอะไรบางอย่าง

คนเหล่านั้นไม่ใช่คนชั่วร้ายอะไร คนจำนวนมากเป็นคนดีที่ผมคงบอกได้ว่าเป็นคนดีมากกว่าผม เขาพร้อมจะสละหลายๆ อย่างเพื่อแสดงความ “กรุณา” แก่ผู้ด้อยโอกาสที่เขาเห็นว่าสมควรจะได้รับ

แต่สิทธิไม่ใช่เรื่องการควรได้หรือไม่ควรได้ สิทธิพื้นฐานมันคือเรื่องของสิ่งที่คุณจะได้เองทันที เมื่อคุณเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่รับรองสิทธิพื้นฐานเหล่านั้น ไม่ว่าคุณจะยากดีมีจน ไม่ว่าคุณจะน่าสงสารหรือสมประกอบ

เด็กทุกคนต้องได้รับการศึกษาที่ดี ไม่ว่าจะมีคุณย่าป่วยต้องหาเลี้ยงอยู่ที่บ้านหรือไม่ คนไทยทุกคนต้องเข้าถึงการปัจจัยพื้นฐานได้แม้เขาจะเป็นนักโทษฉกรรจ์ในเรือนจำก็ต้องได้รับการรักษาโรค สิทธิผู้บริโภคไม่ใช่สิทธิตามแต่ผู้ให้บริการจะทำให้ได้เมื่อสะดวก แต่เป็นสิ่งที่ผู้ให้บริการต้องจัดหาให้พร้อมก่อนจะให้บริการ

การมองสิทธิว่าทุกคนต้องได้รับจึงไม่ใช่เรื่องของความกรุณา มันเป็นเรื่องของการเชื่อว่าทุกคนควรได้รับเท่าๆ กันจริงๆ ไม่ว่าจะน่ารังเกียจ หรือไม่สมควรได้เพียงใด

วันหนึ่งสังคมเราคงมองมันออก และเปลี่ยนความคิดไป