โลกที่ไม่ลืม

เรามีหนังและมีนิยายมากมากเกี่ยวกับ “ความสามารถพิเศษ” ที่พูดถึงคนที่ความจำดีอย่างเกินธรรมชาติ เราพูดถึงความเจ๋งไปพร้อมๆ กับความทรมานกับการสูญเสียความสามารถในการลืมไป

แต่จะเป็นอย่างไรถ้าเรา “ทุกคน” กลับมีความสามารถแบบเดียวกันนี้

โลกที่ไม่ลืมเป็นความฝันของนักวิจัยที่อย่าง Mark Weiser ที่ทำนายไว้ว่าจะมีวันหนึ่งที่พื้นที่เก็บข้อมูลของเรามากพอ จนกระทั่งเราไม่ลบอะไรอีกเลย โดยเขาทำนายไว้ที่ความจุ 1TB ที่ทุกคนจะไม่สนใจลบไฟล์อีก

ซึ่งไม่จริง ทุกวันนี้ภาพความละเอียดสูง วิดีโอ 4K, วิดีโดสโลวโมชั่น ทำให้เราผลิตข้อมูล 1TB ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงได้อย่างง่ายดาย เราสามารถผลิตข้อมูลมหาศาลจนเราเองไม่สามารถหาที่เก็บมันได้อย่างเพียงพอ เมื่อเราเลือกเก็บ ข้อมูลบางส่วนหายไประหว่างทาง ภาพความละเอียดสูงหายไปกับฮาร์ดดิสก์ลูกเก่า เหลือเพียงภาพความละเอียดต่ำที่อัพโหลดไว้บางภาพ

ขณะเดียวกัน ภาพใหม่ๆ จำนวนมหาศาลก็ทำให้เรา “ลืม” ภาพเก่าๆ ไปจำนวนมาก แม้มันจะกองอยู่ในฮาร์ดดิสก์โน้ตบุ๊ก ห่างจากมือของเราไปไม่กี่มิลลิเมตรอยู่ทุกวันก็ตามที

แต่ปัญญาประดิษฐ์ กำลังทำให้เราทุกคนเสียความสามารถในการลืมไปอย่างถาวร….

 

หลายก่อนที่เป็นช่วงก้าวกระโดดของวงการสตอเรจในคอมพิวเตอร์ โลกเพิ่งเห็นแผ่นซีดี, ฮาร์ดดิสก์ขนาดเกิน 1GB, เทปขนาดหลายร้อยเมกกะไบต์ สิ่งหนึ่งเราเรามักจะเอามาเทียบกับความจุเหล่านี้คือจำนวนหน้าหนังสือ หรือบางทีก็เอามาเทียบว่าเป็นไบเบิลกี่เล่ม

ประวัติศาสตร์และคำสอนของศาสนาคริสต์ทั้งหมด รวมอยู่ในข้อความแบบยังไม่บีบอัดเพียง 4.3MB เท่านั้น คำสอนนี้นิยามตัวตนของผู้ที่เรียกตัวเองว่าเป็นคริสเตียนจำนวนมหาศาล ขณะที่ข้อมูลระดับเทราไบต์ที่เราถ่ายวิดีโอช่วงเวลาสั้นๆ ของเรากลับไม่ได้บอกตัวตนอะไรเรามากมายนัก

ไม่ว่าจะบอกว่าเป็นประสงค์ของพระเจ้า หรือคนศาสนาอื่นอาจจะบอกว่าเป็นความสามารถของเหล่า Apostle ในศาสนา แต่ไบเบิลก็ถูกบีบอัดข้อมูลประวัติศาสตร์นับพันปีมาอย่างปราณีต ข้อมูลช่วงสำคัญถูกเลือก ถูกเล่าในรูปแบบที่เน้นถึงจุดสำคัญ จนกระทั่งออกมาเป็นหนังสือที่มีจำนวนอักขระไม่ได้มากมายกว่าหนังสือหนาๆ เล่มอื่นๆ ในโลก

เราเห็นพลังของการบีบอัดเอาช่วงสำคัญเช่นนี้ เช่น จดหมายเหตุของชาติต่างๆ, บันทีกที่เหล่าขัณฑีบันทึกการกระทำของฮ่องเต้ในจีน, ปูมเรือที่จดโดยเหล่าลูกเรือ

ปัญญาประดิษฐ์กำลังเข้ามาทำหน้าที่นี้ให้กับ… ทุกคน

 

ปัญญาประดิษฐ์แสดงความสามารถสำคัญหลายอย่างที่จะบีบอัดเรื่องราวของเราไว้ให้มีขนาดเล็กแบบเดียวกับไบเบิลที่เลือกสรรค์ประวัติศาสตร์มาเป็นอย่างดี เมื่อเราถ่ายรูป ปัญญาประดิษฐ์เริ่มมีความสามารถในการบรรยายรูปภาพเหล่านั้นดีขึ้นเรื่อยๆ

คงไม่ใช่เรื่องยากที่วันหนึ่งเราถ่ายภาพทิ้งขว้าง ปัญญาประดิษฐ์จะสามารถแนะนำให้เราลบภาพที่ไม่มีค่า (เช่นเบลอหรือถ่ายพลาด) ออกได้ทันที ภาพทุกภาพจะถูกบรรยายอย่างละเอียด ใครอยู่ในภาพบ้าง เป็นงานอะไร กำลังทำอะไร หากเราพบใครสักคนเป็นครั้งแรก ปัญญาประดิษฐ์จะบันทึกวันที่เราพบกันไว้อย่างแม่นยำ

เมื่อเวลาผ่านไป เมื่อพื้นที่ดิสก์เริ่มเต็ม ปัญญาประดิษฐ์จะเลือกลบ หรือย่อรูปที่ไม่มีคุณค่าออกจากระบบ ภาพบางภาพจะถูกครอปเฉพาะจุดสำคัญ วิดีโอความละเอียดสูงถูกตัดเลือกช่วงเวลาสำคัญที่สุด เวลาอื่นๆ ถูกย่อลงเหลือความละเอียดต่ำหรือเลือกภาพแค่บางเฟรมออกมา

 

ข้อมูลดิบหายไป แต่ความทรงจำของเราถูกบรรยายไว้อย่างปราณีต เรื่องราวที่เราพบเจอถูกบันทึกเป็นข้อความอย่างละเอียด ข้อความทั้งหมดที่บรรยายชีวิตของเราแต่ละวันอาจจะไม่กี่ร้อยกิโลไบต์ แต่มันกลับเป็นบันทึกที่ละเอียดจนไม่มีใครทำได้ แต่ละปีข้อมูลที่ถูกจดบันทึกนี้มีเพียงไม่กี่สิบเมกกะไบต์ มูลทั้งชีวิตของเราที่ไร้ภาพ กลับถูกบรรยายไว้ทุกแง่มุมในขนาดรวมไม่กี่กิกะไบต์ ภาพสำคัญ วิดีโอ เสียง ฯลฯ ถูกลิงก์เข้ากับข้อความแต่ละส่วน

เมื่อเราพบกับใครสักคนและได้ร่วมงานหรือพบเจอกัน เราจะสามารถดึงความสัมพันธ์ของเรากลับมานั่งทบทวนได้ทั้งหมด

เราจะไม่ลืมอีกต่อไป

 

ผมไม่รู้ว่าเราจะความสุขกับโลกแบบนี้ไหม ไม่ใช่ทุกคนที่มีความสุขกับการที่เฟซบุ๊กเตือนให้เพื่อนๆ มาอวยพรวันเกิด การที่เราจำเรื่องราวของกันและกันได้อย่างละเอียด แต่เราก็รู้ว่าต่างฝ่ายต่างไม่ได้จำจริงๆ แต่เป็นความทรงจำที่คอมพิวเตอร์ช่วยจัดการให้เช่นนี้เป็นสิ่งที่เราจะอยู่ร่วมกับมันอย่างไร

คงเป็นคำถามที่เราจะได้คำตอบกันในช่วงชีวิตของเราเอง

 

iPhone 7

screenshot_2016-09-08_01-25-39

เรื่องที่เสียใจที่สุดไม่ใช่การที่แอปเปิลตัดรูหูฟังออก (อีกไม่กี่ปี มือถือจำนวนมากก็น่าจะตัดออกเหมือนกัน) แต่เป็นการที่แอปเปิลเลือกจะตัดรูหูฟังโดยใช้พอร์ต Lightning

มันแปลว่าแอปเปิลจะต้องซัพพอร์ต Lightning ไปอีกนานเพราะชวนลูกค้าซื้ออุปกรณ์เสริมเพิ่มอีกอย่างไปแล้ว

มันแปลว่าความฝันที่ว่ามือถือ (และแลปทอป) ทั้งหมดจะหันมาใช้พอร์ตร่วมกันทั้งโลก จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในอีกสองสามปีข้างหน้า

แอปเปิลมีโอกาสที่ดีที่สุดที่จะรวบทุกพอร์ตให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก ถ้า iPhone 7 ใช้ USB-C (เหมือน MacBook) มันจะเป็นสัญญาณของการรวบพอร์ตให้เป็นหนึ่งเดียวครั้งใหญ่ที่สุด

แม้แอปเปิลตัดพอร์ตหูฟังไป แต่อุปกรณ์เสริมก็จะไมใช่ของแปลกประหลาด การลงทุนกับอุปกรณ์เสริมจะเป็นเรื่องเล็กหากมันสามารถใช้งานได้ทุกที่

โลกได้พลาดโอกาสนั้นไปแล้ว

 

แฟนเดย์ (spoil)

TL;DR น่าจะเป็นเรื่องที่ชอบที่สุดในบรรดาหนัง GTH (เปลี่ยนชือค่ายแล้วแต่ก็รวมว่าแนวนี้แล้วกัน)

  • โลโก้ GDH วนไปมาสองรอบ และขึ้นชื่อก่อนหนังอีกรอบ เอียน (และก็ยังคิดว่าชื่อเต็มมันเห่ยนะ เทียบกับ GTH)
  • ไม่เจอโฆษณา (ไม่) แฝงแบบน่าเกลียดเลย จบเรื่องแทบก้มลงกราบพื้นโรง ทำให้ได้อย่างนี้ทุกเรื่องนะครับ
  • เจอแบรนด์เดียวในเรื่องคือ Jazz ทั้งรถและพูดถึงตอนหลัง แต่ไม่น่าเกลียดอะไร ของแบบนี้ถ้าได้เงินแล้วเข้ากับเรื่องก็ใช้ไปเถิด แบบเดียวกับแป๊บซี่ ในกวนมึนโฮ
  • ที่ขัดใจที่สุดคือความจำเสื่อมแบบ TGA มันจะไกลถึงสามสี่ปีเลยเหรอ? (ไม่เชื่อ แต่ยังไม่ได้หาข้อมูล) และเจอไอ้ที่ว่าวันต่อมาจะหายเองแล้วลืมวันนี้แบบแน่นอนอีก (อันนี้ยิ่งโคตรไม่เชื่อ)
  • แต่โอเค มันคือการประกาศกฎของ universe ในหนัง แม้จะตะงิดๆ ก็ตาม
  • ขัดใจรองลงมาคือตอนมึนๆ ของนางเอกกับยอมไปเที่ยวต่อ (หรือแม้แต่ไปกินข้าว) ง่ายไปหน่อย เพื่อให้เชื่อได้มันน่าจะเครียดกว่านี้อีก
  • ที่ชอบหลักๆ คือมันเป็นหนังรักที่เครียด ดูคนเขียนบทจะไม่ได้พยายามทำให้มันเป็นรักหวานแหววนัก แม้แต่วิดีโอตอนนางเอกมีความสุขก็ไม่ได้ใส่ไว้ในฉากกลางเรื่องช่วงไปเที่ยว
  • ฉากที่ดูจะมีความสุขเลยถูกครอบด้วยนาฬิกานับถอยหลังตลอดเวลา ถ้าเล่นกับความเครียดเรื่องเวลาของพระเอกได้น่าจะกดให้เรื่องเครียดขึ้นอีก
  • พระเอกไม่ได้ geek มันแค่เข้าสังคมไม่เป็น geek จำนวนนึงอาจจะชอบพูดเรื่องที่คนอื่นไม่สนใจ แต่ประเภทพูดเลวๆ ใส่คนอื่น (อย่างน้องที่มาขอบคุณคนแรก) หรือทำตัวประหลาดนี่เป็นปัญหาอีกอย่าง
  • มันมี geek จำได้จริงๆ เหรอว่าปีไหนติ๊กปีไหนต๊อก? (ที่เคยข่าวก็เขียนตาม press ของอินเทลอย่างเดียว)
  • นิสัยแบบนี้ต่อให้คบกันจริงๆ หลังจบเรื่องก็น่าจะมีปัญหานะ
  • แล้วมันจะรอปรับ process ผลิตซีพียูค่อยรอซื้อใหม่ทำไม (ว่ะ) ออกรุ่นใหม่ครบอายุเครื่องเก่าก็ซื้อไปเถอะ
  • สายซิงก์แอนดรอยด์… หลานของสายบีบี อนาคตแม่งจะมีสายซัมซุง (เรียกสาย USB กันแล้วโลกสลาย)
  • การกระทำอย่างเดียวกัน ถ้าเกินเลย ถ้าเขาชอบก็น่ารักดี ถ้าไม่ชอบก็น่ารังเกียจ
  • ตอนจบตัดพอดีล่ะ
 

สแตมป์, สิทธิ์แลกซื้อ, และสมาชิก

เห็นโพสนี้ของ @tpagon เลยคิดขึ้นได้ว่าจะเขียนเรื่องนี้นานแล้ว

ในหนังสือ Data and Goliath พูดถึงเรื่องการสมัครสมาชิกสะสมแต้มว่าตัว Bruce ไม่ชอบใช้นัก เพราะมันติดตามตัวได้  เลยมานึกได้ว่าในระบบสมนาคุณลูกค้า ความสามารถในการติดตามตัวนั้นต่างกัน

  • สมาชิก บัตรสมาชิกทั้งหลาย รวมถึงบัตรจ่ายเงินที่ลงทะเบียนชื่อ มีอำนาจการติดตามสูงสุด มันผูกพฤติกรรมการใช้งานของเราเข้ากับตัวตนของเราอย่างสมบูรณ์ ผู้เก็บข้อมูล จะรู้ว่า ใคร จ่ายอะไร เมื่อไหร่ ที่ไหน แม้เราเลิกใช้งานแล้วก็ยังมีข้อมูลตัวตนเราผูกกับประวัติในอดีตว่าเราเคยซื้ออะไร ที่ไหน เมื่อไหร่
  • สิทธิ์แลกซื้อ อันนี้ของ 7-11 ในความเป็นจริงน่าจะเทียบเท่ากับบัตรจ่ายเงินที่ไม่ลงทะเบียน มันมีอำนาจการติดตามข้ามครั้งการจ่าย ครั้งที่แล้วจ่ายอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ (จึงได้สิทธิ์แลกซื้อมา) และผูกเข้ากับการจ่ายครั้งต่อๆ ไป (อะไร ที่ไหน เมื่อไหร่) มันไม่มีอำนาจในการติดตามตัวตน (เพราะเราไม่ได้ให้ข้อมูล) กรณีของบัตรจ่ายเงิน อำนาจการติดตามการจ่ายจะค่อนข้างมาก เพราะเราใช้ต่อเนื่องยาวนาน ทำให้รู้พฤติกรรมมากขึ้น เช่น มักจะขึ้นรถไฟที่ไหน ลงที่ไหน ซื้ออะไรบ่อยๆ ฯลฯ เมื่อเราเลิกใช้แล้วและพฤติกรรมเปลี่ยนไป (เช่นย้ายบ้าน) และเปลี่ยนบัตร ก็ยากที่จะผูกข้อมูลเดิม เข้ากับตัวตนของเรา
  • สแตมป์ ใกล้เคียงเงินสด (ไม่เหมือนทีเดียวเพราะจริงๆ ธนบัตรยังมีเลข) แต่ลักษณะการใช้งานคือไม่สามารถติดตามได้ว่าสิทธิ์นี้ได้มาจากไหน เมื่อไหร่ เพราะอะไร เราอาจจะใช้ 7-11 สองสาขาที่บ้านและที่ทำงาน แต่ไม่ว่าเราจะใช้ยาวนานแค่ไหนก็ไม่สามารถผูกข้อมูลได้ว่ามีการใช้งานข้ามไปมาระหว่างสาขา