2016

ผ่านมาครบปี คงเรียกได้ว่าเป็นปีแห่งการพัฒนาตัวเอง (หลังจากเรื่อยๆ มาตั้งแต่เรียนโทจบ)

เรื่องที่ดีที่สุดคงเป็นการกลับมาท่องศัพท์จริงจังอีกรอบ หลังจากพบว่าศัพท์ในหัวน้อยเกินไป ท่องแบบไม่ใช่ deck สำเร็จรูป แต่เวลาเจอศัพท์ที่ไม่รู้ก็จด แล้วเอามาหา Google Dictionary แล้วยัดลง Anki นั่งท่องไปเรื่อยๆ

เปรี้ยวตั้งเพิ่มศัพท์ใหม่วันละ 20 คำ (อันนี้ใครอยากใช้ Anki ตามต้องเตือนเลยว่าวันละ 10 คำก็โหดแล้ว) ดูน้อยแต่ระบบทบไปเรือยๆ ของ Anki ทำให้เวลาท่องไปเรื่อยๆ จะเจอประมาณวันละ 120-150 คำ ถ้าวันไหนหยุดก็ทบจนระเบิด ตั้ง max ไว้ 200 ต้องมาเคลียร์ออกหลายวันกว่าจะหมด ทำได้อยู่นานแต่พอมาธันวาแล้วธาตุไฟแตก ทำไม่ได้อีกเลย แต่กลับมาอ่านหนังสืออีกทีก็เออ ต้องข้ามหรือหาศัพท์น้อยลงจริงๆ

ที่บ้านซื้อจักรยานนอนปั่น (จะได้อ่านหนังสือไปด้วย) มาหลายปี ปั่นอยู่เรื่อยๆ แต่ปีที่ผ่านมาไม่ได้ปั่นเลย เพราะหน้าจอวัดความเร็วเสีย พยายามซ่อมอยู่พักนึงแล้วยอมแพ้ สุดท้ายพบว่าซื้อเซ็นเซอร์ความเร็วจักรยานมาแปะๆ เอาก็ใช้ได้ กลับมาปั่นต่อไป

ปีนี้อ่านหนังสือเยอะขึ้น หลังจากอ่านน้อยลงมาหลายปีติด เพราะบังคับตัวเองอ่านภาษาอังกฤษ (ซึ่งทำให้อ่านช้าลงมากๆ) แต่เจองาน Bad Wolf เข้าไป ดูอาการแล้วอัตราการดองหนังสือจะแย่ลงเรื่อยๆ

สิ่งที่ล้มเหลวคือไม่ได้ออกงานวิจัยเลย (กราบขออภัยอาจารย์พฤษภ์) ไม่ได้เขียนหนังสือ (อย่าว่าแต่ออก เขียนยังไม่ได้เขียน) และเขียนบทความยาวน้อยเกินไป

 

รถอัตโนมัติปฎิวัติ

วันก่อนได้กินข้าวกับคนไทยในซานฟราน มีประเด็นนึงบนโต๊ะอาหารที่คุยกันคือรถอัตโนมัติจะส่งผลกระทบแค่ไหน

  • เบื้องต้นแน่ๆ คือคนจะซื้อรถน้อยลง เพราะรถสามารถออกไปให้บริการได้มากขึ้น แบบเดียวกับทุกวันนี้ที่ Uber ใช้เวลาว่างของคนขับ+เวลาว่างของรถ
  • แนวคิดของ Elon Musk ที่บอกว่าเจ้าของรถจะปล่อยรถออกไปทำงานได้เป็นแค่ระดับแรก
  • ต่อไปบริษัทรถ หรือบริษัทแท็กซี่ขนาดใหญ่ เช่น Uber จะซื้อรถเอง มีรถในมือทีละนับหมื่นคัน
  • อัตราการใช้งานรถเหล่านี้จะสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ ทุกวันนี้เรามีรถส่วนตัว อาจจะขับคนเดียว วันละ 2 ชั่วโมง รวมๆ ซ่อมบำรุงบ้าง วันหยุดบ้าง เวลาใช้งานรวมๆ ปีหนึ่งอาจจะไม่ถึง 300 ชั่วโมง
  • บริษัทแท็กซี่เหล่านี้จะใช้รถตลอด 24 ชั่วโมง ซ่อมบำรุงเมื่อจำเป็น (ล้าง, ทำความสะอาด, เช็คระยะ, ซ่อม) แต่รวมๆ เวลาที่รถทำงานน่าจะสูงขึ้น อาจจะบอกได้ว่าแต่ละวันมันทำงาน 20 ชั่วโมง แต่ละปีทำงาน 7,300 ชั่วโมง ตัดเวลารถวิ่งเปล่า เหลือเวลาสร้างประโยชน์จริงอาจจะ 3,000-4,000 ชั่วโมง
  • บริการอย่าง UberPOOL จะยิ่งทำให้รถเหล่านี้มี utilization สูงขึ้น ช่วงเวลาที่มันทำงาน ปริมาณคนที่รถเหล่านี้ขนโดยเฉลี่ยจะสูงกว่ารถส่วนตัวอีกเป็นเท่าตัว ที่นั่ง “ผู้โดยสาร” มีสี่ที่นั่งแทนที่จะเป็นสาม เฉลี่ยๆ ตลอดเวลาทำงานมันคนขนได้เฉลี่ยสองคน จะเป็น 6,000-8,000 คน-ชั่วโมง ต่อปี
  • ด้วยประสิทธิภาพการใช้รถสูงขนาดนี้ ต้นทุนรถจะถูกลงอย่างมาก ค่าแท็กซี่โดยรวมจะถูกลงจนอาจจะชนะแม้แต่ขนส่งมวลชน คนจะชินกับการเรียกรถเมื่อไหร่ก็มา
  • ถึงตอนนั้น Uber จะมีตัวคูณไหม? เพราะตัวคูณคือแรงจูงใจเรียกรถให้เข้าไปในพื้นที่ขาดแคลน แต่เมื่อเป็นรถอัตโนมัติ ระบบจัดการจะจัดการจากศูนย์กลางทั้งหมด เหตุการณ์รถขาดแคลนกลายเป็นเหตุการณ์ทั้งโซน (กรุงเทพ, เชียงใหม่) ไม่ใช่เหตุการณ์เฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งของโซน ถ้าไม่มีตัวคูณ ทุกอย่างก็ยิ่งสะดวก
  • พอคนไม่มีรถ สิ่งที่จะหายต่อไปคือ “ที่จอดรถ” บ้านไม่จำเป็นต้องมีที่จอดรถ คอนโด อาคารสำนักงานมีแค่จุดรับส่งก็เพียงพอ ไม่มีต้องมีที่จอดใหญ่ๆ อีกต่อไป
  • ประสิทธิภาพพื้นที่ใช้งานอาคารรวมจะสูงขึ้น บ้านอาจจะถูกลง ห้องเยอะขึ้น คอนโดโดยทั่วไปถูกลง
  • เจ้าของรถอย่างบริษัทแท็กซี่จะสามารถสร้างที่จอดรถขนาดยักษณ์ ประสิทธิภาพสูง อาคารจอดรถที่ไม่มีถนนคั่นกลาง พื้นที่ทุกตารางเมตรถูกใช้จอดทั้งหมด ทางขึ้นทางลงเป็นทางเดียวกัน ไม่ต้องมีทางสวน เวลาจะจอดเข้าออกก็ LIFO อย่างเดียว พื้นที่ใช้สอยจะอาคารจอดรถถูกใช้จอดรถแทบทั้งหมด ไม่มีทางเดิน ไม่มีทางเข้าออกสำหรับคน ไม่มีทางระบายอากาศ แต่ละชั้นสูงกว่าตัวรถเพียงเล็กน้อยก็พอ ปริมาตรรวมๆ อาคารเกือบเท่าปริมาตรรถรวมที่จอดในอาคาร
  • ปริมาณรถรวมในแต่ละเมืองจะลดลง อุตสาหกรรมผลิตรถจะอยู่ที่ไหน?? จะอยู่อย่างไรถ้าทั้งเมืองมีลูกค้าเป็นบริษัทแท็กซี่สามสี่บริษัท แต่ละบริษัทซื้อรถระดับหมื่นคันแล้ววิ่งทั้งวันทั้งคืน สร้าง economics of scale สร้างอำนาจต่อรอง สร้างบุคคลากรของตัวเอง
  • ทั้งหมดนี้เป็นแค่ระดับแรก ที่รถวิ่งได้ด้วยตัวเอง ความฝันสูงสุดของรถอัตโนมัติคือการที่รถคุยกันเองในแบบที่มนุษย์ไม่มีทางทำได้
  • เมื่อรถคุยกันเอง สิ่งที่มันทำได้คือการร่วมมือกันอย่างละเอียด รถแต่ละคันจะขอให้คันหน้าช่วยแจ้งว่ามีอันตรายหรือไม่ แล้ว “เกาะ” ไปกับคันหน้าอย่างที่มนุษย์ขับไม่ได้
  • กระบวนการพวกนี้ไม่ต้องทำพร้อมกันทั้งหมด รถอัตโนมัติที่รองรับการสื่อสารระหว่างรถจะค้นพบกันเอง เมื่อมันพบกันเองแล้วจะเกาะกันไปเป็นขบวน นึกสภาพมีรถเก๋งสี่ห้าคันขับแนบๆ กันเป็นชุดๆ บนมอเตอร์เวย์
  • รถอัตโนมัติเหล่านี้จะใช้พื้นที่ถนนอย่างมีประสิทธิภาพในแบบที่เราไม่เคยเจอ เมื่อเราขึ้นมอเตอร์เวย์แล้วขับสัก 110 เราอาจจะต้องเว้นระยะคันหน้านับร้อยเมตร รถอัตโนมัติจะขับชิดกันอย่างน่ากลัว อาจจะเว้นระยะระหว่างคันไม่ถึงกี่เมตรหรือไม่ถึงเมตร ขณะที่วิ่งด้วยความเร็วสูง
  • ยิ่งรถอัตโนมัติมากขึ้นเรื่อยๆ แพ็กรถไฟของรถอัตโนมัติจะเยอะขึ้นเรื่อยๆ โดยรวมๆ ถนนจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น อัตราการระบายรถต่อเวลาจะสูงขึ้นเรื่อยๆ
  • เมื่อรถอัตโนมัติได้รับความนิยมมากขึ้น เราใช้มันเดินทางข้ามเมืองบ่อยขึ้น ทางหลวงจะถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • เราอาจจะพบว่าการขยายถนนไม่จำเป็นอีกต่อไป มอเตอร์เวย์ 8-10 เลนกลายเป็นสิ่งสิ้นเปลือง
  • ถนนรวมๆ ไม่กว้างขึ้น โครงการขยายถนนหยุดชะงัก ขณะที่ถนนเดิมมีการบำรุงรักษาน้อยลง
  • แค่รถอัตโนมัติเรื่องเดียวเราก็อาจจะไม่รู้แล้วว่ามันจะพาเราไปทางไหน คนขับรถที่ตกงานก่อนจะไปอยู่ที่ไหน, คนงานโรงงานรถยนตร์จะเป็นอย่างไร, แรงงานก่อสร้างที่ซ่อมบำรุงถนนจะทำอย่างไร

เป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ

 

Poll

หลังการเลือกตั้งพลิกโผ สิ่งที่ตามมาคือการนำผล “โพล” มาวิเคราะห์ในหลายแง่หาสาเหตุที่ผลการเลือกตั้งไม่เป็นไปตามคาด

โพลที่่เพิ่งคาดผลการเลือกตั้งผิดนั่นล่ะ ชุดเดียวกัน เวลาไม่กี่ชั่วโมงไม่มีใครมีเวลาทำโพลใหม่หรอก

โพลเป็นเครื่องมีที่คุณค่า แต่สื่อนำมาใช้อย่างเกินจริง เครื่องมือวิจัยที่ควรอ่านและแปลผลอย่างถ้วนถี่ วิจารณ์ถึงความแม่นยำอย่างสุขุม กลับถูกนำมากล่าวซ้ำไปมาจนกลายเป็นความจริงอันเป็นนิรันดร์ โพลที่สำรวจอย่างจำกัดยิ่งกว่างานวิจัยแคบๆ ที่ให้เฉพาะด้านของระดับปริญญาตรี กลับถูกขยายความไปมา

ไม่มีการแจ้งข้อจำกัด ไม่มีการตั้งคำถาม มันกลายเป็นความจริงที่เราเอามาคุยกัน เป็นคัมภีร์ของเรื่องราวประจำวัน

เธอรู้ไหม ว่าคนหนุ่มสาวเลือก X ไม่ได้เลือก Y ถ้านี่ให้แค่คนมีความรู้เรื่อง Z จะชนะตั้งเท่านั้นเท่านี้

เช่นเดียวกับการนำเสนองานวิจัยอื่นๆ ที่สื่อที่นำเสนอควรเป็นคนเสียเวลาไล่หาว่างานวิจัยที่ผู้วิจัยโม้ว่าดีงั้นงี้ มีข้อจำกัดอย่างไรบ้าง ซึ่งหากนักวิจัยมีจรรยาบรรณก็ควรใส่ไว้ในรายงานวิจัย แต่หากงานถูกนำมา PR องค์กรก็มักจะไม่ได้ระบุไว้ การแถลงผลโพลต่างๆ ก็ควรจะมีการกำกับที่ดีพอว่างานมีความครอบคลุมแค่ไหน (สำรวจแค่ออนไลน์ สำรวจอย่างไร สุ่มมาแค่ไหน) ไปจนถึงถ้ากระบวนการมันดูดีแล้วแต่มันเพิ่งผิดเพิ่งพังมา ก็ควรเตือนคนอ่านไว้ ว่ากรณีที่เพิ่งเกิดขึ้นเป็นกรณีพิเศษ อาจจะไม่ตรงกับผลแบบนี้

garbage in, garbage out โพลที่ทำโดยกระบวนการมีปัญหา แถมพิสูจน์แล้วว่ามีปัญหา (เพิ่งทำนายผลผิด) ไม่มีทางสร้างบทวิเคราะห์ที่ดีได้