ที่หนึ่ง

ไลนัสเคยพูดไว้ครั้งหนึ่งเมื่อเขาไปพูดที่กูเกิลว่า ผู้คนมักถามเขาว่าอนาคตของลินุกซ์จะเป็นอย่างไร

ความเชื่ออย่างหนึ่งของคนทั่วไปคือการที่บุคคลที่ทำอะไรที่ “remarkable” ได้นั้น “น่าเชื่อได้ว่า” พวกเขาเหล่านั้นมักจะมีความสามารถในการหยั่งรู้อนาคต แม้จะสักหน่อยหนึ่ง

กลับข้างกัน ความเป็นเหตุเป็นผลของความเชื่อนี้ มักจะกลายเป็นว่า “เพราะเขารู้อนาคต เขาจึงสามารถทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่”

แน่นอน ความสามารถในการมองแนวโน้ม การจับกระแสอย่างถูกทางเป็นเรื่องสำคัญ และมีผลเป็นอย่างมาก แต่ความเป็นจริงคือคนที่อยู่ที่หนึ่งได้นั้น มักจะไม่ได้มากจากการทำ “ถูกเสมอ”

ประเด็นสำคัญอยู่ที่ความทนทานต่อความผิดพลาดต่างหากเล่า

File-KL_Intel_Pentium_A80501 (1)

จำบั๊กในชิปเพนเทียมกันได้ไหม ครั้งหนึ่งเมื่อนานมาแล้ว Andrew Grove เคยถูกโทรศัพท์ปลุกขึ้นมาจากการตัดสินใจผิดพลาดว่าจะไม่มีการเปลี่ยนชิปเพนเทียมที่มีปัญหา ความเสียหายมูลค่ามหาศาล ทั้งในแง่ของการจัดการเปลี่ยนชิป “ทีละตัว” ให้กับผู้ใช้ทุกคน ทั้งในแง่ของชื่อเสียงและภาพพจน์ที่ป่นปี้ไปในชั่วเวลาไม่กี่วัน

ไมโครซอฟท์นั้นจัดได้ว่า “วืด” ยุคอินเทอร์เน็ตไปแล้วครั้งหนึ่ง Windows 3.1 นั้นไม่มีกระทั่ง IP-stack ในตัว (จำ trumpet winsock กันได้ไหม?) ไม่ต้องพูดถึงบราวเซอร์ที่ Netscape นั้นครองตลาดไปอย่างเบ็ดเสร็จ

โซนี่ทำแบตเตอรี่เสี่ยงต่อการระเบิดทีเป็นแสนชุด MemoryStick ที่บอกได้ว่า “ไม่รอด” โตชิบานั้นทำใจกับ HD-DVD ไปแล้ว

ความหายนะเกิดขึ้นเสมอ เมื่อคุณทำอะไรบางอย่าง จุดสำคัญที่สุดอาจจะไม่ใช่ว่าทำอย่างไรจึงจะถูกต้องเสมอ แต่เป็นการแก้ไขได้อย่างถูกต้องเมื่อคุณทำผิดต่างหาก

แม้ว่าจะมีลูกตุกติกอยู่บ้าง (ผิดถูกก็ว่ากันไป) แต่ต้องยอมรับว่าไมโครซอฟท์ทำเกมกับอินเทอร์เน็ตได้ตรงประเด็น จากการทิ้ง MSN ที่มัวแต่หลงทางไปแข่งกับ AOL มาพัฒนาบราวเซอร์, ซื้อ Hotmail, พัฒนา MSN Messenger

ผมไม่เชื่อนักว่า IE ครองตลาดเพราะลูกตุกติกเพียงอย่างเดียว ในสมัยหนึ่งแล้ว IE เป็นบราวเซอร์ที่ทันสมัย เด็มไปด้วยฟีเจอร์ “วื๊บว๊าบ” เพราะยุคนั้นมันแข่งกันอย่างนั้น ไม่ต้องถามหามาตรฐานกัน แถม Frontpage ก็ช่วยสอนเด็กๆ สร้างเว็บมานักต่อนัก

ภูเขาลูกนั้นไมโครซอฟท์ข้ามมาได้ และไมโครซอฟท์ก็ได้ “อิทธิพล” ในตลาดอินเทอร์เน็ตมาจนทุกวันนี้ ภูเขาลูกหน้าคือ Mobile Internet นั้นไมโครซอฟท์ก็ทำท่าจะวืดไปแล้วอีกครั้ง W3C ที่กลับมามีอิทธิพลอีกครั้งก็ดูจะอยู่นอกเรดาร์ของไมโครซอฟท์นานเกินไป

กลับมาดูปาล์มที่วืดไปจากตลาด Smartphone รอบแรกทั้งที่อยู่ในตำแหน่งที่ดีมาก จากการครองตลาด PDA แบบเบ็ดเสร็จ ผมเองเขียนข่าวไอทีในบล็อกตัวเองครั้งแรกๆ ก็เพราะอ่านข่าวปาล์มจำนวนมาก เพื่อจะหาข้อมูลซื้อใช้เองด้วยซ้ำไป และสุดท้ายก็ได้ Zire 72 มาใช้งาน จนทุกวันนี้ก็ยังใช้งานอยู่ แต่ปาล์มเองกลับไม่สามารถออกโทรศัพท์ได้ จนกระทั่งมีบริษัทอื่นมาซื้อ OS ไปทำโทรศัพท์

แต่การแก้ปัญหาของ Palm กลับไม่ได้ดึงปาล์มกลับมาได้ดีพอ การเข้าซื้อ Handspring ช่วยซื้อเวลาให้ปาล์มอยู่ไม่นานนัก สัดส่วนตลาดลดลงราวกับเลือดที่ถูกสูบออก การกลับตัวไม่ทันส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่จนกระทั่งการวางตลาด Palm Pre ที่ดูจะ ช้าเกินไป น้อยเกินไป และอิทธิพลของปาล์มนั้นไม่พอที่จะดึงตลาดได้อีกต่อไป

ความผิดพลาดในวันนั้นเป็นแผลที่ปาล์มไม่มีวันลืม

ว่ากันว่าอุปสรรคช่วยให้เราแข็งแกร่ง บริษัทจำนวนมากที่อยู่เป็นอันดับหนึ่งหลายครั้งสร้างแผนกที่ซ้ำซ้อนเพื่อแข่งกันเอง บริษัทรถใหญ่ๆ มักแบ่งทีมออกแบบเป็นหลายชุดเพื่อสร้างการแข่งขัน ฝ่ายไอทีหลายๆ ที่สร้าง “ฝ่ายแฮกเกอร์” ขึ้นมาเป็นศัตรูกัน

การทำถูกเสมอ ไม่ใช่เรื่องน่าดีใจนัก ผู้บริหารที่ดีมักตั้งคำถามว่า “แล้วถ้ามันผิด” จะเกิดอะไรขึ้นกัน ครึ่งหนึ่งที่เราผิดพลา มันจะพาให้เราล่มจไปกับมันเลยไหม?

 

lewcpe

CTO at MFEC PLC. Chief Editor at Blognone.com

 

One thought on “ที่หนึ่ง

Comments are closed.