วันนี้นั่งถกกับ @udomsak และ @untsamphan ถึงประเด็นสิ่งแวดล้อมแล้วอยากรวบยอดความคิดไว้อีกที
บทสรุป: ผมเบื่อแฟชั่นรักษ์โลกตอนนี้ ผมว่ามันขาดความจริงใจ ขาดการให้ความรู้พื้นฐาน และอาจจะไร้ประโยชน์
เอาล่ะ มาลงรายละเอียดกัน
ผมเคยเขียนถึงเรื่องนี้ไปแล้วครั้งหนึ่ง ผมกลับมาครั้งนี้หลังจากอ่านหนังสือของ Micheal Crichton ผู้เขียน Jurassic Park (อ่านเล่มแรก) และเพิ่งอ่านจบเล่มที่สองคือ State of Fear
ตอนผมอ่าน Jurassic Park นั้นก็สัมผัสได้ว่า Crichton นั้นไม่ชอบนักอนุรักษณ์ สิบสี่ปีต่อมา State of Fear นั้นแสดงถึงช่วง “ต่อแตก” หนังสือหน้า 700 หน้าอุทิศให้การ “กินโต๊ะ” นักอนุรักษณ์อย่างเต็มอิ่ม ที่น่าสนุกคือ Crichton นั้นเป็นนักค้นคว้า ขณะที่ Al Gore มีสไลด์สวยๆ บอกว่างานวิจัยเกือบทั้งหมดเห็นด้วยกับ Global Warming แต่ Crichton ยกข้อมูล, กราฟ, และคำพูดในงานตีพิมพ์มาซัดจนเฝือ
Al Gore อ้างว่างานวิจัยนับพันเห็นด้วยกับ Global Warming แต่เอาจริงๆ ผมเชื่อว่า Gore อ่านไม่ถึงร้อยแน่ (ถึงสิบรึเปล่ายังน่าสงสัย)
Crichton นั้นสุดโต่งมาก คือพยายามชี้ให้เห็นว่า Global Warming นั้นเป็นเรื่องที่ไม่ควรสนใจ แต่ให้ไปสนใจความยากจน น้ำดื่ม ฯลฯ น่าจะดีกว่า ซึ่งผมไม่เห็นด้วยนัก เพราะ
– โลกอายุ 4,500 ล้านปี มีภาวะที่เหมาะกับมนุษย์ (ที่จะสร้างอารยธรรมได้) มาประมาณ 20,000 ปี บางมาก
– การเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าเพราะเรา หรือเพราะธรรมชาติ อาจพาไปสู่ความซวยว่าโลกไม่เหมาะกับเราอีกต่อไป (แม้มันอาจจะตรงกันข้ามก็เถอะ) แต่ผมไม่อยากเล่นหวยเท่าใหร่กับงานนี้
ดังนั้นไม่ว่าโลกจะร้อนเพราะอะไร ถ้าเราทำอะไรสักอย่างได้ ให้มันร้อนช้าลงอีกหน่อย ผมก็เห็นด้วยที่จะทำ
แต่สภาวะตอนนี้ โลกร้อนบ้านเราเริ่มกลายเป็นศาสนา และการช่วยโลกร้อนกำลังกลายเป็นการล่าแม่มด ที่อยู่ดีๆ พลาสติก โฟม และวัสดุสังเคราะห์หลายอย่างก็กลายเป็นความบาปที่ให้อภัยไม่ได้ ภาพน่าเกลียดกองขยะพะเนินจำนวนมากถูกฉายซ้ำไปมาเพื่อบอกว่ามันแย่เพียงไหน
มันแย่ และผมไม่คิดว่ามันเป็นเรื่องโกหก
เรื่องโกหกคือการเสนอทางออกที่ง่ายจนทุกคนทึ่ง เพียงแค่เลิกใช้โฟม แล้วมาใช้ถุงผ้า, ถุงกระดาษ
แล้วภาพก็ตัดไป มีป่าไม้ นกบินไปมา ช้าง ม้า แรด กวาง เก้ง กระทิง ยืนติดกันไม่สองสองเซนติเมตรโดยไม่กัดกันแม้แต่น้อย
ง่ายดีนะครับ ทำไมเราต้องกลัวโลกร้อนกันล่ะอย่างนั้น????
ภาพที่ถูกฉายซ้ำไปมาเหล่านี้ ไม่เคยฉุกให้คนรับชมตั้งคำถาม มันเสนอปัญหา และบอกทางออกให้ราวกับอุโมงล้างรถด้วยเครื่อง
– ไม่มีใครนึกออก ว่ากระดาษที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนี่เบียดเบียนพื้นที่ป่าไปปลูกยูคาลิปตัสไปเท่าใหร่
– ไม่มีใครตั้งคำถาม ว่าจริงๆ แล้วไอ้ถุงผ้าที่แจกกันเป็นบ้าเป็นหลังเมื่อปีที่แล้วมันถูกใช้ซ้ำกี่ครั้ง
ข้อเท็จจริงคือถุงพลาสติกเป็นหนึ่งในหีบห่ออาหารที่มีประสิทธิภาพในด้านพลังงานสูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคิดถึงพลังงานการขนส่ง นึกภาพถุงพลาสติกสักกิโล มันมีถุงนับร้อยๆ อัดแน่นอยู่ พลังงานจากการขนส่งเป็นสิ่งที่เราตัดออกจากสมการไม่ได้ แต่เราเลือกที่จะลืมมันไปอย่างร้ายกาจ เราเลือกที่จะลืมว่าถุงผ้าที่ Wal-Mart ใช้โฆษณาว่ารักโลกผลิตในเมืองไทย และลงเรือซึ่งใช้น้ำมันและพ่นคาร์บอนไปสหรัฐฯ
ผมไม่ได้เชียร์ถุงพลาสติก ผมไม่ได้คิดว่าเราควรใช้มันโดยไม่คิดมาก
เมื่อหลายเดือนก่อนผมเดินอยู่ในห้างใหญ่กลางกรุง บริษัทกระดาษขนาดยักษ์กำลังพยายามบอกว่ามันรักโลกแค่ไหน ด้วยการจัดนิทรรศการขนาดใหญ่ และใช้กระดาษทั้งงาน.. กระดาษคุณภาพสูงมากเนื้อหนาพิเศษถูกนำมาใช้แทนโครงเหล็กที่พบเห็นได้ตามนิทรรศการทั่วไป
รักโลก????
ผมเริ่มสรุปได้ในใจว่าสังคมไม่ได้รักโลก เราแค่อยากหล่อขึ้นมาอีกหน่อยนึงด้วยการใส่ผ้าไม่ฟอกสี ใส่กางเกงสีกากี
ผมไม่สามารถเข้าใจได้ว่าแทนที่เราจะพยายามหาทางออกที่ง่ายๆ ทำไมเราใช้ให้น้อยลง การใช้น้อยลงไม่ต้องการการพิสูจน์ใดๆ ถุงพลาสติก 1 ใบใช้พลังงานน้อยกว่าถุงพลาสติก 2 ใบ ขยะลดลง ก๊าซพิษลดลง
ข่าวร้ายคือเศรษฐกิจอาจจะหดตัวลง…
และเหมือนว่าเราจะยอมรับไม่ได้ เราไม่อยากบริโภคน้อยลง ไม่มีใครยินดีเมื่อการไฟฟ้าระบุว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าที่ส่วนใหญ่มาจากก๊าซธรรมชาติและถ่านหินนั้นเริ่มมีสำรองเหลือมากขึ้น ทำให้ไม่ต้องสร้างโรงงงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมากเท่าที่เคยคาดไว้ก่อนหน้านี้
เราดีใจกับเงินนับแสนล้านที่ถูกอัดลงมาในระบบ การบริโภคจะมากขึ้น อุตสาหกรรมรถยนต์จะกลับมาเป็นบวก
น่าดีใจ…..
ทุกคนเลิกรีดผ้า ลดโลกร้อนได้แน่ๆ เยอะมากด้วย
ผมโดนถามบ่อยมากว่าทำไมใส่เสื้อใม่รีด หาว่าไม่เรียบร้อย ความเรียบร้อยไม่ได้ดูที่เสื้อเรียบหรือไม่เรียบ ให้เสื้อรีดแต่ตอแหลมีถมไป
@RTSP
นั่นล่ะประเด็น มันมีอะไรหลายๆ อย่างที่ประหยัดได้จริงๆ และไม่ได้จำเป็นกับชีวิต
ทำไมต้องถุงกระดาษ ก็ออกกฏหมายไปเลยว่าห้ามขายของชำพ่วงถุง จะถุงอะไรก็ช่าง
จำเป็นต้องใช้ก็ซื้อใช้ ไม่จำเป็นก็แบกของเป็นชิ้นๆ
ลองไปบอกนักอนุรักษ์ จะได้คำตอบว่า “เฮ่ย… นั่นก็เกินไป…”
ทำอะไรไปก็เหมือนจะไปกระทบหมดเลย
– ใช้ถุงถาวรโรงงานทำถุงยอดขายตก -> คนงานออก
– เอาถุงไปเอง ก็หยิบใส่เองด้วย -> หนุ่มสาวห้างตกงาน
– ไม่รีดผ้า -> คนรีดผ้าตกงาน
– ไม่กินข้าวเย็น -> ร้านอาหารก็ขาดรายได้ไปเลย
– บังคับปิดร้าน 2 ทุ่ม -> พนักงานตกงาน
– โรงงานปิดไป คนตกงานเห็นๆ (แต่ก็อาจจะดีกับหลายๆ คนนะ แบบน้ำทำการเกษตรเยอะขึ้นแน่ๆ มลพิษก็อาจจะลด)
ผมมองภาพรวมไม่ออกเลย ถ้าลดการบริโภคน้อยลงแล้ว คนตกงานในระยะสั้น แล้วจะมีอะไรเกิดขึ้นต่อ ระบบมันจะปรับๆ ของมันไปเอง หรือว่ามันจะออกมาเป็นอย่างไร?
แต่ผมก็ลดบริโภคลงนะ เพราะกินเยอะไปก็เท่านั้นอ้วนด้วย จนด้วย (ไม่ค่อยได้นึกถึงโลกร้อนเลย)
มนุษย์ก็แบบนี้ เคยอ่านเจอเมื่อ 2-3 ปีก่อนว่ากระแสลดโลกร้อนจะตื่นตูมมาก แล้วไม่นานมันก็จะพลิกไปอีกทาง เพราะทุกคนโดดใส่กันอย่างไม่ลืมหูลืมตา แล้วคำถามเหล่านี้ก็จะตามมา
อย่างการผลิตถุงผ้าเป็นบ้าเป็นหลัง เพื่อพยายามทำแบรนด์ตัวเองว่าลดโลกร้อน กลับยิ่งไปเร่งการทำลายทรัพยากรมากกว่าเดิม
คุณลิ่วไม่ได้ต่อต้านการลดโลกร้อน หรือแม้แต่เกษตรอินทรีย์ ที่คุณต่อต้านน่าจะเป็นการกล่อมคนให้เชื่อไปในทางเดียวกันโดยที่แต่ละคนไม่ต้องคิดเอง ซึ่งเรื่องโลกร้อนคงเป็นแค่ประเด็นเดียว
พอโลกร้อนเป็นแฟชันก็น่ารำคาญนะ อย่างแฟชันที่มีถุงผ้าสวยๆกันเยอะๆ แต่จะทำให้คนจำนวนมากรับรู้เรื่องยากๆเรื่องหนึ่ง คงจำเป็นต้องใช้วิธีนี้มั้ง จะให้แต่ละคนคิดกันเองจากข้อมูลการวิจัยคงลำบาก
@untsamphan
ผมไม่ต่อต้าน และไม่สนับสนุน ทั้งโลกร้อนและเกษตรอินทรีย์ครับ
อย่างเกษตรอินทรีย์เอง ผมกังวลใจหลายจุด อย่างที่คุยกันเมื่อวานว่าการใช้สารเคมีช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในแง่ของผลผลิตต่อพื้นที่ได้อย่างชัดเจน มันช่วยลดผลกระทบในแง่ของการรบกวนพื้นที่ธรรมชาติได้
ถ้าเกษตรอินทรีย์ ทำได้ในระดับเดียวกัน แถมพอด้วยข้อดีอื่นๆ ผมว่าเราก็ไม่มีข้อแม้อะไรที่จะไม่สนับสนุน
แต่ผมจะไม่สนับสนุนมัน แค่เพราะมันเป็นเกษตร “อินทรีย์”
@untsamphan
การบอกให้คนเรียนรู้มันลำบากครับ
แต่การสร้างกระแสเพียงเพราะว่าอยากให้คนทำโดยไม่เรียนรู้นั้น ผมคิดว่ามัน “มักง่าย”
เพราะสุดท้ายแล้วกระแสมันสร้างผลกระทบที่เลวร้ายกว่าเดิมไปเรื่อยๆ
สรุปควรอยู่บ้านนอนขึ้นอืด 555 :D
ขอขอบคุณสำหรับการโพสต์ที่น่าสนใจนี้
เราได้มีการทำงานร่วมกันของผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมเพื่อให้โลกเป็นสถานที่ ที่ดีกว่า