ผมเคยได้ยินบิล เกตต์พูดว่าอนาคตของคอมพิวเตอร์คือโทรศัพท์มือถือมานานมากแล้วตั้งแต่สมัย OLPC ออกมาใหม่ๆ ผมเข้าใจมาเสมอว่านั่นเป็นเรื่องของการเมืองเพราะ OLPC มีท่าทีผลักดันโอเพนซอร์สอย่างแข็งกร้าว
แต่มาวันนี้ต้องยอมรับว่าผมเข้าใจผิด และบิล เกตต์ มองโลกได้ไกลกว่าคนอย่างผมหลายก้าวนัก
ผมมาตระหนักความจริงข้อนี้เอาตอนที่เขียนข่าว[โทรศัพท์มือถือใน Blognone](http://www.blognone.com/topics/mobile) เพิ่มขึ้นในช่วงหลังมานี้ ต้องยอมรับว่ามันเพิ่มยอดผู้เข้าชมเว็บได้อย่างทรงประสิทธิภาพทีเดียว
มาร์คเคยบอกผมว่ามีคนบอกมาอีกที (งงเปล่า?) ว่าสิ่งหนึ่งที่ Blognone ต่างจากเว็บอื่นๆ คือคนเข้ามาอ่านเว็บนี้ปรับตัวเข้ากับเว็บ แทนที่ตัวเว็บจะปรับตัวเข้าหาคนอ่าน
ผมยินดีกับจุดแข็งเช่นนี้ แต่ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่าผมคาดหมายให้ Blognone กลายเป็นสื่อกระแสหลักไปด้วยในเวลาเดียวกัน ขณะที่ Blognone นำเสนอข่าวต่อต้านการปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร และสนับสนุนโอเพนซอร์ส เราก็มีนโยบายชัดเจนที่จะต้อนรับบทความทางการค้าหลากหลายรูปแบบ อย่าง Press Release และ Blognone Jobs ก็นับว่าเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีทั้งคู่
ความสำเร็จในแง่ปริมาณคนของข่าวโทรศัพท์มือถือเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ผมสนใจ เราอาจจะต้องวางสัดส่วนข่าว “กระแสหลัก” กับข่าว “ชี้นำสังคม” ไปในสัดส่วนที่พอเหมาะเพื่อให้โลกได้รับรู้อีกด้านหนึ่ง และขณะเดียวกัน เราต้องการความมั่นใจว่าคนที่รับรู้อีกด้าน ไม่ได้มีแค่คนที่อยู่ “อีกด้าน” รับรู้กันเอง
ความตั้งใจของผมแล้ว ความพอเหมาะระหว่างข่าวแต่ละด้านน่าจะทำได้โดยการที่ผู้สนใจแต่ละด้านเขียนข่าวกันเอง เมื่อคิดว่าข่าวอีกด้านน้อยเกินไปแล้วก็จะมีความพยายามที่จะเขียนข่าวในเรื่องอื่นๆ เพิ่มเข้ามา
เราพบว่าเราคงไปถึงจุดนั้นได้ยาก
Blognone ยังต้องพยายามชี้นำชุมชนของเราให้เป็นชุมชนแห่งการให้ (Contribute) โดยให้ทุกคนให้ส่วนเล็กๆ ของตัวเอง เช่นหนึ่งคนเขียนหนึ่งข่าวต่อเดือน ด้วยยอดสมาชิกหกพันคน เราจะมีข่าวอ่านกันวันละ 20 ข่าว น่าจะมากกว่าเซ็คชั่น Sci-Tech ของหนังสือพิมพ์เล่มไหนๆ
เรากำลังไปถึงจุดนั้น ตัวเลขปีที่แล้วจำนวนคนเขียนเราเริ่มกระจายตัวขึ้น แต่เริ่มหยุดนิ่งในช่วงหลายเดือนมานี้ อาจจะถึงเวลาที่เราต้องคิดแนวทางใหม่ๆ กันอีกครั้ง
ลืมไปแล้วว่าเคยพูดอะไรไว้ (ปกติก็ไม่เคยจำได้อยู่แล้ว)