We’re just “pity”

นานมาแล้วผมเคยไปยืนอ่านหนังสือฟรีในร้านหนังสือแถวโบสถ์

หนังสือเล่มนั้นเป็นรวมเรื่องสั้นที่เนื้อหาค่อนข้างหนัก ผมอ่านไปได้แค่เรื่องเดียวแล้วก็พบว่าตัวเองคงไม่อยากอ่านหนังสือแนวนี้เท่าใหร่เลยหยุดอ่านไว้แค่เรื่องเดียวที่ลองอ่านนั่นล่ะ

เนื้อเรื่องของเรื่องสั้นเรื่องนั้นพูดถึงครอบครัวหนึ่งที่มีโอกาสได้ไปช่วยเหลือหญิงท้องแก่ที่ขาดที่พึ่งด้วยการรับมาอยู่ในบ้าน

เวลาผ่านไป หญิงสาวคนนั้นดูเหมือนจะมีชีวิตที่สบายเกินไปในสายตาของสมาชิกครอบครัว ทุกคนเริ่มอึดอัดใจที่ต้องช่วยเหลือหญิงคนนี้ พวกเขาเริ่มกดดันให้หญิงคนนี้ต้องทำงาน และกดดันจากสายตาและความรู้สึก

เรื่องราวจบลงที่หญิงคนนั้นทำงานจนกระทั่งลูกคลอดออกมาระหว่างทำงาน และครอบครัวก็ตาสว่างขึ้นมาว่าพวกเขาไม่ได้อยากช่วยให้หญิงคนนี้มีชีวิตที่ดีกว่าเดิมเลย

พวกเขาแค่อยากให้มีคนที่อยู่ในระดับที่ต่ำกว่ามาอยู่ในบ้านเพื่อให้รู้สึกว่าตัวเองนั้นสูงขึ้นสักหน่อย และพวกเขาอยากให้มันเป็นอย่างนั้นตลอดไป

ผมนึกถึงสังคมไทยในตอนนี้แล้วสังเวชกับความคิดของชนชั้น “ปัญญาชน” จำนวนมาก นานมาแล้วที่เรามองภาพว่าคนต่างจังหวัดขาดโอกาส เราสร้างภาพว่าเราอยากช่วยเหลือเขา ด้วยการออกไปสอนหนังสือเด็กกันปีละสามสี่วัน กับสร้างศาลาที่ไม่รู้จะเอาไปทำอะไรให้หมู่บ้านละหลัง

แล้วเราก็รู้สึกภูมิใจในตัวเองว่าเรานี่ช่างสูงส่งเสียจริงที่เราได้ช่วยเขาถึงเพียงนี้

มาวันนี้คนต่างจังหวัดเหล่านี้แหละ ที่เราบอกนักหนาว่าเขาควรได้รับโอกาสต่างๆ นาๆ เริ่มมีเสียงในสังคม

เรากลับลำกันทุกอย่าง ด้วยการดูถูกพวกเขาว่าโง่ และควรถูกกดให้อยู่ในระดับต่ำกว่าเช่นนั้นต่อไป พวกเขาไม่ควรมีสิทธิ์มีเสียงอะไร

เราอยากให้พวกเขารับการ “บริจาค” จากเราตลอดไป

แล้วเราก็รู้สึกว่าเราเป็นคนดีเสียจริง

 

lewcpe

CTO at MFEC PLC. Chief Editor at Blognone.com

 

8 thoughts on “We’re just “pity”

  1. ชอบบทความนี้มากที่สุดใน blog แล้วครับ

  2. เป็นความจริงที่ไม่เคยคิดจากมุมนี้มาก่อนค่ะ ขอบคุณที่เขียนอะไรดีๆให้อ่านนะคะ (ดีๆไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องที่ดีต่อเราเสมอไป…)

  3. !!!

    ไม่เคยจะหันมามองความจริงข้อนี้เลย

  4. ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง เราอาจอยากให้เขาดีขึ้น แต่ก็พบว่าอาจไม่อยากให้เขาดีไปกว่าเรา แต่เราก็อยากให้เขาดีกว่าที่เป็นอยู่ และเขาก็ดีกว่าที่เคยเป็นอยู่จริง ๆ เราได้พบข้อจำกัดของตัวเองในความรู้สึก เขาได้พบโอกาสที่เปิดให้มากขึ้น ทุกคนได้มีการเรียนรู้ ได้มีการเปลี่ยนแปลง ทางออกกลับเป็นไปได้หลายแบบ

    • เราพบว่าเราไม่อยากให้เขาได้ดีไปกว่าเราจริง ๆ และเขาก็ได้รับความรู้สึกนี้และรู้สึกแย่ไปด้วย เกิดเป็นความอิจฉาซึ่งกันและกัน
    • เราพบว่าเราไม่อยากให้เขาได้ดีไปกว่าเราจริง ๆ แต่เขาก็รู้สึกได้และเข้าใจและเขาก็ขอบคุณในสิ่งที่มีให้ ให้เขาได้รับโอกาสที่ดีขึ้น เขาดูแลตัวเองต่อไปได้ดีขึ้น ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีเราแล้ว และไม่โกรธเรา
    • เราพบว่าเราไม่อยากให้เขาได้ดีไปกว่าเรา เราได้เรียนรู้ตัวเองและปรับจิตใจ เอาชนะใจตัวเองได้ และเขาก็ได้รับโอกาสนี้ไป ช่วยให้ตัวเขาดีขึ้น เกิดประโยชน์แก่ทั้งเราและเขา

    ทุกทุกอย่างไม่ได้มีทางออกทางเดียว เป็นไปได้หลายรูปแบบ เราเองนั่นแหล่ะเป็นคนชี้ ถ้าเราชี้ไปที่ไม่ดีมันก็ออกไปไม่ดี ถ้าเราชี้ไปที่ดีมันก็ออกไปดี

    จริงหรือที่ เราอยากให้พวกเขารับการ “บริจาค” จากเราตลอดไป

  5. ตอบคุณวี: ผมเขียนบทความนี้ในบริบทของคนกรุง ในยุคที่เสียง “คนกรุงคือปัญญาชน” กำลังเฟื่องฟู คำว่า “รากหญ้า” และ “ประชานิยม” กลายเป็นสิ่งน่ารังเกียจ

    แน่นอนว่าจากประชากรนับล้านๆ ของเมืองไทย คนนับล้าน (นับเอาจากที่จบปริญญาตรีก็ได้) เป็นคนชั้นกลาง-สูง ไม่ได้คิดแบบเดียวกันหมด

    สุดท้ายแล้วทางออกไม่ได้มีทางเดียวแน่นอน

    แต่ผมกำลังเขียนถึงคนที่คิดอย่างใจแคบเช่นนี้ และยังคงคิดอยู่ในตอนนี้ ถ้าปรับจิดใจกันได้แล้ว ผมก็ยินดีด้วยครับ

    ส่วนเรื่องที่ว่าคนฝั่งรับเขาโกรธหรือไม่ จริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องที่ผมสนใจเลย ในเรื่องเองก็ไม่พูดถึงเลย สิ่งที่ผมกำลังเขียนถึงคือความจริงใจของผู้ที่เต็มไปด้วยโอกาสอย่างคนกรุงเทพต่างหาก ว่าเรามีความจริงใจกับ “เพื่อนร่วมชาติ” ของเราแค่ไหนกัน เรายินดีที่จะเปิดโอกาสให้พวกเขาแค่ไหน เรายอมรับจริงๆ รึเปล่าว่าเขาก็เป็นประชาชนเท่าๆ กับเรา

    ผมเชื่อว่ามันไม่จริงสำหรับคนจำนวนมาก

    นี่ไม่ต้องพูดถึงมุมที่กว้างกว่านั้นเช่นเพื่อนร่วมโลก ที่วันนี้เรายังเอาชื่อประเทศอื่นๆ มาเป็นคำดูถูกกันอยู่เลย

Comments are closed.