Monoculture

วันก่อนไปเรียน Knowledge Management กับ อ.ยืนมาในฐานะ Guest Speaker อาจารย์พูดถึงหลายเรื่องมากๆ แต่ประเด็นหนึ่งที่ติดใจคือเรื่องของ Monoculture[^1] ที่ อ.ระบุว่าโลกกำลังพบกับกระแสของวัฒนธรรมที่เชี่ยวกราก และหลอมรวมเอาวัฒนธรรมทั้งโลกเข้าเป็นวัฒนธรรมเดียวกัน

ผมว่าจะเขียนเรื่องนี้ตั้งหลายวันแล้วแต่มาเจอกับ[ประเด็นภูฏานใน Blognone][bn] เสียก่อน เลยคิดว่าเรื่องนี้น่าสนใจพอที่จะเขียนเป็นเรื่องเดียวกัน

ความขัดแย้งอย่างหนึ่งคือสังคมมนุษย์แทบทั้งโลกนั้นต้องการความเจริญ เราคงไม่เจอสังคมไหนที่ไม่อยากให้ตัวเลขที่เกี่ยวกับความเป็นอยู่เช่น อายุขัยเฉลี่ย, ความทั่วถึงของสาธารนูปโภค, รายได้ต่อหัว ฯลฯ ดีขึ้นตามกาลเวลา แต่เมื่อก่อนเวลาเราสร้างเขื่อน หรือต่อสายไฟนั้น ยังไม่เคยมียุคไหนที่เราต้องเสี่ยงกับภาวะสูญเสีย “ความเป็นไทย” มากเท่าในยุคนี้

เพราะความเจริญในยุคนี้คือการสื่อสาร

มันไม่แปลกอะไรที่เราอยากรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมของเราให้คงอยู่นานเท่านาน แต่เมื่อชนรุ่นหลังของเราเติบโตขึ้นมาด้วยวัฒนธรรมที่กำลังได้รับความนิยมในอีกซีกโลก ไม่ว่าจะเป็น Cosplay, iPod, หรือ Netbook เราอาจจะพบว่าวัฒนธรรมดั้งเดิมบางอย่างของเรากำลังอยู่ในภาวะอันตราย

สิ่งที่เราต้องการคือความเจริญโดยไม่ต้องถูกบุกรุกทางวัฒนธรรม (อย่างน้อยๆ ก็ในความรู้สึกของเรา) คำถามใหม่คือ มันเป็นไปได้หรือ มันเป็นไปได้หรือที่เราจะรับเอางานวิจัยใน IEEE Xplore โดยไม่ได้รับวัฒนธรรมแฮมเบอร์เกอร์, หรือเราจะไปเรียนรู้อาซิโมโดยไม่เอาการ์ตูนญี่ปุ่น

ผมมองว่าภูฏานเองกำลังตั้งคำถามเช่นนี้ และพยายามบอกว่ามัน “ทำได้”

ขณะที่เรากำลังมองภูฏานด้วยความทึ่งในความ “บริสุทธิ์” ของวัฒนธรรม ผมกลับมองว่าด้วยช่องทางการเข้าถึงของวัฒนธรรมภายนอกที่ยังไม่มากนัก เช่นการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพียงระดับไม่กี่หมื่นคน ปริมาณการเรียนต่อต่างประเทศที่ไม่สูงมากนัก ความบริสุทธิ์ทางวัฒนธรรมของภูฏานนั่นก็เป็นแค่ภาวะที่วัฒนธรรมภายนอก “ยัง” บุกไปไม่ถึงเท่านั้นเอง

แต่ด้วยภาวะที่ประเทศต้องนำเข้ากระดาษทิชชู่ และส่งนักเรียนทุนมาเรียนเมืองไทย ภูฏานไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากเปิดรับเอาความเจริญจากภายนอกเข้าประเทศให้มากที่สุด ด้วยภาวะเช่นนี้สร้างภาพให้เราเห็นว่าความเจริญที่เกิดขึ้นไม่ได้ไปกระทบกับวัฒนธรรมของเขาในระดับเดียวกับบ้านเรา

ผมตั้งคำถามว่าภาวะเช่นนี้ของภูฏานเป็นภาวะที่ยั่งยืนแน่หรือ ภาพคนอยู่ในไร่นาอย่างสงบและเรียบง่าย จะยังคงอยู่โดยที่ตัวเลขความเจริญทางเศรษฐกิจจะเติบโตขึ้นไปดังที่หวัง

ถ้าทำได้คงเป็นปรากฏการณ์ที่น่าทึ่ง และฉีกตำราที่พูดถึง Globalization ไปหลายเล่ม

อีกสัก 25-50 ปีคงรู้กัน

[^1]: [Monoculture][wp] จริงๆ แล้วใช้กันในประเด็นของกสิกรรม เป็นการพูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่าระบบนิเวศจะอ่อนแอลงมากเพราะการเกษตรสมัยใหม่ที่ขาดความหลากหลาย ระบบรักษาความปลอดภัยของคอมพิวเตอร์ก็ใช้คำเดียวกับบอกถึงความอันตรายเมื่อมีการใช้ระบบที่เหมือนๆ กันจำนวนมากๆ ในบริษัท อย่างม.เกษตรก็เคยโดน Blaster ที่วิ่งไปมาบนเครื่องวินโดวส์ใน ม. แล้วเอาออกให้หมดไปยากมาก

[wp]: http://en.wikipedia.org/wiki/Monoculture
[bn]: http://www.blognone.com/node/8225#comment-57196

 

lewcpe

CTO at MFEC PLC. Chief Editor at Blognone.com

 

3 thoughts on “Monoculture

  1. ครึ่งปีก่อนต้องทำการบ้านเขียนวิเคราะห์บทความอันหนึ่งที่เกี่ยวกับ Modernisation ในภูฐาน จากบทความนั้นผมเข้าใจว่าภูฐานนั้นก็มีปัญหาเรื่องวัฒนธรรมใหม่ ที่ไม่สอดคล้องกับกลุ่มอนุรักษ์เช่นกัน คนเลือกที่จะอยู่บ้านดูทีวีและเล่นอินเตอร์เน็ตกันมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ภูฐานนั้นเริ่มก้าวขึ้นไปสู่ความเป็น “ทันสมัย” อยางเต็มตัวหลังจากที่กษัตริย์คนก่อนเปิดไฟเขียวให้กับกิจการโทรทัศน์และสื่อต่างๆ

    ผมคิดว่าภูฐานในปัจจุบันนั้นเริ่มไม่ใช่ภูฐานอย่างในสารคดีอีกต่อไปแล้ว

  2. มันก็คืออาการของคนแพ้ globalization และอยากปิดประเทศหนี พอมาเจอภูฎานปิดประเทศแล้วอยู่ดี ก็เลยยกย่อง อยากเอาตามอย่างบ้าง

Comments are closed.