Global Warming

ผมเป็นคนที่เกลียดการแนวคิดการมองว่าคนอื่นโง่เลยต้องหลอกอย่างหวังดีเพื่อให้คนโง่ทำเรื่องดีๆ เป็นอย่างมาก การที่เรามีปัญหาแล้วมีคนไม่เข้าใจแล้วเราอยากให้เขาเข้าใจ หน้าที่เราคือการพยายามทำความเข้าใจ ไม่ใช่การไปหลอกให้เขาทำอย่างที่เราอยากทำ โดยยังขาดความเข้าใจกันต่อไป

กระแสเรื่องโลกร้อนเป็นอีกเรื่องที่นับว่าน่ารำคาญอย่างมากในสายตาของผม เราเอาปัญหาระดับโลกไปผสมปนเปกับหลายๆ อย่างแล้วไปโจมตีธุรกิจบางอย่างโดยไม่ดูข้อเท็จจริง

งานนี้ผมเลยลองมาเรียบเรียงข้อเท็จจริงเกี๋ยวกับภาวะโลกร้อนมาดู ออกตัวไว้ก่อนว่าบทความนี้เป็นการรวบรวมความคิดเบื้องต้น และผมยังไม่ได้ค้นคว้าแหล่งที่มาให้เรียบร้อย ไว้จะกลับมาทำอีกทีครับ

  1. ภาวะโลกร้อนหมายถึงความร้อนเฉลี่ยของโลกร้อนขึ้น โดยในช่วงร้อนกว่าปีที่ผ่านมาตัวเลขความร้อนนี้อยู่ที่ไม่ถึง 1 องศาเซลเซียสเท่านั้น
  2. กระนั้นความร้อนบางส่วนของโลกก็ร้อนขึ้นมากกว่าส่วนอื่นๆ อาจจะเนื่องจากชั้นโอโซนในแถบต่างๆ ด้วย
  3. จนถึงวันนี้ ภาวะโลกร้อนยังไม่มีผลให้น้ำท่วมโลกอย่างที่กลัวกัน
  4. ไม่มีใครรู้ว่าเมื่อโลกร้อนแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ไม่แน่ด้วยซ้ำไปว่ามันเป็นผลร้ายต่อโลกจริงหรือไม่ หลายกระแสระบุว่าโลกอาจจะมีพื้นที่เพาะปลูกและอยู่อาศัยเพิ่มขึ้นอย่างมากก็เป็นได้
  5. ปัญหาคือการที่โลกร้อนขึ้นมันไม่ได้ทำให้เย็นลงได้ในเวลาอันสั้น เลยไม่มีใครอยากลองดูว่าโลกร้อนแล้วจะเกิดอะไรขึ้น
  6. น้ำท่วมบริเวณภาคกลางไทย ที่น้ำท่วมนั้นเกิดจากแผ่นดินทรุด เนื่องจากการใช้น้ำบาดาลมากเกินไป ไม่เกี่ยวกับโลกร้อน
  7. ทะเลสาปอาราลที่ยุโรป น้ำก็แห้งเหือดไปมหาศาล เนื่องจากการผันน้ำไปใช้เพื่อการเกษตร ไม่เกี่ยวกับโลกร้อนเหมือนกัน
  8. โลกร้อนขึ้นเนื่องจากการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ
  9. คาร์บอนที่ถูกปล่อยขึ้นไปส่วนมากมาจากการผลิตพลังงาน โดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้า
  10. ถุงพลาสติกเป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่ใช้วัสดุอย่างคุ้มค่าที่สุด เพราะผลิตได้ง่าย ใช้วัสดุเพียงเล็กน้อย
  11. แก้วกระดาษก็ใช้พลังงานในการผลิตเช่นเดียวกัน และไม่มีข้อยืนยันว่ามันใช้พลังงานในการผลิตต่ำกว่าถุงพลาสติก และหลายกระแสอ้างว่าหีบห่อกระดาษน่าจะเป็นต้นเหตุของคาร์บอนในปริมาณที่มากกว่า
  12. ถุงผ้านั้นเวลาผลิตขึ้นมาสร้างคาร์บอนมากกว่าถุงพลาสติกหลายต่อหลายเท่าตัวแน่นอน น่าสนใจว่าถุงที่รนรงค์ให้ใช้กันนั้นมีการใช้ซ้ำกันซักกี่รอบ และโลกได้ประโยชน์จริงหรือไม่
  13. หลอดประหยัดไฟใช้พลังงานในการผลิตมากกว่าหลอดไส้ตามปรกติ ไม่มีข้อยืนยันว่าพลังงานที่เสียไปนั้นจะคุ้มค่าในกี่ชั่วโมงการใช้งาน
  14. สหรัฐฯ เป็นประเทศที่ปล่อยคาร์บอนขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศหนึ่งในสามของโลก
  15. ไบโอดีเซลมีข้อดีในประเด็นของความมั่นคงทางพลังงานอย่างชัดเจน แต่ไบโอดีเซลก็ใช้พลังงานในการผลิตที่ไม่ชัดเจนว่าน้อยกว่าการผลิตน้ำมันตามปรกติหรือไม่ แต่เวลาใช้ในรถแล้วก็สร้างคาร์บอนพอๆ กับน้ำมันปรกติ ดังนั้นคงเอาไปอ้างเรื่องโลกร้อนได้ไม่เต็มปาก
  16. ก๊าซธรรมชาติก็ปล่อยคาร์บอนสู่บรรยากาศเหมือนกัน มันไม่ได้รักษาเรื่องโลกร้อนแต่อย่างใด
  17. โรงงานไฟฟ้าถ่านหิน เป็นแหล่งพลังงานที่ปล่อยคาร์บอนมากที่สุด โรงงานแบบสะอาดที่ติดตั้งเครื่องกรองมักหมายถึงการกรองกำมะถันซึ่งมีผลเสียต่อสุขภาพ อีกครั้งที่การทำเช่นนั้นยังไม่ได้ช่วยเรื่องโลกร้อนอยู่ดี
  18. โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่สร้างคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ ที่เห็นปล่องใหญ่ๆ มีควันนั้นเป็นไอน้ำ
  19. พลังงานแสงอาทิตย์จะคืนพลังงานในการผลิตในเวลาประมาณ 18 เดือน
 

lewcpe

CTO at MFEC PLC. Chief Editor at Blognone.com

 

6 thoughts on “Global Warming

  1. จะขอ comment ตามขอละกันนะครับ

    4. อันนี้เป็นข่าวนึงที่เกี่ยวข้องกับผลร้ายที่ “อาจ” ตามมาถ้าโลกร้อน http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000038034

    10-12. ชอบมากครับ

    18. โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จะมีกระบวนการ เพิ่มประสิทธิภาพยูเรเนียม ซึ่งใช้พลังงานและปล่อยคาร์บอนออกมาพอสมควรเช่นกันครับ แต่ไม่ทราบสัดส่วนที่ชัดเจน

  2. 4. แค่รู้สึกว่า เดี๋ยวนี้เดินกลางแจ้งแล้วแสบผิว ซึ่งสัก 15 ปีก่อนไม่รู้สึกอะไรเลย
    น้ำแข็งที่ขั้วโลกละลาย สัตว์แถบขั้วโลกมีที่อยู่ลดลง

    6. สงสัยว่าถ้าคิดเป็นปริมาตรแล้ว แผ่นดินที่ทรุดลง กับปริมาณน้ำ มันสัมพันธ์กันไหม
    แล้วแผ่นดินตรงแหล่งน้ำไม่ทรุดหรือ เพราะถ้าทรุดเหมือนกัน
    แสดงว่าปริมาณน้ำจากแหล่งน้ำต้องมากขึ้น ถึงจะทำให้เกิดน้ำท่วมได้สิ

    10. กระบวนการย่อยสลายหรือนำกลับมาใช้ กระทบสิ่งแวดล้อมด้านอื่นไหม
    แล้วอย่าลืมว่าการซื้อของ 1 ครั้ง ส่วนใหญ่ได้ถุงพลาสติกมากกว่า 1 ใบนะ

    15. ต้องลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล แล้วหันมาใช้บริการรถสาธารณะมากขึ้นอ่ะ
    เช่น อาชีพที่ไม่ต้องออกไปพบลูกค้า แทนที่จะขับรถไปถึงที่ทำงาน
    ก็เอารถไปจอดที่สถานีรถไฟฟ้า แล้วนั่งรถต่อก็น่าจะดีกว่า

  3. ไม่เรียงข้อนะครับ
    1. เรื่องโลกร้อนนั้นเกี่ยวข้องกับอายุครับ ลองสังเกตุดูก็ได้ครับว่า เด็กปัจจุบันก็ยังใส่เสื้อกันหนาว
    ยังเดินขึ้นตึกหกชั้นได้ และเด็กจะไม่เคยบ่นว่าร้อนหรือหนาวซักเท่าไหร่ เด็กเรียนห้องไม่ติดแอร์หรือ
    พัดลมได้
    2. โลกร้อนเกิดขึ้นเมื่อขึ้นมหาวิทยาลัย บางทีตึกแค่สี่ชั้นก็มีลิฟท์แล้ว ห้องเรียนต้องเป็นแอร์
    kaze ข้อ 4 เป็นเรื่องอายุแน่นอนครับ

    เรียงข้อ
    6. น่าจะเกี่ยวกับระดับน้ำทะเลด้วยนะครับ ไม่ใช่ทรุดอย่างเดียว
    12. นั้นไม่ค่อยเห็นด้วย การรณรงค์คงต้องใช้เวลา ยกตัวอย่างที่เยอรมันทุกอย่างได้ผลดีเยี่ยม
    ถุกผ้าก็มีการใช้กันแบบปกติ
    13. ข้อนี้ เป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงครับ โดยปกติหลอดไส้ธรรมดาอยู่ได้แค่หกเดือนก็เก่งแล้ว
    แถมกินไฟมากกว่ามาก ส่วนหลอดประหยัดไฟนั้นอายุนานกว่ามาก ที่ยังราคาแพงอยู่เป็นเพราะ
    ประเทศทางยุโรปยังไม่นิยมใช้ อย่างเยอรมันชอบฮาโลเจนแบบพวงสามสี่หลอด แต่ละหลอดก็
    30-50 วัตต์ อายุประมาณ 6 เดือน ปัจจุบันมีการผลิตหลอดตะเกียบที่ใช้แทนหลอดฮาโลเจนพวก
    นี้ขายแล้ว ยุโรปพึ่งตื่นตัวเรื่องพวกนี้ครับ เพราะข้อตกลงการลดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

    สำหรับประเทศไทยนั้นเรื่องการประหยัดไฟที่ทำกันอยู่ก็ดีแล้วครับ คือเค้าเน้นลดกำลังไฟสำรอง
    (ไฟมันต้องผลิตตลอดเวลา ถึงจะไม่มีคนใช้ในขณะนั้นก็ตาม เหมือนปล่อยน้ำทิ้ง) แค่คนไทยใช้
    เวลาดูละครไปเดินตามห้างกัน ให้คนเปิดโทรทัศน์ลดลงซัก 10% แค่นี้ก็ปิดโรงไฟฟ้าได้เป็นโรง ๆ
    แล้ว

  4. โดนนนนน

    ผมพยายามจะบอกเพื่อนๆเช่นกันว่าให้พิจารณาให้ดีก่อน ว่าสิ่งที่บอกต่อๆกันมามันสมเหตุสมผลแค่ไหน
    แต่มีครังหนึ่งที่โดนสวนมาว่า “อย่างน้อยเราก็รู้สึกดีที่ได้ทำอะไรให้โลกบ้าง” เจอเข้าไปถึงกับอึ้งไปเลย พูดไม่ออกบอกไม่ถูก เหมือนกับเขาไม่ได้ฟังผมเลยซักนิดแฮะ

    คิดแล้วอยากผันไปเรียนสิ่งแวดล้อม เวลาออกมาโต้จะได้มีน้ำหนักมากขึ้น

  5. 1. ความร้อนเฉลี่ยของโลกที่เพิ่มขึ้นไม่มาก ไม่ได้หมายความว่าผลกระทบไม่มากตามไปด้วยครับ
    3. มันมีผลกระทบอื่น ๆ อีกมากมายนอกจากน้ำท่วมโลกครับ เช่น ฤตูกาล และภัยธรรมชาติ ที่ส่งผลไปถึงเรื่องผลผลิต (ตอนนี้ก็มีคนพูดเรื่องอาหารขาดแคลนกันเยอะ)
    4. มันเป็นสิ่งที่คาดคะเนได้โดยใช้ตรรกะพื้รฐานครับ
    10. แต่ก็ทำลายยากที่สุดเช่นกัน
    12. ถุงผ้าหนึ่งใบ ไม่ได้ใช้แทนถึงพลาสติกหนึ่งใบครับ และการทำลายถุงผ้าก็ง่ายกว่าการทำลายถุงพลาสติกมาก
    15. เรื่องนี้ต้องมองเรื่องกระบวนการผลิตด้วยครับ ปัญหาของน้ำมันดิบคือ เราทำให้ CO2 ที่อยู่ใต้ดินมาเป็นร้อยล้านปี กลายเป็น CO2 ในอากาศในเวลาอันสั้น ส่วนไบโอดีเซลทำ CO2 ในอาการให้เป็น CO2 ในอากาศอีกรอบ แต่ผลก็เห็นว่าไบโอดีเซลไม่ดีเหมือนกัน เพราะมันมีเรื่องกระบวนการผลิตที่ต้องใช้สารที่ทำให้โลกร้อน และทำลายสิ่งแวดล้อมเหมือนกัน (ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง) บวกเรื่องวิกฤติอาหารเข้าไปอีก
    16. แต่กาซธรรมชาติมี particulate matter น้อยกว่า
    18. แต่กากนิวเคลียร์ทำให้คนเป็นโรคและตายได้ และยูเรนียมก็มีทีท่าว่าจะหมดพร้อม ๆ น้ำมันดิบ

  6. คุณโบว์

    ทุกอย่างมีข้อเสียครับถ้ามองกันแต่ผลเสียก็ไม่ต้องทำอะไรแล้ว
    ลิ่วน่าจะคิดถึงเลือกสิ่งที่ดีที่สุดที่มีอยู่ในขณะนี้ อย่างพลังงานแสงอาทิตย์
    กระบวนการผลิตก็มีผลเสียเหมือนกัน ทำให้โลกร้อนเหมือนกัน พลังงานลม
    ยิ่งแล้วใหญ่เลยนะครับ บดบังทัศนียภาพ เสียงดัง แต่ทำไมมันดีกว่าก็เพราะ
    เมื่อเทียบผลดีผลเสียแล้ว มันดีกว่าเสียก็ต้องเลือกเอา

    ดูรถไฟลอยฟ้ากรุงเทพฯก็ได้(คนเยอรมันแถวฮัมบวร์กออกแบบ ฮา) ตอนสร้างก็ด่ากันฉิบ
    ว่าบัง ตอนนี้ไม่เห็นมีใครว่าไร บังก็บังไปยิ่งสถานีอยู่หน้าบ้านยิ่งชอบ

    เรื่องอาหารขาดแคลน ไม่น่าจะเกี่ยวกับโลกร้อน น่าจะเป็นเรื่องการเมืองมากกว่าเน้อ
    เพราะมันน่าจะขาดแคลนมานานแล้ว

    4. เนี่ยผมเห็นด้วยกับลิ่วนะ เพราะในทางกลับกัน โลกเย็นก็ไม่เป็นผลดี
    ดีที่สุดคือโลกไม่ร้อนไม่เย็น ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้เลย

Comments are closed.