เรื่องหนึ่งที่ผมชอบมาใน ThinkPad แต่ไม่เคยได้เขียนถึงคืออุปกรณ์ของ ThinkPad นั้นออกแบบมาเพื่อให้ผู้ใช้เข้าไปแก้ไขได้เองค่อนข้างมาก เช่นปุ่มถอด CD-ROM ที่ดึงออกมาได้โดยไม่ต้องใช้ไขควง หรือกระทั่งจะถอดโน่นถอนนี่ก็มีคู่มือมาให้แถมบนตัวเคสก็มีสัญลักษณ์บอกไว้ชัดเจน
พอดีวันก่อน EPSON CX2800 ของผมก็กลับบ้านเก่า ด้วยความที่หมดประกันแล้ว และคิดว่าปัญหาน่าจะมีแค่ฟิวส์ขาดเพียงเท่านั้นเพราะไฟไม่เข้าเลย เลยหยิบไขควงมาจะเปิดเอง
เลยได้รู้ว่าสำหรับพรินต์เตอร์ราคาถูกแล้ว ไขควงไม่ใช่อะไรที่พึ่งพาได้แม้แต่น้อย ด้วยความที่ต้องการลดต้นทุน EPSON ใช้สลักจำนวนมากมายที่คนไม่มีคู่มือช่างไม่มีทางเปิดเครื่องออกมาได้
เลวร้ายกว่านั้นคือ Power Supply นั้นไปอยู่ด้านในสุด ทำให้เวลาจะเปลี่ยนต้องถอดเครื่องออกมาทั้งหมด ซึ่งเดาได้เลยว่าถ้าผมถอดเองจะเกิดอาการ “ญี่ปุ่นทำเกิน” แน่ๆ
เลยต้องถอดใจแล้วเตรียมขับรถไป IT Mall
ประเด็นการซ่อมบำรุงโดยผู้ใช้เป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับผม และเป็นประเด็นที่คงทำให้ผมไม่ได้จับ MacBook AIR ไปตลอดกาล (นอกจากจะได้ฟรี)
นอกเรื่องมาถึงโอเพนซอร์ส ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สก็เหมือนกับคอมพิวเตอร์แบบเดสก์ทอปประกอบเอง มันอาจจะไม่เท่ห์ มันอาจจะยุ่งยากไปบ้างเวลาติดตั้งและเริ่มใช้งาน แต่เรื่องสำคัญของมันคือเมื่อมีปัญหา หรือเมื่อต้องการแต่งเสริมสิ่งต่างๆ แล้ว “มันทำได้”
ผมติดตั้งเซิร์ฟเวอร์มาหลายเครื่อง ความต้องการคล้ายๆ กันคือผู้ใช้ไม่ต้องการจำรหัสผ่านเพิ่มเติมมากมาย น่าสนใจว่าด้วยโอเพนซอร์ส ผมทำให้ทุกโปรแกรมสามารถเชื่อมต่อผ่าน PAM เพื่อใช้รหัสเดียวกันทั้งเครื่องได้
และเวลาทำได้นี่มันสนุกดีไม่ใช่น้อยเลย
ผมซื้อจอของ LG มาเครื่องหนึ่ง ตอนประกอบครั้งแรกใช้ง่ายมากเลยแค่เอาจอไปเสียบกับฐานให้มันมีเสียงดัง ก็เสร็จแล้ว
แต่พอจะย้ายคอมมาที่นี่ก็ได้ค้นพบความซวย คือถึงแม้ว่ามันจะประกอบง่าย แต่พอประกอบแล้วมันแยกส่วนออกไม่ได้! ต้องยัดจอพร้อมฐานใส่เป้มาถึงที่นี่
ถ้าไม่ติดว่าพึ่งซื้อก็คงซื้อใหม่ไปแล้ว