วันนี้เป็นวันประชุมครั้งสุดท้ายของ คมช. ต่อเนื่องจากการโปรดเกล้าแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีเมื่อวานนี้ เลยมาสรุปความคิดตัวเองไว้สักหน่อย
ผมเชื่อว่าการรัฐประหารครั้งที่ผ่านมาเป็นความผิดพลาด อย่างไม่อาจให้อภัยได้ของผู้เกี่ยวข้องทุกคน ไม่ว่าจะมีวัตถุประสงค์ใด การรัฐประหารครั้งนี้สร้างรอยแผลต่อการพัฒนาการเมืองไทยไปอีกอย่างน้อยคง 20 ปีหรือหนึ่งชั่วอายุคน
รัฐบาลทักษิณนั้นอาศัยช่องที่นักการเมืองทั้งหลายยังอ่อนแอ และมองไม่เห็นว่ารัฐธรรมนูญปี 40 กำลังขจัดระบบเก่าๆ ที่มีรัฐบาลหลายพรรคออกไปอย่างจงใจ แทนที่จะมีการรวมตัวกันเพื่อสร้างความเข้มแข็ง เรากลับได้เห็นการประกาศตัวอยากเป็นนายกของพรรคเล็กพรรคน้อยสารพัด และจบลงด้วยการที่แทบทุกพรรคพ่ายแพ้ต่อไทยรักไทยอย่างหมดรูป
คนที่อ่านรัฐธรรมนูญขาดในยุคนั้นและวางตัวได้ถูกต้องคงมีแค่สองคน คือ ทักษิณกับบรรหาร คนแรกนั้นเสนอตัวเข้ามาอย่างถูกจังหวะ อีกคนนั้นรักษาตัวไว้จนรอดมาได้อย่างถูกจังหวะอีกเหมือนกัน
ช่องทางที่ทักษิณอาศัยเข้ามาสร้างฐานอำนาจนั้นคือการที่คนไทยแทบทั้งประเทศ ยังไม่มีความเข้าใจว่าผู้แทนที่เขาเลือกเข้าไปนั้น แต่ละคนเข้าไปทำอะไรกันบ้าง จุดที่น่าเป็นห่วงที่สุดในยุคนั้นคงเป็นเรื่องของ สว. ที่มีความสัมพันธ์กับฝ่ายนิติบัญญัติจนขาดการถ่วงดุลอำนาจไป
ความเชื่อที่ผิดของคนไทยที่ไม่เข้าใจถึงการคานอำนาจ และมองระบบการปกครองเป็น “หลวง” กับ “ราฏษร์” สร้างความสับสนว่าเลือก สส. แล้วทำไมต้องเลือก สว. กันไปอีก และผมจะไม่แปลกใจเลยถ้าคนจำนวนไม่น้อยคิดว่าจะเลือกสองกลุ่มนี้เข้าไป “ช่วยกัน” ทำงาน
ความเข้าใจผิดนี้สร้างฐานอำนาจแบบเบ็ดเสร็จให้กับทักษิณได้โดยง่าย และต้องยกความดีให้กับการบริหารที่รวดเร็วของทักษิณที่ทำให้คนจำนวนมากเชื่อว่า “เป็นแบบนี้ก็ดีแล้ว”
โดยทั่วไปแล้ว ผมเชื่อว่าแนวคิดการต่อต้าน “ระบอบทักษิณ” มีความดีในตัวของมันอยู่ คนไทยจำนวนมากเริ่มตระหนก และตระหนักว่าอำนาจในการบริหารประเทศไม่ควรไปตกอยู่ในมือของคนๆ เดียวอย่างเบ็ดเสร็จ ผมเชื่อว่าถ้าพรรคร่วมฝ่ายค้านไม่ร่วมกันคว่ำบาตรการเลือกตั้งในปี 2549 หรือกระทั่งไม่มีการรัฐประหาร สิ่งที่เกิดขึ้นคือการชนะแบบไม่ขาดลอยของรัฐบาลทักษิณอีกครั้ง
หากการต่อต้าน “ระบอบทักษิณ” เป็นไปอย่างในกรอบแล้ว จุดที่น่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมไทยที่สุดอีกครั้งคือการเลือกตั้ง สว. (ซึ่งต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด) โดยที่ในตอนนั้น คงจะเริ่มมีการขุดคุ้ยกันเป็นขนานใหญ่ ถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้สมัคร สว. กับฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติ ถึงเวลานั้นทักษิณเองแม้จะคุมอำนาจได้มาก แต่ก็คงไม่อาจกร่างได้เหมือนเดิมอีกต่อไป
ที่แย่อีกเรื่องคือเรื่องของประชานิยม ที่นักวิชาการออกมาพร่ำเพ้อถึงข้อเสียที่ยังไม่มีใครได้เห็น ส่วนตัวผมเองนั้นเห็นด้วยว่าการเอาเงินไปลงในระดับชุมชนอย่างเร็วเกินไปนั้นอาจจะสร้างอันตรายกับระบบเศรษฐกิจไทยได้ในระยะกลาง 7-12 ปี
แต่การเลือกตั้งเมื่อ 23 ธันวาคมที่ผ่านมา ก็เป็นตัวบ่งบอกได้ถึงความเลวร้ายของการรัฐประหาร เพราะสุดท้ายแล้วคำพูดของนักวิชาการไม่ว่าหน้าไหนก็ไม่มีประโยชน์อะไร ในเมื่อประชาชนส่วนใหญ่ได้เห็นผลดีของการทำประชานิยม และยังไม่เคยเห็นผลเสียของมันจริงๆ ที่เห็นคงเป็นความฉิบหายของประเทศหลังการทำรัฐประหาร การแทรกแซงสื่ออย่างไร้ศิลปะของทหาร จนสุดท้ายแล้วพรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องออกนโยบาย 99 วันทำได้จริงออกมา ซึ่งไม่ว่าจะพูดอย่างไร มันคือประชานิยมแบบเดิมๆ ของทักษิณนั่นเอง
การประกาศนโยบายประชานิยมของประชาธิปัตย์คงเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้สำหรับทางพรรคเอง ในเมื่อประชาชนยังโหยหาถึงช่วงเวลาที่ประเทศบริหารโดยทักษิณ
การที่นายอานัน ปัญยารชุนออกมาพูดว่าประเทศกำลังกลับไปเป็นแบบเดิมนั้นเป็นคำพูดที่ดูจะไร้สาระในความคิดของผมเอง เพราะประชาชนไทยส่วนใหญ่ก็ต้องการกลับไปเป็นแบบนั้นจริงๆ แม้ผมจะเห็นด้วยว่าการกลับไปเป็นแบบเดิมนั้นไม่ใช่เรื่องดี แต่คนที่ควรถูกกล่าวโทษในเรื่องนี้ควรเป็นคณะรัฐประหารมากกว่านายสมัคร การเล่นนอกกรอบของทหารและใครก็ตามที่อยู่เบื้องหลังนั่นแหละที่ทำให้ประเทศต้องเสียเวลาในการพัฒนาทางการเมืองไปนับสิบๆ ปี
ผมหวังว่าการแก้รัฐธรรมนูญจะเสร็จลงโดยเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็น สว. สรรหา และไม่ว่าเราไม่ชอบยังไงคงต้องยอมรับความจริงว่าเราต้องให้เวลาสังคมไทยเรียนรู้จักกับประชาธิปไตย และกระบวนการนี้ต้องใช้เวลาเพื่อเดินหน้าต่อไป
อ่านประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสที่กว่าจะมีประชาธิปไตยที่เข้มแข็งนั้นใช้เวลานับร้อยปีแล้ว อาจจะเครียดเรื่องการเมืองไทยน้อยกว่าเดิม……
อ่านแล้วได้คิดตามนะ เห็นด้วยในหลายจุด
สำหรับฉันการรัฐประหารที่เกิดขึ้นในปี 2549 คือการกระทำที่น่ารังเกียจอย่างที่สุด แต่ถ้ามองในแง่ที่พอจะดีได้ ก็คือทำให้ฉัน “ตาสว่าง” ในบางเรื่องที่เคย “หลงเชื่อ” มาเกือบทั้งชีวิต