การเปิดตัวแพลตฟอร์มใหม่ของกูเกิลในนาม Android ที่หวังจะเป็นมาตรฐานใหม่ของโทรศัพท์มือถือนี้นับว่าเป็นความท้าทายล่าสุดที่ทางกูเกิลปล่อยออกมาให้เราได้ชม
ขณะที่ SDK ที่ออกมานั้นนับว่าน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ด้วยความสามารถที่หลากหลาย และ SDK ที่ดูดีมาก จนตอนนี้ดูเหมือนว่าจะบดบังรัสมีของต้นตำรับ “กระแส” มือถือโอเพนซอร์สอย่าง OpenMoko ลงในพริบตา
การเปิดตัวนาทีแรกของกูเกิลในครั้งนี้นับว่า …จุดติด… เลยทีเดียว
แต่คำถามที่ผมสงสัยคือ มีเหตุอะไรจึงไม่มีโทรศัพท์ที่แม้จะไม่ใช่การผลิตในชื่อกูเกิลเอง ออกมาวางขาย หรือกระทั่งออกกำหนดการวางขายหลังการเปิดตัวระบบปฏิบัติการและ SDK ในครั้งนี้
ขณะที่ทาง HTC ออกมาให้ข่าวค่อนข้างชัดเจนว่า บริษัทกำลังจะผลิตมือถือที่ใช้ Android ถึงแปดรุ่นในปีหน้า แต่การออกข่าวแบบไม่มีกำหนดนี้ค่อนข้างน่ากลัวเมื่อเทียบกับวิมานในอากาศที่เกิดขึ้นมาแล้วหลายๆ ครั้ง
โครงการ OLPC เป็นโครงการหนึ่งที่ค่อนข้างเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีให้กับการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ในระดับที่เทียบเท่ากับสิ่งที่กูเกิลหวังใน Android เป็น ด้วยการออกข่าวอย่างหนัก แต่ไม่สามารถแสดงผลสำเร็จได้ในเวลาที่เร็วพอ กระแสหลังจากที่เครื่อง OLPC XO ออกวางจำหน่ายจริงจึงต่ำอย่างน่าใจหาย เมื่อเทียบกับ Asus Eee PC ที่วางจำหน่ายจริงในเวลาเพียงหนึ่งไตรมาสหลังการประกาศข่าว นับว่าเป็นการจุดกระแสล่วงหน้าก่อนการเปิดตัวได้อย่างค่อนข้างดี เช่นเดียวกับ OpenMoko ที่พัฒนาช้าและมีราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ เสียจนไม่น่าสนใจในช่วงหลัง
นาทีนี้ความอยู่รอดของ Android จึงไม่น่าใช่เรื่องของความสามารถของตัวระบบปฏิบัติการที่ทรงพลัง แต่หากเป็นตัวโทรศัพท์ที่จับต้องได้ต่างหากว่าจะเข้าสู่ตลาดเร็วแค่ไหน
ที่สำคัญกว่านั้นคือจะออกมาในรูปแบบไหนกัน?
ขณะที่แอปเปิลนั้นได้รับความนิยมในระดับที่ยินดีเป็นสาวกกันเป็นจำนวนมาก ผมยังไม่เคยเห็นใครเรียกใครว่าเป็นสาวกกูเกิลมาก่อน นับว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เพราะคนจำนวนมากใช้งาน Gmail เพราะมันเร็ว, ความจุสูง และใช้งานง่าย มากกว่าเพราะว่ามันเป็นของกูเกิล
ดังนั้นการออกมือถือเครื่องละสองหมื่นแล้วหวังว่าจะขายได้นับล้านเครื่องแบบแอปเปิล ไม่น่าจะเป็นการคาดหวังที่ดีนัก
ขณะที่การตัดสินใจทำระบบเปิดของ Android ช่วยให้ความกังวลในเรื่องของจำนวนแอพลิเคชั่นลดลงไปได้มาก เราน่าจะได้เห็นโปรแกรมเจ๋งๆ จำนวนมากเข้าไปอยู่ใน Google Code กันในเร็ววันนี้ แต่ความคาดหวังในตัวโทรศัพท์เป็นสิ่งที่กูเกิลและ Android ต้องแบกรับไว้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แน่นอนโทรศัพท์มือถือที่ใช้ Android คงไม่สามารถแบกรับความต้องการไว้ทั้งหมดได้ แต่กูเกิลจะแบกรับมันได้มากพอหรือไม่ นั่นเป็นคำถามที่น่าจะชี้ความเป็นความตายให้กับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ลองนึกความคาดหวังเหล่านั้นว่ามีอะไรบ้าง
- ราคา ขณะที่โทรศัพท์รุ่นที่โชว์อยู่ในตอนนี้น่าจะมีราคาแพง (จอใหญ่ ความเร็วสูง) โทรศัพท์ที่ใช้งาน Android จำเป็นต้องมีหลากหลายเพื่อกินตลาดให้ครบช่วง แม้อาจจะเป็นไปไม่ได้ที่ Android จะลงไปทำงานในมือถือเครื่องละพัน แต่อย่างน้อย Smartphone รุ่นต่ำๆ ที่อยู่ในช่วง 8000 บาทขึ้นไปก็น่าจะทำงานได้ เพื่อให้ฐานตลาดกว้างขึ้น
- ความเข้ากันได้ ความได้เปรียบตลอดกาลของแอปเปิลคือการควบคุมฮาร์ดแวร์ด้วยตัวเองทั้งหมด ขณะที่ Android เป็นพันธมิตรจำนวนมาก การใช้ยี่ห้อร่วมกันจะสร้างความคาดหวังในความเข้ากันได้ที่ค่อนข้างสูง เราจะรู้ได้อย่างไรว่าโปรแกรมตัวไหนจะสามารถรันบนโทรศัพท์รุ่นใดบ้างนอกจากการนั่งหาตามเว็บบอร์ด
- อุปกรณ์เสริม ขณะที่ตลาดอุปกรณ์เสริมเป็นตลาดที่ทำกำไรได้ดีอย่างไม่น่าเชื่อ แต่ในทางกลับกันการที่ตลาดอุปกรณ์เสริมใหญ่ก็มีส่วนช่วยในการตัดสินใจซื้อตัวโทรศัพท์มากขึ้นด้วย ขณะนี้โลกโทรศัพท์มือถือกำลังเริ่มยอมแพ้ต่อการพยายามใช้พอร์ตที่ไม่มาตรฐาน และพันกลับมาใช้ USB กันเรื่อยๆ หาก Android สามารถสร้างตัวเองเป็นมาตรฐานกลางให้กับอุปกรณ์เสริมที่จะสามารถใช้งานข้ามยี่ห้อกันได้อย่างไม่จำกัด ก็น่าจะเป็นจุดแข็งที่น่ากลัวสำหรับคู่แข่งทุกค่ายไป
ต่อตอนหน้า….