พอดีสองบล็อกใน feed พูดเรื่องวาเลนไทน์ (1,2) แถม อสมท. ก็เล่นข่าวอินเทอร์เน็ตชักนำให้มีเพศสัมพันธ์ เลยนึกอะไรบางอย่างขึ้นมาได้ให้เอามาเขียนบ้าง
โดยพื้นฐานครอบครัว ศาสนา และการดำเนินชีวิตแล้ว ผมเป็นคนที่เชื่อว่าเพศสัมพันธ์นั้นมีไว้สำหรับหลังแต่งงานทุกกรณี ไม่มีข้อยกเว้นใดๆ ไม่ว่าจะเป็นแฟนกันแล้ว มั่นใจแล้วว่าเป็นคู่กัน หรือจะหมั้นแล้วเตรียมงานแต่งอาทิตย์หน้าก็ตามที แต่เมื่อได้อ่านหนังสือ เรื่องเพศที่ไม่อยากให้ลูกรู้ (แต่กลัวว่าอยู่ว่าลูกจะถาม) ผมได้แนวคิดอย่างหนึ่งมาจากหนังสือเล่มนี้คือพ่อแม่นั้นเป็นตัวแปรหลักที่จะกำหนดพื้นฐานในตัวลูกว่าสิ่งใดที่ควรมองว่าเป็นความถูกต้อง และสิ่งใดที่ผิดพลาด โดยพื้นฐานสังคมอเมริกันที่เปิดกว้างกว่าบ้านเรา หนังสือเล่มนั้นบอกให้ผมรู้ว่ามันมีพ่อแม่จำนวนหนึ่งเหมือนกันที่เชื่อว่าลูกของเขาควรมีเพศสัมพันธ์กันตั้งแต่คบกัน เพื่อให้ได้ข้อมูลในการเลือกจะลงเอยกับใครสักคน
ประเด็นคือถ้าพ่อแม่อยากให้ลูกเป็นแบบใด พ่อแม่ควรตระหนักว่าเขากำลังให้กำเนิดลูกออกมาในสังคมแบบใด และน่าจะเป็นเรื่องดีถ้าพ่อแม่จะเตรียมการรับมือปัจจัยภายนอกที่จะมีผลกระทบกับลูกของเขาเอาไว้ตามสมควร
บ้านเราเอง ถ้าไม่มัวนั่งฟังข่าวจากกระทรวงวัฒนธรรมจนไม่ลืมหูลืมตา คงรู้กันดีกว่าวัฒนธรรมบ้านเรามันไม่ได้สวยใส หญิงเรียบร้อย ชายสุภาพเต็มเปี่ยมกันทั้งประเทศ แบบที่พยายามสร้่างภาพกันว่าเป็นอย่างนั้นมาหลายร้อยปี แล้วเพิ่งเปลี่ยนไปเมื่อวาน
ไม่เชื่อต้องไปอ่านสุนทรภู่…..
ไม่ว่าเราจะชอบหรือรับได้หรือไม่ ความคิดแบบ “ไม่เห็นเป็นไร..” ก็ยังคงมีอยู่ ที่แย่กว่านั้นความผิดพลาดจากความ “ไม่เป็นไร” (เช่น ท้อง…) ก็ยังคงมีอยู่อีกเช่นกัน
ผมมองว่าแนวคิดแบบ ปิดไว้ไม่ให้มันรู้ เป็นแนวคิดไม่สามารถแก้ปัญหา (ถ้ามองมันเป็นปัญหา) แต่อันนั้นมันเป็นเรื่องของวิธีการของแต่ละครอบครัว
สังคมไทยยังมีเรื่องน่ารังเกียจกว่านั้นอีกเยอะ…..
ไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้งที่ผมได้ข่าวเด็กและไม่เด็กหญิงทั้งหลายถูก “เฉดหัว” ออกจากสถานศึกษา เพราะความผิดพลาดครั้งหนึ่งในชีวิต ให้ตายเถอะครับ การกระทำพวกนี้มันเป็นการกระทำสมัยนางทาส ทำไมเราต้องไปพิพากษาชีวิตคนๆ หนึ่งให้เกือบหมดโอกาสในสังคมด้วยเหตุว่าเขาผิดพลาดไป ยิ่งกว่านั้นทำไมเด็กคนหนึ่งที่เกิดมาในช่วงที่แม่กำลังอยู่ในสถานศึกษาถึงต้องเป็นต้นเหตุให้แม่หมดอนาคต
แล้วทำไมต้องลงโทษแต่ผู้หญิง (ว่ะ..) ทำไมไม่ลากคอผู้ชายมาประกาศชื่อแล้วไล่ออกกันบ้างล่ะ
ความอับอาย และความลำบากที่ต้องเรียนหนังสือทั้งที่ร่างกายไม่อำนวยมันไม่เพียงพอต่อผู้มีอำนาจหรืออย่างไรไม่ทราบ จึงต้องซ้ำเติมใหญ่ความผิดพลาดของคนๆ หนึ่งเป็นเรื่องร้ายแรงไปตลอดชีวิต
ในแง่หนึ่งแล้ว การประโคมข่าว “วันเสียตัว” ตัวเลขสถิติเทียบกับปีที่แล้ว ฯลฯ อาจจะเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับการซ้ำเติมอย่างไร้จริยธรรมเหล่านี้ก็ได้
การมานั่งทำแบบสอบถามว่าใครจะเสียตัวบ้างเนี่ยะ มันเหมือนเป็นการแสดงถึง “ความหมกมุ่น” ของสังคมเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเลยนะเนี่ยะ
เห็นด้วยกับพี่ลิ่ว
ทำไมสังคมต้องลงโทษผู้หญิง
ทำให้ผู้หญิงกลายเป็นจำเลยของสังคม ?
นัทไม่เห็นว่า “ท้อง” แล้วจะเรียนไม่ได้ตรงไหน ?
บังเอิญเรื่องนี้มันเป็นเรื่องพื้นฐานของมนุษย์ที่ พยายามกดมันเอาไว้ มันก็เลยได้รับความสนใจมากกว่าเรื่องอื่นไง มันสะท้อนออกมาว่ายิ่งกดมันมากแค่ไหน มันก็ยิ่ง rebound กลับมามากเท่านั้น (กฎข้อไหนของนิวตันนะ)
ถ้าลองปล่อยมันออกมาแบบไม่ต้องลับๆ ล่อๆ สิ (แต่คงเป็นไปไม่ได้หรอก) มันจะได้กลายเป็นเรื่องน่าเบื่อไปซะฉิบ
เป็นการแสดงให้เห็นว่าสังคมยังให้ความสำคัญเรื่องนี้อยู่นะ แต่เห็นด้วยชะมัดที่ให้ลงโทษผู้ชายด้วย
ตั้งแต่ตอนเรียนเห็นเรื่องนี้แล้วรับไม่ได้อย่างแรง จนมาทำงานก้อเริ่มเข้าใจละว่าทำไมเด็กจึงเป็นแบบนั้น ถ้าไปคลุกคลีกับเด็กๆพวกนั้น เค้าจะเห็นว่าเรื่องมีเซ็กซ์ในวัยเรียน เป็นเรื่องปกติ เหมือนที่ดาราหลายๆคู่ออกมาบอกว่าการอยู่กันก่อนแต่งเป็นเรื่องปกติ …. แต่ไม่เห็นมีใครออกมาไม่เห็นด้วย ความจริงมันเป็นค่านิยมในเด็ก บุคคลรอบข้างปฏิบัติตัวให้เห็นอย่างไร เด็กก้อทำอย่างนั้น
ปล.เรื่องมันโดน เลยยาวไปหน่อย