อาจจะดูเหมือนทะเลาะกันหน่อย แต่วันนี้ในข่าวล่าสุดของผมใน Blognone ถือได้ว่าเป็นความสำเร็จอย่างสูงต่อสิ่งที่หวังไว้ใน Blognone ที่จะให้คุยกันในแบบที่ที่อื่นเขาไม่คุยกัน
แต่เรื่องหนึ่งที่รู้สึกได้คือ คนส่วนมากมองจากเล็กไปใหญ่ เช่นว่า
เกลียดทักษิณ > ไม่เอาแลปทอปร้อยเหรียญ > ไม่เอาคอมพิวเตอร์เข้าห้องเรียน
ผมไม่รู้สึกอะไรกับการที่จะมีคนต้านการใช้คอมพิวเตอร์ในห้องเรียน มันเป็นเรื่องปรกติของชาติประชาธิปไตยที่เราควรหาทางพัฒนาร่วมกันได้ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือการเอามุมมองเล็กๆ มาตัดสินภาพใหญ่ๆ
มันเหมือนกันมองขอบภาพวาดแล้วบอกว่าสีระบายไม่เต็มพื้นที่ แล้วไปตัดสินว่าภาพไม่สวย
เรื่องนี้คงเป็นปัญหาระดับโลกเลย เพราะเว็บระดับโลกอย่างวิกิพีเดีย (Wikipedia) เองก็เจอปัญหาที่ถูกวิจารณ์อย่างหนักในเรื่องของความถูกต้อง ซึ่งเป็นเรื่องดี แต่กลับไม่มีข่าวพูดถึงความยิ่งใหญ่ของความรู้ที่รวมเข้าไปในวิกิพีเดีย ทำให้บทวิจารณ์กลายเป็นเรื่องน่าเศร้าสำหรับคนทำไป เพราะถูกมองว่า
บทความหนึ่งมีจุดผิดบางส่วน > บทความนั้นไม่น่าเชื่อถือ > วิกิพีเดียไม่น่าเชื่อถือ
ความจริงประการหนึ่งคือในโลกนี้ไม่มีอะไร 100% ไม่ีมีสารานุกรมเล่มไหนถูกต้องทั้งหมด เช่นเดียวกับไม่มีโครงการไหนของรัฐขาวสะอาดไปทุกส่วน ชี้มาเถอะสักโครงการต้องมีจุดด่างพร้อย ตั้งแต่ให้เงินไปจนถึงเลี้ยงข้าวกัน
ความหวังต่อๆ ไปคือการสร้างสังคมที่พูดคุยกันในเรื่องระดับใหญ่ขึ้น มองกันในภาพกว้างขึ้น เพื่อหาข้อสรุปที่ดีขึ้น วันหนึ่ง Blognone อาจจะได้ข้อสรุปว่า แลปทอปร้อยเหรียญมีประโยชน์จริงหรือไม่ หรือการนำไอทีเข้าไปใช้ในห้องเรียนควรเป็นไปในทิศทางใด
อย่างนั้นแล้วน่าจะมีประโยชน์ต่อสังคมรวมมากกกว่า
ผมคิดว่า เพราะโลกนี้ไม่มีอะไรสมบูรณ์พร้อม คนเราจึงพยายามมองหาแต่ความสมบูรณ์นะ
plynoi:
ผมว่าประเด็นของลิ่วมันคือ คนเรายึดติดว่าทุกสิ่งทุกอย่างต้องสมบูรณ์มากกว่านะ
ไม่อยากยกตัวอย่างเรื่องการเมืองเท่าไร แต่ผมชอบทักษิณ เพราะ “ดีก็เยอะ ชั่วก็แยะ” ในขณะที่ถ้าเป็นชวน คงสไตล์ “ความชั่วไม่มี ความดีไม่ปรากฎ” ประมาณนั้น