พาสาทัย

พอ​ดี​เข้า​ไป​อ่าน​บล็อคของ veer พูด​ถึง​กระทู้​ใน Pantip.com (1,2) เลย​ได้​ประเด็น​ที่​ร้อนๆ มา​นั่ง​เขียน​เล่น ความ​จริง​เรื่อง​นี้​เขียน​ไป​หลาย​รอบ​แล้ว​ใน​บล็อคของ​ผม​หลายๆ ที่ แต่​เอา​เป็น​ว่า​จะ​มา​สรุป​ความ​คิด​เก็บ​ไว้​แล้ว​กัน

ถ้า​ใคร​อ่าน​ผม​เขียน​มา​นานๆ น่า​จะ​รู้​ว่า​ผม​ต่อ​ต้าน​การ​เหยียด​หยาม​คน​ที่​เขียน​ภาษา​ไทย​อย่าง​ผิดๆ ชนิด​หัว​ชน​ฝา คง​จะ​ไม่​แปลก​ถ้า​ใคร​จะ​คิด​ว่า​ผม​เป็น​ฝ่าย​สนับสนุน​การ​เขียน​ภาษา​อย่าง​ผิดๆ

เปล่า​เลย…..

แม้​จะ​เป็น​คน​ไม่​คล่อง​เรื่อง​ภาษา โดย​เฉพาะ​ภาษา​เขียน แต่​ดัน​ดอด​ไป​ทำ​งาน​เป็น​นัก​เขียน ผม​เอง​ยัง​คง​เชื่อ​ว่า​ภาษา​ควร​ได้​รับ​การสนับสนุนให้​มี​การ​ใช้​งาน​อย่าง​ถูก​ต้อง แต่​อย่าง​ไร​ก็​ตาม​ผม​เชื่อ​อย่าง​สุด​ใจ​ว่า…

ภาษา​ไม่​ใช่​ศาสนา….. (และ​การ​ใช้​ผิด​ไม่​ใช่​การ​ลบ​หลู่)

ภาพ​การ​ดู​ถูก และ​ประณาม​ผู้​ใช้​ภาษา​อย่าง​ผิดๆ ยัง​คง​มี​อยู่​เรื่อยๆ แม้​ใน​อินเทอร์เน็ต​ที่​ขึ้น​ชื่อ​ว่า​เป็น​แหล่ง​ของ​ภาษา​วิบัติ หลาย​คน​เน้น​สร้าง​ภาพ​ว่า คน​ที่​ใช้​ภาษา​อย่าง​ผิดๆ นั้น เป็น​พวก​ไม่​รัก​ชาติ เป็น​โจร หรือ​เป็น​ผู้​ที่​ไม่​คู่​ควร​จะ​ได้​พูด​ภาษา​ไทย ฯลฯ เรื่อง​อย่าง​นี้​เป็น​เรื่อง​ที่​ผม​มอง​ว่า​มัน​แย่​กว่า​คน​ที่​ใ้ช้ภาษาไทย​อย่าง​ผิดๆ เสีย​อีก

แน่​นอน​การ​ใช้​ภาษา​ผิด​นั้น​ไม่​ดี แต่​มัน​ไม่​ใช่​อาชญากรรม และ​คน​ทำ​ไม่​ต้อง​เข้า​คุก ขณะ​การ​ใช้​ภาษา​ไทย​ให้​ถูก​ต้อง เป็น​การ​ช่วย​ให้​สังคม​มี​สื่อ​กลาง​ใน​การ​สื่อ​สาร​ร่วม​กัน​อย่าง​เป็น​หนึ่ง​เดียว มัน​คง​ดี​กว่า​ถ้า​เรา​จะ​สร้าง​จิต​สำนึก​ให้​ทุก​คน​ใช้​ภาษา​ไทย​ให้​ถูก​ต้อง​แทน​ที่​จะ​ร่วม​กัน​ประณาม​การ​ใช้​ผิด นักเรียน​เขียน​รายงาน​ส่ง​โดย​ใช้​ภาษา​ไทย​อย่าง​ถูก​ต้อง ควร​ได้​รับ​คำ​ชม​เชย แทน​ที่​การ​ทำ​โทษ หรือ​ประจาน​ผู้​ที่​ใช้​ผิด ถ้า​เว็บ​บอร์ด​มัน​เละเทะ​นัก ก็​ให้​รูป​ธง​ชาติ​ตาม​หลัง​ชื่อ​คน​ที่​ใช้​ภาษา​ไทย​ถูก​ตลอด​ไป​อะไร​อย่าง​นั้น

เรื่อง​เล็กๆ อีก​เรื่อง​หนึ่ง​ที่​ผม​เชื่อ​คือ สังคม​ไทย​ไม่​น่า​จะ​ต้อง​กังวล​กับ​ภาษา​วิบัติ โดย​เฉพาะ​ใน​อินเทอร์เน็ต​มาก​นัก เพราะ​คน​กลุ่ม​นี้​อัน​ที่​จริง​แล้ว​มัก​เป็น​กลุ่ม​คน​มี​การ​ศึกษา ที่​สามารถ​ใช้​ภาษา​อย่าง​ถูก​ต้อง​ได้​เมื่อ​เขา​ต้อง​การ หรือ​เมื่อ​พวก​เขา​เห็น​ว่า​มัน​จำ​เป็น แต่​เรา​ยัง​คง​เห็น​ตัว​อักษร​โยก​โย้ ตาม​รถ​เมลว่า “รง​กด​กิ่ง” กัน​ได้​อย่าง​ไม่​เกิน​ความ​พยายาม​เกิน​ไป

การ​ขาด​การ​ศึกษา ที่​มี​คุณภาพ อาจ​จะ​เป็น​ปัญหา​หลัก​ที่​เรา​ต้อง​สนใจ​กัน​มากกว่า

 

lewcpe

CTO at MFEC PLC. Chief Editor at Blognone.com

 

16 thoughts on “พาสาทัย

  1. รำคาญอยู่อย่างเดียวแหละ… เวลาเขียนแบบผิดๆน่ะ มันอ่านยาก

  2. ที่ว่ามา มันก็ถูกครับ เห็นด้วยว่า การศึกษาที่มีคุณภาพเป็นเรื่องใหญ่กว่า
    แต่ว่า เท่าที่ผมพบเจอมา มันไม่ใช่อย่างนั้นหรอกครับ มันระบาดไปหมดแล้ว เหมือนสังคมไม่ใส่การเขียนให้ถูกกันเท่าที่ควรเสียมากกว่า
    ซึ่งผมก็ว่า นี่ก็เป็นปัญหาใหญ่เช่นกัน

  3. pat – ผมว่าถ้ามันมีคำไหนที่มันระบาด “ไปหมดแล้ว” มันก็อาจจะถึงเวลาที่เรายอมรับคำพวกนั้นแล้วมังครับ

  4. ก็เหมือน คำว่า
    สมดุล เมื่อก่อนเราอ่าน สม-ดุน
    เดี๊ยวนี้ ทีวีอ่าน สะ-มะ-ดุน

  5. ม่อน: อ่าน สะ-มะ-ดุน น่ะ ถูกแล้วครับ เพราะเป็นคำบาลี อ่านเรียงพยางค์ สม- (สะ-มะ) แปลว่า เท่า, ดุล แปลว่า คันชั่ง หรือ ความเท่ากัน คำที่อ่านด้วยหลักการเดียวกันนี้ก็เช่น สมการ, สมมูล

    ส่วนเรื่องการใช้ภาษาผิด ผมคิดว่าเป็นเรื่องควรห่วงครับ แต่ก็ไม่ใช่ว่าเห็นด้วยกับการประณามคนใช้ภาษาผิด และไม่ได้เห็นว่าภาษาเป็นของสูงที่ต้องอนุรักษ์ราวกับสัตว์ป่าจะสูญพันธุ์ แต่เห็นว่า มันคือสิ่งที่สวยงาม ลึกซึ้ง ควรใส่ใจ เหมือนวิชาความรู้ทั่วไปที่ต้องศึกษาให้ถ่องแท้ และเสพย์ความสุนทรีย์ไปกับการเรียนรู้นั้น

    การรักษารูปคำ นอกจากจะมีประโยชน์ในการสื่อความหมาย ยังเป็นการรักษารากฐาน รักษาระเบียบของภาษา ไม่ทำให้ภาษาเพิ่มความซับซ้อนในการเรียนรู้โดยมี “ข้อยกเว้น” ที่เกิดจาก “ความนิยม” มากมายอย่างน้อยๆ ก็ทำให้เราอธิบายเด็กๆ ที่สงสัยได้สะดวก ว่าทำไมคำนี้คำนั้นถึงสะกดหรืออ่านอย่างนี้อย่างนั้น อย่างคำว่า สมดุล ข้างต้น ก็ยังมีหลักมีการในการอ่าน แต่พอพจนานุกรมยอมรับคำอ่านตามความนิยมเข้ามาด้วย เราก็ต้องสอนเด็กเพิ่มเติม ว่าให้อ่านได้สองแบบ แบบตามหลักและแบบตามความนิยม การ “ยอมรับ” ข้อยกเว้นเข้ามามากๆ กลับจะกลายเป็นการเพิ่มความซับซ้อนในการเรียนภาษามากกว่า ซึ่งเรื่องนี้ ก็มีผลไปถึงผู้ใหญ่ที่ต้องการใช้ภาษาอย่างถูกต้องด้วย

    ผมคิดว่า ควรต้องส่งเสริมการให้ความรู้มังครับ เช่นที่สมัยก่อนมีรายการภาษาไทยวันละคำ มีคอลัมน์ภาษาพาเพลิน หรือเร็วๆ นี้ ก็มีเว็บอย่าง lang4fun.blogspot.com คือเป็นการกระตุ้นทางบวก มากกว่าทางลบ ก็เหมือนที่คุณลิ่วเสนอน่ะแหละ พออธิบายที่มาที่ไปได้หลายๆ คำ เราก็จะรู้สึกว่า ภาษาไม่ใช่เรื่องไร้ระเบียบกฎเกณฑ์ และการใช้ภาษาให้ถูกต้อง ก็ไม่ใช่ภาระหนักหนาอะไรมากมายให้มาเกี่ยงงอนกันจนกลายเป็นสงครามน้ำลายแบบนี้

  6. thep – จากมุมมองของผม ผมพบว่าไม่น้อยเลยครับ ที่ภาษาวิบัติเป็นการแสดงถึงความพยายามที่จะลดความซับซ้อนของตัวภาษาลง ตัวอย่างเช่นในเรื่องของตัวการันต์ที่ใช้กันไม่ค่อยถูก กรณีนี้มันอาจจะแสดงถึงว่าเราควรจะพิจารณา “ลดความซับซ้อน” ของภาษาลงเพื่อให้ง่ายต่อการเีรียนรู้ยิ่งขึ้น

    ในประเด็นของความสวยงาม ความลึกซึ้งนั้น ผมว่าเป็นประเด็นเฉพาะกลุ่มครับ ผมมองว่าภาษาควรมุ่งเน้นความเรียบง่าย และให้ความแม่นยำในการสื่อสารได้ดีมากกว่า

  7. การลดความซับซ้อนด้วยการเปลี่ยนตัวสะกดการันต์ มันทำให้ภาษาไร้หลักการมากขึ้นเรื่อยๆ มากกว่าครับ แล้วเมื่อเกิดความสับสน ว่าอะไรผิดอะไรถูก ก็จะเกิดมายาภาพ ว่าภาษาไทยไร้หลักการ เรียนหลักเกณฑ์ไปแล้ว ก็ต้องเรียนข้อยกเว้นอีกมากมาย แล้วก็ยิ่งทำให้ขาดแรงจูงใจในการใช้ภาษาที่ถูกหลักมากขึ้นเรื่อยๆ

    เรื่องตัวสะกดการันต์ที่เห็นว่าเป็นความยุ่งยาก ก็มาจากความไม่ใส่ใจมากกว่าครับ ถ้าแค่เลิกเกี่ยงงอนกันสักนิด ฝึกให้เป็นนิสัย ก็จะรู้สึกว่ามันไม่ได้ยุ่งยากอะไรเลย แต่การเผยแพร่ความคิดว่าให้ยอมรับตัวสะกดที่ผิดว่าถูก กลับจะทำให้เด็กๆ เห็นเป็นข้ออ้างที่จะไม่ใส่ใจเรียนหนังสือให้แตก เพราะมีผู้ใหญ่ให้ท้าย

    ความจริงแล้ว ตัวสะกดการันต์มันมีหลักการของมัน มีเหตุมีผลที่อธิบายได้ การเปลี่ยนแปลงตามอำเภอใจโดยอ้างว่าลดความซับซ้อน กลับจะทำให้กฎเกณฑ์เกิดความแปรปรวนซับซ้อนขึ้น ว่าคำคำหนึ่งสะกดได้หลายอย่าง

    ความจริงถ้าทำให้ง่ายสุดๆ โดยตัดการันต์ออกไปจากภาษาไทยเลย แล้วเขียนตามเสียงอ่านล้วนๆ จะเกิดอะไรขึ้น? ก็จะเกิดคำพ้องเสียงขึ้นมามากมาย เราจะลดความเร็วในการอ่านลง จากเดิมที่อ่านแบบจำภาพตัวอักษร จะต้องอ่านออกเสียงในใจเสียก่อน แล้วตีความจากบริบท การสร้างความแปรปรวนของตัวสะกด ก็สร้างอุปสรรคในการอ่านในลักษณะเดียวกัน

    เรื่องความลึกซึ้ง ผมหมายถึงว่า ภาษาไทยมีความเป็นศาสตร์ในตัวมัน พอๆ กับวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ เราอยากส่งเสริมให้เด็กคิดเป็นวิทยาศาสตร์ยังไง เราก็สามารถคาดหวังให้เด็กใช้ภาษาให้ถูกต้องได้ในทำนองเดียวกัน

  8. ผมมองความซับซ้อนของภาษาเป็นการใช้งานในห้วงเวลาของแต่ละยุคแต่ละสมัยมากกว่าครับ แน่นอนว่าภาษาที่ถูกใ้ช้งานมาเป็นเวลานานๆ จะถูกเพิ่มข้อยกเว้นไปเรื่อยๆ ตามการใช้งานของมัน ตรงนี้ผมถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ในสังคมปัจจุบัน กฏเกณฑ์และข้อยกเว้นต่างๆ ในสมัยก่อนก็ถูกลดบทบาทลงไปเรื่อยๆ ตามกาลเวลา

    ตัวอย่างในเรื่องนี้คงเป็นเรื่องของ กาพย์กลอนทั้งหลาย ที่ในสมัยโบราณแล้วไม่เรียนคงไม่ได้ เพราะตำราในสมัยก่อนก็เขียนเป็นกลอนกันทั้งหมด ดังนั้นไม่ว่าจะเรียนสายอะไรก็ต้องรับรู้กฏเกณฑ์ของการเขียนกลอน แต่ในสมัยนี้เรื่องของกาพย์กลอนก็ถูกลดบทบาทไปอยู่ในเรื่องของความสุนทรีย์ในภาษา ซึ่งก็มีคนคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้นที่เข้าใจกฏเกณฑ์ต่างๆ อย่างถ่องแท้และใช้งานได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์

    เรื่องของการใช้ภาษาที่ถูกหลัก จากมุมของผมจึงผมมักมองจากกฏเกณฑ์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเสียมากกว่า และผมว่าเป็นเรื่องดี ที่กฏเกณฑ์นี้จะง่ายลงเรื่อยๆ

    สมมติว่าเรายอมรับว่าการันต์เป็นส่วนที่สามารถตัดออกเพื่อลดความซับซ้อนของภาษาได้ และเราค่อยๆ ยอมรับคำบางคำที่มีการใช้ผิดบ่อยๆ อยู่แล้วให้เขียนได้โดยมีหรือไม่มีการันต์มากขึ้นเรื่อยๆ จนการไม่ใช่การันต์เลยในอนาคต สิบ ห้าสิบ หรือร้อยปีข้างหน้า แน่นอนครับว่ากฏเกณฑ์ของภาษาไทยจะเยอะขึ้น เพราะมีข้อยกเว้นการใช้การันต์ และไม่ใช่เพิ่มเข้ามา แต่่สำหรับในยุคข้างหน้าแล้ว เขาก็มองตัวการันต์เป็นการเขียนแบบเก่า ที่มีกฏเกณฑ์ที่เขาไม่ได้เข้าใจเต็มร้อย แบบเดียวกับที่เราในยุคนี้ไม่ได้เข้าใจกาพย์กลอนกันเต็มร้อยเท่าใหร่ การเรียนรู้เพื่อให้เข้าใจทั้งหมดก็ลดไปอยู่ในผู้ที่ศึกษาภาษาเป็นการเฉพาะมากกว่า

  9. เรื่องนี้ ผมเห็นด้วยเต็มๆ กับคุณ thep นะครับ สิ่งที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ เพราะคนไทยหลายคนไม่ใส่ใจกับภาษาไทย ภาษาแม่ของตัวเอง ที่สำคัญก็ คือ ไม่ใส่ใจจะศึกษาให้เข้าใจ แต่ใส่ใจที่จะเขียนอะไรง่ายๆ เอาความเข้าใจตัวเองเข้าว่า ส่งผลให้นอกจากสะกดผิดแล้ว ยังผันวรรณยุกต์ผิดๆ อีกด้วย (ซึ่งเราก็รู้กันดีนะครับ ผันผิด ความหมายก็ผิดไปด้วย การผันวรรณยุกต์จึงเป็นเรื่องสำคัญ แต่อย่างว่า คนไทยปัจจุบันไม่ใส่ใจกันแล้ว)

    หลายคนที่คิดเหมือนกับผม และคุณ thep อาจจะถูกเป็นพวกอนุรักษ์นิยมไปแล้วก็เป็นไป แต่ผมว่า หลายคนที่คิดอย่างนั้น คือ พวก “เอาง่ายเข้าว่า” มากกว่า ภาษา ยังไงก็ควรมีหลักมีเกณฑ์ของมัน นี่ไม่ใช่ยุคสมัยที่ผู้นำคิดง่าย ลดรูปแบบการสะกดยากๆ ไปเป็นการสะกดตรงๆ นะครับ

  10. คุณลิ่วหมายความว่า จะไม่สนใจความไร้ระเบียบที่จะเกิดในปัจจุบัน แต่มองไปที่อนาคตอันห่างไกล โดยแอบเร่งให้มันเกิดเร็วขึ้นด้วยการส่งเสริมการยอมรับตัวสะกดที่ผิด?

    ผมคิดว่าไม่ใช่ เพราะคุณลิ่วได้เขียนไว้ว่า:

    “…ผม​เอง​ยัง​คง​เชื่อ​ว่า​ภาษา​ควร​ได้​รับ​การสนับสนุนให้​มี​การ​ใช้​งาน​อย่าง​ถูก​ต้อง…”

    คือผมคิดว่า ทั้งคุณลิ่วทั้งผม ต่างเห็นด้วยว่าควรสนับสนุนให้ใช้ภาษาอย่างถูกต้อง และควรใช้มาตรการทางบวกมากกว่าทางลบ แต่รายละเอียดของความเห็นอาจจะต่างกัน คือจะถือว่าการใช้ภาษาผิดหลักเป็นสิ่งที่ควรแก้ไขหรือไม่ สำหรับผม แน่นอนว่าภาษาไม่ใช่ศาสนา ใช้ภาษาผิดไม่ถึงกับตกนรกหมกไหม้ แต่ก็ไม่ใช่ถึงกับ “ยอมรับ” ให้การใช้ภาษาผิดเป็นสิ่งที่ถูกไปด้วย ถ้าใครพบว่าตัวเองใช้ภาษาบกพร่อง ก็ยังสมควรพยายามปรับปรุงแก้ไข ไม่ใช่ส่งเสริมการเกี่ยงงอนที่จะเรียนรู้

    กลับมาที่เรื่องตัวสะกดการันต์ ผมย้ำอีกทีว่าตัวการันต์มีประโยชน์ในการแยกแยะศัพท์ ทำให้เรามีหลักในการพิจารณาความถูกผิด และทำให้เราสร้างคำใหม่ๆ ได้หลากหลาย เรื่องวิวัฒนาการของภาษา ผมกลับมองว่า ภาษาไทยมีการพัฒนาระเบียบแบบแผนมาตามยุคสมัย โดยมีกฎเกณฑ์ที่เป็นระเบียบมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นถ้าอ่านเอกสารเก่าๆ อาจพบตัวสะกดหลากหลาย แต่การชำระภาษาในยุคต่างๆ เช่น การกำหนดอักขรวิธีสำหรับคำยืมจากภาษาต่างๆ ทำให้การสะกดคำไทยมีเอกภาพมากขึ้นตามกาลเวลา แนวโน้มของพัฒนาการก็ควรจะเป็นไปในทิศทางนั้น เหมือนสิ่งต่างๆ ทั่วไป ที่มีการปรับปรุงซ่อมแซมตัวเองตามกาลเวลา ภาษาคะนองที่มีในยุคต่างๆ ก็มาแค่ชั่วคราว แล้วก็ตายจากไป แต่ภาษาแบบแผนก็ยังคงอยู่ และเก็บเกี่ยวเอาแต่สิ่งที่เพิ่มพูนเข้าไว้ ก็ไม่จำเป็นต้องไปสร้างความชอบธรรมให้กับสิ่งแปลกปลอมที่เกิดขึ้นให้เกินจริงไป (เช่น ไปรับรองว่าเป็นสิ่งที่ถูก) เพียงแต่ช่วยกันดูแลสิ่งที่เป็นรากฐานให้พัฒนาต่อไป

    แล้วอะไรที่ผมว่าน่าห่วง? ก็อาจจะเป็นความเข้าใจไปว่า ภาษาคะนอง ภาษาเลินเล่อที่เกิดขึ้น เป็นตัววิวัฒนาการของภาษา แล้วไปก่นด่าผู้ดูแลภาษาแบบแผนว่าเชย ว่าล้าสมัย มันไม่ควรจะกลายเป็นความเห็นสายหลักของสังคมไป

  11. จะว่าผมอยากให้เร่งการเปลี่ยนแปลงของภาษาก็คงได้มังครับ แต่คงไม่ใช่การไปยอมรับภาษาคะนอง หรือความไม่เข้าใจภาษาไปเสียหมด

    แต่ที่ผมอยากให้เกิดขึ้นจริงๆ คือการมองคำสะกดผิดเหล่านั้นและศึกษามันว่าคำเดิมที่ถูกต้องสร้างความลำบากในการใช้งานจริงหรือไม่ กฏเกณฑ์ข้อไหนที่สร้างความสับสนให้กับการใช้งานมาเป็นเวลานาน แทนที่จะมองว่าการใช้ผิดเป็นความผิดของผู้ใช้ไปเสียหมด ตัวอย่างการันต์ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของภาษาไทย ที่เราควรศึกษาว่ามันสร้างคุณหรือโทษในการใช้งานภาษาไทยกันอย่างจริงจัง ในโลกความเป็นจริงภาษาไทยมีความสับสนอีกมากที่ผมเืชื่อว่าควรค่าแก่การศึกษามัน และพิจารณาว่าเราควรยอมรับมันหรือไม่ เช่น ปฏิเสธ/ปฎิเสธ อะไรอย่างนี้

    ที่ผมรำคาญใจคือมุมมองของ “ผู้รักภาษา” ทั้งหลาย ที่มักจะมองว่าการใช้ภาษาผิดเป็นความผิดของผู้ใช้เพียงอย่างเดียว และโทษว่าผู้ใช้ไม่เอาใจใส่ที่จะเรียนรู้ หรือไม่ให้ความสำคัญกับภาษาอย่างเพียงพอ ไม่ว่าความผิดพลาดเช่นนั้นจะเกิดขึ้นบ่อยเพียงไร หรือมีผู้ใช้ผิดพลาดมากแค่ไหน แม้ต่อให้ร้อยละ 99.9 จะเป็นเช่นนั้นจริง แต่เราก็ควรมองกลับว่าอีกร้อยละ 0.1 โดยไม่อิดออด และยอมรับว่าภาษาเองก็มีจุดบกพร่องของมันที่ควรได้รับการแก้ไข

    มุมมองอย่างนี้สร้างคนประเภท “องครักษ์พิทักษ์ภาษา” ขึ้นมาไม่น้อย สร้างเหตุการณ์ที่ทำให้เราต้องมานั่งคุยเรื่องของภาษากันก่ิอนที่จะเอาภาษามาใ้ช้ ตัวอย่างที่ผมเขียน Blognone ที่เป็นข่าวคอมพิวเตอร์ แต่มีหลายครั้งที่ข้อความให้ความเห็นกลับเป็นการทุ่มเถียงกันเรื่องการใช้ภาษา แทนที่จะอ่านข้อความและถกประเด็นที่ถูกตั้งขึ้นมาให้เป็นไปตามวาระและโอกาส และเหตุการณ์คล้ายๆ กันนี้มีอยู่ทั่วไปจนแทบจะกลายเป็นเรื่องปรกติของเว็บไทยที่คนเข้าใช้งานมาก และมีผู้ใช้หลากหลาย

    ภาพที่ผมคิดว่าควรเป็นคือเมื่อจุดผิดพลาดในการใช้ภาษาแล้ว ก็เพียงให้ข้อมูลที่ถูกต้องและแม่นยำกับผู้ที่ใช้งานผิด โดยไม่ดูถูก หรือต่อว่าแต่อย่างใด โดยมองที่ความตั้งใจของผู้ใช้ที่พยายามจะใช้งานให้ถูกต้องเป็นหลัก และยอมรับว่าต่อให้ผู้ใช้ภาษามีความตั้งใจดีเพียงใด ก็มักมีความผิดพลาดขึ้นเสมอๆ แทนที่จะเป็นเรื่องการจ้องจับผิดอย่างในปัจจุบัน

  12. อาจจะเป็นปฏิกิริยาสะท้อนกลับจากคนที่ถูกติงมังครับ ที่กระตุ้นให้เกิดการปะทะในวงกว้างขึ้น เท่าที่จำได้ คำพูดว่า “นี่เป็นเว็บข่าวคอมพิวเตอร์นะครับ ไม่ใช่เว็บสอนภาษาไทย” เป็นจุดที่กระตุ้นให้ผมเข้าร่วมวงครั้งแรก เพราะไม่คิดว่าเป็นข้ออ้างที่สมเหตุสมผลที่จะละเลยความรับผิดชอบในฐานะผู้เขียนข่าว คือถ้าบอกกันแล้วก็แก้ไป ผมก็คงอนุโมทนาสาธุแล้วก็จบกันไป ไม่ถึงกับเข้าร่วมอภิปราย และครั้งนี้ ก็เป็นคำพูดที่ว่า “ผมว่าถ้ามันมีคำไหนที่มันระบาด ‘ไปหมดแล้ว’ มันก็อาจจะถึงเวลาที่เรายอมรับคำพวกนั้นแล้วมังครับ” ทำให้ผมรู้สึกว่าถึงขีดที่จำเป็นต้องพูดอะไรเสียบ้าง ลำพังความเห็นที่คุณลิ่วเขียนใน blog ก็ยังอยู่ในจุดที่รับได้ แต่ถ้าจะยอมรับสิ่งที่ผิดว่าถูก ผมคิดว่าไม่เห็นด้วย

  13. ปล. ขอบอกตรงนี้ว่า ผมรู้สึกชื่นชมทุกครั้งที่มีการแก้คำผิดเกิดขึ้นที่ blognone นะครับ การต่อว่าต่อขาน ไม่ว่าจะจากผู้รักภาษา หรือจากนักเขียนเอง เป็นสิ่งที่ไม่น่าเกิดขึ้นครับ อินเทอร์เน็ตทำให้คนไทยเริ่มสูญเสียความถ้อยทีถ้อยอาศัยขึ้นทุกวัน

  14. คำที่มีการันต์ มักเป็นคำที่มาจากภาษาต่างประเทศ ที่จะพบบ่อยก็เป็นบาลี-สันสกฤต (+อังกฤษ) อย่างเช่นว่า รัตน์ (รัด ตะ นะ) ,จันทร์ จันทะระ ,วิทย์ วิดทะยะ อะไรแบบนี้

    แต่..
    ภาษาไทยยังไม่ตาย
    ยังไม่ตายเหมือนพวกภาษากรีก บาลี

    ตามความเห็นส่วนตัว การอนุรักษ์เป็นสิ่งดี ดีมากด้วยแหละ
    แต่ภาษาไทยไม่ได้ตาย ยังไงมันก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลง
    อนิจจัง ความไม่เที่ยง ไม่มีอะไรอยู่ชั่วนิรันดร์ พระอาทิตย์ก็ต้องดับสูญ

    แต่ไม่ชอบมากๆ เวลาเห็นคนด่ากัน แ ร ง ๆ ว่าไม่รักชาติ แบบนั้น เค้ามีสิทธิ์อะไรไปตัดสินคนอื่นล่ะ แถมให้เหตุผล ไม่เข้าท่าอีก – -”

    เพิ่มเติม แล้ว ม่ายช่าย ทามมาย อารายหรอ แบบนี้ จะรับกันได้ไหมอ่ะ
    สิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้ยากจากตัวหนังสือ น้ำเสียง และท่าทาง ขึ้นกับจินตนาการของคนอ่านอย่างเดียวเลย
    ..มันเป็นแค่จินตนาการของคนโง่งมงาย..(เหอๆ เพลงเพราะๆ)

  15. อ่านบล็อกชิ้นนี้แล้วตีกันกับหัวเรื่องเรื่องการรักษามาตรฐาน w3c ยังไงไม่รู้ครับ

  16. iannnnn – ผมว่าก็ไม่แปลกนะ

    เวลาเรื่องงาน ผมก็เรียกร้องให้ทุกอย่างอยู่ในตารางเวลาเป๊ะๆ มีแบบแผน

    แต่ถ้าเป็นเรื่องในครอบครัว ผมก็ไม่สนเรื่องตารางเวลาเท่าใหร่เหมือนกัน

Comments are closed.