หนังสือที่ซื้อมาในกลุ่มวัคซีน คิดว่าปีหน้าน่าจะมีอีกหลายเล่มตามมา เล่มนี้นับเป็นเล่มแรกๆ ของกลุ่มวัคซีนหลักที่ใช้ในโลก เล่าถึงวัคซีน AstraZeneca แต่คนเล่าเป็นทีมออกซ์ฟอร์ด
หนังสือแสดงมุมมองปัญหาและพัฒนาการของการพัฒนาวัคซีน และปัญหาใหญ่ที่สุดคือเงิน โดยพาเราเข้าไปอยู่ในมุมมองนักวิจัยที่ไม่ได้เป็นแค่นักวิจัยทดลองอยู่กับหลอดทดลอง แต่ในความเป็นจริงคือวัคซีนมันเร็วได้เพราะมีเงินทุน และมีคนยอมเสี่ยง
หนังสือเล่าให้เราเห็นว่ากระบวนการออกแบบวัคซีนนั้นทำได้เร็วมาก แต่ความยากจริงๆ คือการพิสูจน์ว่าวัคซีนใช้งานได้จริงโดยไม่มีผลข้างเคียงที่ยอมรับไม่ได้ เช่น วัคซีนตัวหนึ่งฉีดแล้วทดสอบ HIV เป็นบวกก็ต้องยกเลิกไป
แต่กระบวนการทดสอบนั้นไม่ใช่ว่ามีออกแบบวัคซีนเสร็จแล้วอยากทดลองก็ทดลองได้เลย ปัญหาใหญ่ที่สุดคือโรงงานผลิตวัคซีนต้นแบบที่ต้องเป็นโรงงานระดับ GMP ซึ่งค่าบำรุงรักษาแพงมาก และการใช้งานมักจองล่วงหน้าด้วยโครงการวิจัยต่างๆ ที่ไปชิงทุนกันมาก่อนหน้า ตัววัคซีน AZ เองก็เกือบต้องล่าช้าออกไปแม้ออกซ์ฟอร์ดจะมีโรงงาน GMP ของตัวเองแต่ก็มีคิวผลิตให้วัคซีนตัวอื่นๆ อยู่
กระบวนการให้เงินทุนในรอบ COVID นั้นเร็วขึ้นมากแล้ว แต่ในความเป็นจริงคือมันยังช้าอยู่ กรณีนี้ Dr. Catherine ยอมเสี่ยงเอาโรงงานมาผลิตวัคซีน COVID ก่อนทั้งที่ทุนวิจัยยังไม่มา หรือมหาวิทยาลัยยอมเซ็นจองคิวโรงงานในอิตาลีทั้งที่ทุนยังไม่ได้
ปัญหาแบบนี้น่าจะสะท้อนต่อกระบวนการจัดสรรงบประมาณการวิจัยในอนาคต เราควรจะวางเงินทุนอย่างไรให้ตอบสนองต่อเหตุการณ์แบบนี้ได้ดีกว่านี้ในอนาคต หรือแม้แต่ตั้งคำถามว่าการปล่อยให้นักวิจัยไร้ความมั่นคง วิ่งตามเงินโครงการไปเรื่อยๆ แบบนี้เป็นเรื่องที่ดีหรือไม่
ทั้งสองคนบ่นสื่ออย่างหนัก บ่นตั้งแต่หน้าแรกจนแทบหน้าสุดท้าย ปีที่ผ่านมาน่าจะโดนหนักทั้งสองคนจริงๆ (บางข่าวบอกว่าเขียนครบถ้วนดีแต่พาดหัวทีเดียวฉิบหายเลย)
หนังสือแบ่งเป็นบทสลับไปมาระหว่าง Prof. Sarah Gilbert และ Dr. Catherine Green การสลับแบบนี้ทำให้อ่านยากเรื่องวนไปมาหลายรอบ โดยรวมๆ ทำให้ลดความน่าสนใจลง แต่กับเนื้อหาที่อินไซต์จริง และน่าจะรีบออกพอสมควรก็เข้าใจได้ โดยทั่วไปยังแนะนำให้คนสนใจเหตุการณ์ COVID ได้อ่านกัน