ดองมาหลายปี และตอนนี้ก็ยังอ่านไม่จบ (แต่คืบหน้าไปมาก) กลับมาอ่านเพราะไปอ่านคอมเมนต์หนังสือ In Order to Live แล้วมีคนวิจารณ์ว่าหนังสือเรื่องราวของคนที่หนีออกมาจากเกาหลีเหนือมีประเด็นหลายอย่างที่ไม่ควรใช้เป็นข้อมูลหลัก เช่น ความจำผิดพลาดหรือคนเล่าอาจจะโม้ (คนดังๆ เล่าเรื่องออกทีวีไม่ตรงก็กันเองก็หลายครั้ง) และเรื่องราวก็เป็นช่วงเวลาจำกัด คนเหล่านี้มักออกมาจากเกาหลีเหนือในยุคที่แย่มากๆ ช่วงปี 199x ทำให้ภาพมันแย่กว่าความเป็นจริง ข้อมูลช่วงหลังก็ชี้ว่ารัฐบาลเกาหลีเหนือเองปล่อยตลาดให้ดำเนินไปได้มากขึ้น ทำให้ความเป็นอยู่โดยรวมไม่ได้แย่ขนาดนั้น
The Impossible State เล่าภาพกว้างได้ดีกว่ามาก (จากที่อ่านมาครึ่งเล่ม) หนังสือเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการแยกประเทศ เล่าถึงภาวะที่ทำให้ผู้นำเกาหลีเหนือตัดสินใจครั้งใหญ่ๆ ภาพที่เรานึกไม่ค่อยออกอย่างช่วงเวลาที่เกาหลีเหนือเจริญกว่าเกาหลีใต้ ระบบแจกจ่ายอาหาร (public distribution system – PDS) ทำงานเต็มที่ มีอาหารเหลือๆ แจกให้ประชาชน และการที่ผู้นำแสดงความคิดเห็นในเชิง “เสรี” เช่นการประกาศนโยบายแจกจ่ายที่นา
ภาพที่หนังสือให้มาเลยไม่ใช่ภาพง่ายๆ ว่าเป็นรัฐชั่วร้ายหรืออะไร แต่แสดงภาพว่า “เรามาถึงจุดนี้ได้ยังไง” แต่ถ้าใครถามหาความเป็นกลาง (ยังไงถึงเรียกว่าเป็นกลาง) ก็คงต้องบอกว่าคนเขียนทำงานให้กับรัฐบาลสหรัฐฯ หนังสือพยายามอธิบายถึงเหตุผลว่าทำไมผู้นำในแต่ละยุคถึงตัดสินใจแบบนั้น และการตัดสินใจเช่นนั้นทำให้ประเทศถดถอยอย่างต่อเนื่องได้อย่างไร
ยิ่งอ่านไปยิ่งคิดว่าควรอ่านก่อนหนังสือพวกความทรงจำหลายๆ เล่ม