ผมเป็นคนเชื่อเรื่องการแข่งขันแบบทุนนิยมพอสมควร และไม่ค่อยเห็นด้วยกับการที่รัฐบาลไปอุ้มอาชีพใดๆ เช่น การเกษตร ในรูปแบบต่อเนื่องยาวนานนับสิบปีโดยที่มองไม่เห็นวันที่อาชีพเหล่านั้นจะยืนหยัดในตลาดโลกได้
แต่คนจำนวนมากไม่ได้เชื่อเหมือนผม ขณะเดียวกันหลายประเทศไม่ได้มีกลไกที่จะเข้าไปอุ้มชูอาชีพที่มีคนจำนวนหนึ่งอยากให้มีต่อไป แม้จะแข่งขันได้ลำบากแล้วก็ตาม ความเชื่อเหล่านี้เป็นกลุ่มใหญ่ที่เชื่อว่าเกษตรกรควรได้รับค่าสินค้าของเขาสูงกว่าราคาที่แข่งขันอย่างหนักในตลาดโลก
กลุ่ม Fairtrade จึงตั้งขึ้นมาเป็นตัวแทนของการรับรองว่าแบรนด์ต่างๆ ได้จ่ายให้กับเกษตรกรอย่างเพียงพอ ทางกลุ่มจะมีราคามาตรฐานสำหรับสินค้าเกษตรแต่ละอย่างเอาไว้ให้กับเกษตรกรแต่ละประเทศ อย่างเช่น ข้าวไทย ก็มีราคาตั้งแต่ตันละ 9399 บาทไปจนถึง 15665 บาท
แนวคิดอย่างนี้ไม่ได้เป็นเรื่องแปลกประหลาด ไม่ใช่การบิดตลาด ตรงข้าม เป็นการสร้างคุณค่าให้กับผู้ซื้อกลุ่มที่เชื่อว่าเกษตรกรต้องมีรายได้ดีกว่าตอนนี้ ว่าเขาสามารถเลือกซื้อสินค้าบางยี่ห้อได้ และตอบสนองต่อความเชื่อทางสังคมของเขา แบบเดียวกับที่เรารู้สึกว่าข้าวบางสายพันธุ์บางกระบวนการผลิตน่าจะดีต่อสุขภาพมากกว่าปกติ หรือบางสายพันธุ์ถูกปากเรากว่าพันธุ์อื่นๆ
บ้านเราผมไม่เคยเห็นข้าวที่มีตรา Fairtrade จริงๆ แต่เห็นกาแฟเป็นส่วนมาก มีชาบ้างประปราย แต่กลุ่ม Fairtrade เองก็มีปัญหาในตัวเพราะคิดค่าใช้โลโก้ ค่อนข้างแพง บางกรณีเกือบ 10% ของราคาสินค้า ถ้าเราจะตั้งกลุ่มรับรองว่าชาวนาจะได้ค่าข้าวเท่าไหร่จึงน่าพอใจก็คงทำได้