ประชาธิปไตยแห่งข้อมูล

เห็นหมอจิมมี่กับพี่เฮ้าพูดเรื่องเว็บ Skiplagged ถูกฟ้องเพราะไปหาทางบินราคาถูกด้วยการลงกลางทางในเที่ยวบินต่อบางเที่ยว

ในแง่ผลกระทบว่าสุดท้ายแล้วสายการบินจะขึ้นราคาหรือไม่คงเป็นเรื่องหนึ่ง แต่ในแง่หนึ่งผมมองว่านี่เป็นประชาธิปไตยแห่งข้อมูล

เวลาที่เราพูดถึง Big Data เรามักพูดกันแต่ว่าธุรกิจจะสร้างแนวทางให้บริการใหม่ๆ ได้อย่างไร เราจะเอาเงินจากลูกค้าคนหนึ่งๆ ที่เข้าเว็บหรือเข้าร้านอขงเรามาแล้วได้อย่างไร

ราคาตั๋วที่แปลกประหลาดของสายการบินเองก็มีแนวทางมาจากแนวคิดเหล่านี้ สายการบินดูฐานข้อมูลของตัวเองแล้วนั่งคิดว่าจะทำอย่างไรจึงทำให้สายการบินได้เงินมากที่สุดจากเที่ยวบินที่ขายตั๋วไปแล้ว สายการบินคำนวณจากข้อมูลมหาศาล ใส่เงื่อนไขทางธุรกิจของสายการบินลงไป แล้วได้ราคาที่ออกจะแปลกประหลาดออกมา

ผมคงไม่แปลกใจเท่าไหร่ ถ้าสายการบินใส่เงื่อนไขลงไปเองว่าห้ามตั๋วในเส้นทางยอดนิยมต่ำกว่าค่าๆ หนึ่ง แม้ว่าระบบจะแนะนำให้ตั้งราคาต่ำกว่านั้นเพื่อให้ได้รายได้สูงสุดก็ตามที เพราะเงื่อนไขทางธุรกิจที่ฝ่ายการตลาดเชื่อว่าหากตั้งราคาต่ำกว่าค่าหนึ่งแล้วจะ “เสียราคา”

แนวทางแบบนี้ใช้มาได้นานหลายเพราะคนถือข้อมูลคือสายการบินเพียงอย่างเดียว เว็บค้นหาราคาเองก็ค้นหาเฉพาะปลายทางถึงปลายทางเท่านั้น

สิ่งที่เกิดขึ้นกับ Skiplagged คือความจริงว่าสายการบินไม่ได้ถือข้อมูลคนเดียวอีกต่อไป ลูกค้าเองก็อาจจะเข้าถึงข้อมูลของสายการบินได้แบบเดียวกับที่สายการบินถือข้อมูลการซื้อตั๋วของลูกค้า

เรื่องแบบนี้เคยเกิดขึ้นกับร้านค้าทั่วไปที่ถูกเช็คราคาออนไลน์ตลอดเวลา และร้านค้าก็โวยวายว่าไม่แฟร์เช่นกัน ในอนาคตคงไม่แปลกถ้าจะมีข้อมูลมหาศาลถูกใช้กลับข้างสำหรับผู้บริโภคมากขึ้นเรื่อยๆ และมีคนทำกำไรจากการยื่นข้อมูลให้ผู้บริโภคแบบนี้ ร้านค้าออนไลน์เองนอกจากถูกเทียบราคาแล้ว อาจจะถูกเก็บประวัติราคาอย่างชาญฉลาด ข้อมูลสินค้าจำนวนมหาศาลในเว็บอีคอมเมิร์ชขนาดใหญ่อาจจะถูกเก็บข้อมูลเพื่อคำนวณดัชนี เว็บขายเกมอย่าง Steam อาจจะมีบริการพยากรณ์ว่าเกมจะถูกลงเมื่อไหร่ แทนที่จะต้องมานั่งเดาหลังจ่าพิชิตซื้อแบบทุกวันนี้

คดี Skiplagged อาจจะชนะหรืออาจจะแพ้ แต่ข้อมูลจะมีคนรวบรวมและเข้าถึงมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นเรื่องที่คงต้านไว้ได้แค่ช่วงเวลาหนึ่ง หรืออาจจะต้านไม่ได้เลย

 

lewcpe

CTO at MFEC PLC. Chief Editor at Blognone.com