ผมว่าจะเขียนเรื่องนี้อยู่หลายครั้ง แต่มาถูกกระทุ้งอีกที่ตอนที่กระทู้ “ทำไมมีแต่คนเกลียด microsoft” ถูกขุดขึ้นมา
ผมไม่ทราบแน่ว่าความเกลียดแบบนี้มันเริ่มมาจากตรงไหน แต่คงไม่เกินไปถ้าผมจะคิดว่ามันเป็นเพราะไมโครซอฟท์ “ขาย” ซอฟต์แวร์ในราคาที่คนไทยบ่นๆ กันว่าแพง ที่น่าสนใจกว่าคือ กูเกิลนั้นดูจะอยู่ฝ่ายเทพเสมอจนน่าเอียนๆ
ผมเคยได้คุยกับ Vic Gundotra อยู่ครั้งหนึ่งเมื่อเขามาทัวร์เก็บความเห็นเกี่ยวกับ Android และโลกโมบายในแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้นี้ (ตอนนั้นเขาแง้มเหตุผลที่ Google Maps มีภาษาไทยว่าเพราะมีคนใช้มาก “อย่างคาดไม่ถึง”)
เขาถามคนในห้องว่าทำไมกูเกิลจึงอยากทำ Android และอยากให้คนใช้ Android? มีคนในห้องตอบว่า “เพราะกูเกิลเป็นคนดี”
คำตอบที่กลับมา “ใช่ เราอยากเป็นคนดี … แต่สำคัญกว่านั้นคือเรามีแรงจูงใจทางเศรฐกิจ”
แรงจูงใจทางเศรษฐกิจ….
ผมพบว่าคุณจะเข้าใจทุกอย่างได้ง่ายขึ้น ถ้าเรามองอะไรง่ายๆ เช่นถ้าเราตั้งคำถามว่าบริษัทยักษ์ใหญ่เช่นไมโครซอฟท์, กูเกิล, ออราเคิล หรืออโดบีนั้นทำทุกอย่างเพื่ออะไร
ทุกบริษัทเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ มีการซื้อขายหุ้นกันทุกวัน
กิจกรรมของบริษัทนั้นเป็นไปเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้น ไม่มีอะไรยากไปกว่านั้น และผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นนั้นแทบทั้งหมดคือกำไร มีบ้างที่เป็นอย่างอื่น เช่นเมื่อครั้ง New York City Pension Funds เสนอให้กูเกิลทำตามหลักหกข้อเพื่อพิทักษ์สิทธิในการแสดงความเห็น ครั้งนั้นผู้เรียกร้องมาในนามของผู้ถือหุ้น 8 เปอร์เซนต์กว่าๆ (เข้าใจว่าไปล็อบบี้นอกรอบยืมเสียงหุ้นมา)
แน่นอน คนที่เชื่อว่า PowerPC ดีกว่า x86 เพราะมันเป็นจิตวิญญาณ อาจจะยับยั้งการเปลี่ยนมาใช้ x86 ได้ง่ายๆ ถ้าคุณมีหุ้นมากพอ
บริษัทต่างๆ ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดี เพื่อที่จะมีหน้าไปบอกผู้ถือหุ้นได้ว่ารอบปีหนึ่งๆ พวกเขาทำอะไรกันบ้าง
ผลประโยชน์นั้นมีทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ระยะสั้นก็คงเป็นกำไรที่เห็นๆ กันอยู่ ระยะยาวนั้นคืออิทธิพลบริษัทในตลาด เพื่อผลกำไรในระยะยาวต่อไป
ผู้ถือหุ้นไมโครซอฟท์อดทนต่อสภาพตัวแดงเถือกตลอดหลายปีที่ผ่านมาของ Xbox ได้เพราะเล็งเห็นว่ามันจะเริ่มแสดงตัวเขียวในวันนี้ และหวังว่าปีหน้ามันจะเขียวมากๆ (แต่ถ้าไฟแดงยังเถือกอยู่อย่างนี้อาจจะลำบากหน่อย)
กูเกิลต้องการดึงผู้ใช้เข้าหาตัว ยิ่งคนใช้กูเกิลมาก โอกาสทำกำไรก็ยิ่งมาก กูเกิลเลยผู้ทุกคนไว้กับตัว Android รุ่นที่ผูกกับกูเกิลมากๆ นั้นแทบใช้อะไรไม่ได้ถ้าคุณไม่มี Google Account แถมด้วยการที่กูเกิลควบคุมแพลตฟอร์มได้ ทำให้หากกูเกิลคิดบริการแปลกประหลาดใหม่ๆ (เช่น Wave) ก็สามารถดันลงไปสู่เครื่องลูกข่ายได้โดยเร็ว (ผ่าน Android, Chrome) ทั้งหมดกลับมาเป็นความได้เปรียบในการแข่งขันและกำไร
อโดบีนั้นก็ไม่ต่างกัน แม้จะมีกำไรจาก “ชุดพัฒนา” เสียมากกว่า การปล่อยให้แพลตฟอร์มหลักตกไปอยู่ในมือของกูเกิลหรือไมโครซอฟท์ ซึ่งจะทำให้อโดบีไม่สามารถเป็นผู้นำได้ ก็ยอมไม่ได้เช่นกัน อโดบีจึงทุ่มทุนมหาศาลดึงคนมาอยู่ใน Flash ไม่ว่าจะเป็น AIR หรือ Flex
ความดีในภาพเหล่านี้คืออะไรกัน ในโลกทุนนิยมความดีคือผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น แม้มันจะดูเลือดเย็น แต่มันเป็นความจริง
แต่ความจริงอีกด้านหนึ่งแล้ว หากบริษัทเหล่านี้ไม่ทำเพื่อกำไรสูงสุด ภาพที่เกิดขึ้นกลับไม่ใช่เศรษฐีรายใหญ่หมดตัวเสมอไป แต่กลับเป็นภาพของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของคนทำงานมายี่สิบสามสิบปีที่กำลังหายวับไปกับตา เป็นภาพของคนชั้นกลางธรรมดาๆ ที่ต้องหมดเนื้อหมดตัว…
ความดีในโลกธุรกิจคืออะไรกัน?
MS โดนมองว่าเป็นผู้ร้าย เพราะ Windows อยู่ใกล้ตัวผู้ใช้มากที่สุด ทั้ง Windows , Office
แถมเวลา BSA ลงจับ ก็ขึ้นชื่อโปรแกรมของ MS เป็นด่านแรกเสมอ
เลยทำให้ใครๆก็มอง MS ในแง่ร้ายเสมอ
ผมว่าเพราะแค่ Windows มันอยู่ใกล้คนมากเกินไป
เขาก็ตอบตรงดีนะครับ
ทุนนิยม อย่างน้อยคงต้องมี 2 ฝ่าย คือ ภาคธุรกิจ กับ ผู้บริโภค (ไม่รู้ว่าภาครัฐจำเป็นเสมอไปหรือเปล่า)
ในมุมมองของภาคธุรกิจแน่นอนต้องเป็นผลประโยชน์ กำไร อย่างที่ว่า ถ้ามีธุรกิจนั้นมีหุ้น ก็ต้องเป็นกำไรของคนถือหุ้น
ภาคผู้บริโภค ก็คงมีมุมมองคนดี ที่เลือดเย็นไม่น้อยไปกว่ากันเท่าไหร่คือ คนดีของผู้บริโภคก็ต้องสินค้า หรือให้บริการที่ ผู้บริโภคพอใจ ในราคาที่น้อยๆ ยิ่งน้อยยิ่งดี โดยที่ผู้บริโภคทั่วไปไม่สนใจหรอกว่าธุรกิจจะได้กำไรหรือเปล่า หรือเจ้าของ (อาจจะเป็นผู้ถือหุ้น) จะยากดีมีจนอย่างไร หรือแม้แต่ว่ากรรมกร หรือลูกจ้างจะได้เงินเดือนเท่าไหร่
ถ้าหากว่าผูกขาดไม่ได้ แล้วเป็นคนไม่ดีคนของผู้บริโภคอีก ผลสะท้อนมันก็น่าจะออกมาเป็นกำไรที่ลดลงไปด้วย
สามบริษัทได้แก่ไมโครซอฟต์ อโดบี และกูเกิล ผมคิดว่ามีเหตุผลตามนี้
สินค้าและบริการของกูเกิล อโดบีและไมโครซอฟต์ ไปถึงผู้บริโภคกลุ่มใหญ่โดยตรงทั้งคู่ แต่ว่ามีไมโครซอฟต์เจ้าเดียวที่เก็บเงินจากผู้บริโภคกลุ่มนี้ ต่างจากกูเกิลที่ไปเก็บจากโฆษณาแทน ส่วนอโดบีก็ไปเก็บเงินจากนักพัฒนาแทน กลุ่มนักพัฒนาและกลุ่มที่ลงโฆษณาเห็นๆ ว่ากลุ่มเล็กกว่าผู้บริโภคทั้งหมดมาก คนเกลียดก็น้อยลงแล้ว
ยิ่งในกรณีของกูเกิลที่เก็บเงินจากโฆษณา ก็เลยกลายเป็นคนดีในของนักพัฒนาด้วย เพราะว่าไม่ได้ไปเก็บเงินจากนักพัฒนา
กรณีของ IM กูเกิลทำระบบเปิดมากกว่าไมโครซอฟต์ แต่ว่าคนส่วนมาก็ใช้ gtalk ผ่านหน้า gmail หรือ client ของกูเกิลอยู่ดี พอใช้ผ่าน gmail ก็ยังโฆษณาได้ตามเดิม กำไรมันก็คงไม่ได้ลดลงไปมากมาย หรืออาจจะไม่ได้ลดลงเลย แต่ลดแรงเสียดทานความเกลียดชังลงไปได้
กรณีที่ผมว่าหาเหตุผลยากกว่าคือแอปเปิ้ล แอปเปิ้ลทำทุกอย่างที่ผมคิดว่าคนน่าจะเกลียด เก็บเงินจากผู้บริโภคโดยตรง เก็บเยอะด้วย ไอทูนก็พยายามจะกันไม่ให้ palm pre มาใช้ด้วย จะเขียนโปรแกรมบนไอโฟน ก็ต้องเขียนบน mac os x แต่ทำไมคนไม่เกลียดแอปเปิ้ลเท่าไมโครซอฟต์ ที่คิดได้ตอนนี้คือ อย่างน้อยๆ คนใช้ไอโฟน ก็น้อยกว่าคนใช้ windows หรืออาจจะเกี่ยวกับการตลาดด้วย แอปเปิ้ลอาจจะเก่งกว่าในการบอกว่าสินค้าของเขาเป็นสิ่งที่ดี หรือด้วยสินค้าเอง ถ้าไมโครซอฟต์กับแอปเปิ้ลขายแต่เมาส์บางทีคนอาจจะรักไมโครซอฟต์กว่าก็ได้
กฏสามข้อของ Google
1. Google มิอาจเรียกเก็บตังค์มนุษย์ได้
2. Google ต้องเชื่อฟังคำสั่งที่ได้รับจากผู้ที่เป็นมนุษย์ เว้นแต่คำสั่งนั้นๆ ขัดแย้งกับกฎข้อแรก
3. Google ต้องปกป้องบริษัทของ Google ไว้ตราบเท่าที่การกระทำนั้นมิได้ขัดแย้งต่อกฏข้อแรกหรือกฏข้อที่สอง
:-)
กฏสามข้อของ Google <- แค่ข้อแรกก็ผิดแล้ว
สำหรับผมแล้ว ผมไม่คิดว่าเป็นความ “เกลียด” สำหรับ MS แต่คิดว่าเขามี “ปัญหา” โดยปัญหาหลายเรื่องก็ไม่ด้อยู่ที่เขาทั้งหมด แต่อยู่ที่พฤติกรรมผู้ใช้เป็นหลัก
เราถกกันเรื่องปัญหาจนมันกลายเป็นสงครามศักดิ์สิทธิ์ จนในที่สุดเราก็ลืมประเด็นต้นตอของปัญหากันไปหมด เหลือแต่ความรู้สึกระหว่างสองฝ่าย
ทุกวันนี้ผมไม่ค่อยอยากจะพูดถึงปัญหานัก ยกเว้นกรณีที่เจอจัง ๆ เพราะส่วนมากจะได้รับคำตอบในลักษณะ “สาวก” แล้วก็ถูกยัดเยียดความเป็น “สาวก” ฝ่ายตรงข้ามให้
แต่ประเด็นของปัญหาก็ยังคงอยู่ ก็ยังต้องหาโอกาสพูดกันต่อไป แม้จะยากขึ้นทุกที
ส่วนประเด็นเรื่องความดีในโลกธุรกิจ ผมคิดเหมือนที่ ESR ว่าไว้ ว่าการพาณิชย์ไม่ใช่สิ่งเลวร้าย แต่สิ่งเลวร้ายก็คือ เอกชนรายใหญ่ที่คอยเหวี่ยงโมเมนตัมของตัวเองเที่ยวชนชาวบ้านจนล้มระเนระนาดกันไปหมด
ผมยังคงไม่เชื่อในตลาดแข่งขันเสรี ตลาดเสรีแบบเข้มข้นจะจัดระเบียบตัวเองจนกลายเป็นระบบผูกขาดในที่สุด ผ่านกระบวนการปลาใหญ่กินปลาเล็ก และการป้อนกลับแบบบวก ทุนนิยมจึงต้องมีการควบคุม เพราะอย่างที่รู้กัน ว่าความดีในโลกธุรกิจมันไม่มีอะไรเป็นแก่นสาร มันเป็นเรื่องของการ maximize profit กันเสียมาก หลักอุปสงค์-อุปทานก็ถูกย้อนทางผ่านการตลาดเพื่อสร้างอุปสงค์เทียม ไม่มีใครสนในแนวคิดเริ่มแรกที่เกิดทุนนิยม ว่า “ทรัพยากรเป็นสิ่งที่มีจำกัด” อีกต่อไป