My Opinions on Economics

ว่าจะเขียนบทความตระกูล “My Opinion on …” ออกมาซักชุดจะได้ลำดับจุดยืนตัวเองไปในตัวว่ามองเรื่องอะไรยังบ้าง ผลัดตัวเองมานานก็เริ่มด้วยเศรษฐศาสตร์ก่อนเลยแล้วกัน

ผมเชื่อในระบบทุนนิยม แม้ว่ามันจะไม่ใช่ระบบที่ดีที่สุดในโลก มันเต็มไปด้วยความโลภ และการเอารัดเอาเปรียบ แต่นี่คือธรรมชาติของคนบาปเช่นมนุษย์โลก ขณะทุนนิยมไม่ใช่ระบบที่ดีที่สุดในโลก มันจัดการกับความโลภของมนุษย์แล้วเอามาทำเป็นความเจริญให้กับมนุษยชาติได้เป็นอย่างดี

ระบบอื่นๆ ที่พยายามแสวงหาความเป็นอุดมคติเช่นคอมมิวนิสต์นั้นคงไม่สามารถใช้งานได้จริงในโลกของเราที่ทุกคนยังคงต้องอาศัยแรงกระตุ้นจากความเหนือชั้นกว่าคนอื่นๆ มาผลักดันให้เราทำอะไรบางอย่างให้กับโลก แน่นอนว่าวันหนึ่งมันคงไม่เป็นอย่างนั้นอีกต่อไป นึกถึงเรื่อง Star Trek ที่ลูกเรือเคยถูกถามว่าได้เงินเดือนกันหรือไม่ แล้วลูกเรือตอบกลับไปว่า “ไม่ เราทำงานเพราะเราต้องการพัฒนาตัวเอง” แต่น่าเสียดาย ทุกวันนี้มนุษย์เรายังต้องการ__วัตถุ__ เพื่อกระตุ้นให้เราทำงานให้กับโลกของเราอยู่

แม้ว่าระบบทุนนิยมจะมีข้อเสียหลายๆ อย่าง แต่ในปัจจุบันนี้เรามีเครื่องมีหลายต่อหลายอย่างเพื่อลดข้อด้อยของมันลงไปได้ เช่น

1. การแข่งขันสมบูรณ์ ทำให้ทุกฝ่ายเสนอทางเลือกที่ดีกว่า (โดยยังได้ผลกำไร) ให้กับประชาชนทั่วไป การแข่งขันสร้างสิ่งดีๆ ขึ้นมากมาย
2. การกำกับดูแลที่ดี ขณะที่ผู้ขายในระบบทุนนิยมนั้นคำนึงถึงผลกำไรเป็นสำคัญ ผู้กำกับดูแลนั้นต้องสร้างเงื่อนไขที่ดี เช่น ห้ามฮั้วราคากันขายแพง, ห้ามตัดราคามั่วซั่ว เพราะคู่แข่งรายใหม่ๆ จะตายไปและสุดท้ายแล้วผู้บริโภคนั่นเองที่เสียผลประโยชน์, กำหนดกรอบรับผิดชอบต่อสังคม เช่นเราอาจจะกำหนดให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์ต้องสร้างเครือข่ายครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ เพื่อกระจายความเจริญ ไม่ใช่สร้างเครือข่ายแต่เฉพาะบริเวณที่ทำกำไรได้

ผมไม่เชื่อในแนวคิด__สมบัติชาติ__ แทบทุกๆ กรณี แนวคิดง่ายๆ คือ “อะไรที่เอกชนทำได้ รัฐบาลไม่ควรไปทำ” ถ้าโทรศัพท์เอกชนทำกำไรได้ รัฐก็ควรถอนตัวออกมา แล้วเล่นบทกำกับดูแล (และเก็บภาษี) เท่านั้นพอ แต่มีเงื่อนไขบางอย่างอยู่ในความหมายของคำว่า “เอกชนทำได้”

1. ภาคเอกชนมีการแข่งขันที่ดีอยู่แล้ว ไม่มีประโยชน์อะไรที่วันนี้รัฐบาลจะเปิดร้านกาแฟสด…
2. ระบบกำกับดูแลพร้อมแล้ว ทันทีที่เอกชนเริ่มทำกำไรได้ หน่วยงานรัฐที่เคยทำกิจการอยู่เดิม ควรแยกงานระหว่างการกำกับดูแล และการดำเนินกิจการออกจากกันทันที เพื่อเตรียมปล่อยให้ส่วนดำเนินการกลายเป็นเอกชน เพื่อการเตรียมการพร้อม ก็ขายทิ้งไปแล้วรัฐไปหาอย่างอื่นที่เอกชนไม่ทำเอามาทำแทน

อย่างไรก็ดี มีบางอย่างที่เอกชนไม่มีทางทำ และรัฐควรทำเสมอคือการรับประกันคุณภาพชีวิตขั้นต่ำให้กับประชาชน

ไอ้ที่เราเรียกว่าประชานิยมนั่นล่ะ….

ผมเชื่อว่ารัฐควรรับประกันคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานของประชาชนให้__มากที่สุดเท่าที่รัฐจ่ายไหว__ ถ้ารัฐจ่ายเงินเดือนสักเดือนละหมื่นให้กับประชาชนทุกคนได้ รัฐก็ควรจะทำ และเหตุผลประการเดียวที่รัฐจะไม่ทำนั่นคือรัฐไม่มีเงินพอ และมีเรื่องอื่นที่สำคัญกว่าให้รัฐเอาเงินไปจ่าย (ซึ่งไม่แปลกอะไรเลย ใครจะมีเงินมากขนาดนั้นกัน)

ระบบประกันคุณภาพชีวิตพื้นฐานสำคัญที่สุดคือปัจจัยสี่บวกกับอีกสามอย่างในปัจจุบันคือ การศึกษา, การคมนาคม, และการสื่อสาร

ดังนั้นผมจึงเห็นด้วยกับโครงการสามสิบบาทมาโดยตลอด และยิ่งเห็นด้วยเมื่อรัฐบาลที่ผ่านมาเปิดให้ประชาชนเข้าใช้บริการฟรี คำถามเดียวที่ผมมีคือ รัฐบาลของเรามีเงินมาพอขนาดนั้นแล้วหรือ? เพราะการเก็บสามสิบบาทไม่ใช่การเก็บเพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายสักเท่าใหร่ เทียบกับปริมาณเงินที่รัฐจ่ายไปแล้วมันเป็นเพียงส่วนเล็กน้อย แต่ประเด็นของสามสิบบาทนั้นคือการกรองเอาคนไข้ที่ไม่หนักหนาอะไรออกไปจากระบบซะมากกว่า ในวันนี้ภาคสาธารณะสุขของเราเองมีปัญหาจำนวนมากอยู่แล้วจากการที่แพทย์ไม่เพียงพอ การเพิ่มปริมาณคนไข้ในระบบ โดยที่รัฐไม่พร้อมจะจ่ายค่าตอบแทนที่สูงขึ้นเพื่อดึงแพทย์กลับเข้าสู่ภาครัฐ หรือกระทั่งไม่มีความคุ้มครองที่ดีพอจนแพทย์ถูกฟ้องคดีอาญา (แม้จะหลุดคดีในขั้นต่อมา แต่เป็นผมผมก็ไม่อยู่แล้วล่ะ) ยิ่งซ้ำเติมปัญหาเหล่านี้เข้าไปเรื่อยๆ

การเร่งเปิดโอกาสให้กับประชาชน (ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี) แต่รัฐไม่มีความพร้อมที่จะจ่ายค่าใช้จ่ายที่ตามมานั้น จึงอาจจะกลายเป็นเรื่องเลวร้ายที่สุดเท่าที่ผมจะนึกออกในระบบรัฐสวัสดิการ

เช่นเดียวกับประเด็นทางการแพทย์ ผมเห็นด้วยทั้งหมดที่รัฐควรจะจัดหาสิ่งพื้นฐานทุกอย่างให้ประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นการคมนาคม เช่นรถเมลฟรี ผมเชื่อว่ามันน่าจะดีถ้าเราจะมีรถเมลฟรีตลอดไป แม้จำนวนจะน้อย (ตามอัตภาพรัฐบาล) แต่เป็นการประกันว่าไม่ว่าจะมีรายได้เท่าใหร่คุณก็จะมีการคมนาคมใช้งานกัน

แต่ประเด็นเรื่องของการศึกษานั้นผมสงสัยในระบบการให้เรียนฟรีแบบเหมารวมนั้นน่าสงสัยมาก เพราะรัฐบาลจ่ายเงินแบบเหมารายหัวราคาเดียวทั่วประเทศ การทำอย่างนี้สร้างข้อสงสัยว่ารัฐบาลต้องการให้โรงเรียนทั้งประเทศมีคุณภาพในระดับเดียวกันหมดจริงๆ หรือ?

 

lewcpe

CTO at MFEC PLC. Chief Editor at Blognone.com

 

14 thoughts on “My Opinions on Economics

  1. คำตอบสั้นๆ ง่ายๆ คือ มีเงินพอ สำหรับทุกคน แต่ไม่ใช่ทุกอย่างสำหรับทุกโรคครับ
    Universal coverage is mainly for preventing catastrophic expenditure on illness.

  2. จริงๆ แล้วการเก็บเงิน 30 บาทนี่ถูกยกเลิกมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 49 แล้วครับ
    การไม่เก็บ 30 บาทนี่ทำให้ direct cost ของคนไข้หมดไป แต่ indirect cost ยังอยู่ (ค่าเดินทาง ค่าเสียโอกาสในการทำงาน) แต่มันก็ไม่มีผลมากเท่าไหร่กับผู้ป่วยสูงอายุส่วนใหญ่ที่ไม่ได้อยู่ไกลโรงพยาบาลมากนะ ทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้เห็นโรงพยาบาลเหมือนร้านยาที่แจกยาฟรีเหมือนเรื่องที่หมอแมวเขียนในบล็อกเรื่องนี้เลยครับ http://mor-maew.exteen.com/20090208/www-www

  3. elixer: คำว่ารัฐบาลที่แล้วนี่ผมหมายถึงรัฐบาลสุรยุทธ์ล่ะครับ (ก่อนการเลือกตั้ง)

    เรื่องหาหมอเล่นๆ นี่ผมได้ยินมาเยอะเหมือนกันครับ ตามอีสานจะมีอาการ “หายใจไม่อิ่ม” กันบ่อยเลย ทั้งที่ไม่ได้เป็นอะไรหรอก ป้าแก่แล้วก็เท่านั้น

  4. ผมมีความเห็นด้านการศึกษาแบบหักดิบไปเลยคือ ถ้าต้องการลดความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะในประเด็นชุดนักเรียนฟรีปีละสองชุดที่กำลังมีปัญหากันอยู่นี่ ผมเห็นว่าควรยกเลิกชุดนักเรียนไปเลย แล้วเอางบส่วนนี้ไปขยายโอกาสทางการศึกษาเช่นการใช้คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต และพื้นที่กิจกรรมอิสระ

    แต่เข้าใจว่าคงมีคนไม่เห็นด้วยเยอะ อาจเพราะเรามีปัจจัยอื่นๆที่สำคัญไม่แพ้ความรู้และการศึกษา ?? (ขนบธรรมเนียม มารยาท)

  5. ABZee: เห็นด้วยเรื่องชุดนักเรียน และจริงๆ แล้วยิ่งเห็นด้วยถ้าเป็นชุดนักศึกษา

    ปัญหาสำคัญคือเงินในระบบตรงนี้มันมากมายมหาศาล อยู่ดีๆ ไปตัดทิ้งนี่คงเสียผลประโยชน์กันเยอะใช้ได้

  6. เรื่องไปหาหมอแล้วไปรับยาเปรียบเสมือนหนึ่งเป็นร้านขายยานั้น ขอยืนยันว่าจริงนะครับ เพราะคุณหมอประจำคลินิกที่ผมไปหาประจำ แล้วแกก็ประจำอยู่ รพ.รัฐบาล แกเจอขนาดที่ว่าคนไข้เพิ่งออกจาก รพ. แล้วเอายาไปแจกคนแถวๆ นั้นเลยก็มี

  7. คนสุดท้ายแล้วมั้ง ขอแจมยาวๆ

    • จะให้เอกชนลงมาแข่งอย่างเดียวแล้วดีที่สุดผมก็ไม่เห็นด้วยทั้งหมดนัก ถ้ารัฐมีศักยภาพที่ดีและเอกชนไม่สามารถสร้างมาตรฐานที่น่าพอใจได้ รัฐก็น่าลงสนามเพื่อทำให้ดูเป็นบรรทัดฐาน มาตรการนี้ผมเรียกของผมว่า ‘บริษัทรัฐบาล’ เช่นอาบูดาบีของดูไบ หรือเทมาเส็กของสิงคโปร์ เป็นต้น แต่ผู้นำต้องชาญฉลาดและซื่อสัตย์พอสมควร

    • การประกันหลักประกันพื้นฐานตัวอย่างมีให้ศึกษาแทบทั้งยุโรป แต่เรามันไม่ครอบคลุม ลงเป็นจุดๆจนดูเหมือนเป็นประเทศสังคมนิยมไปทุกวัน

    • เพื่อนผมเป็นหมอชอบบ่นว่าโรคสำออยมันเยอะเหลือเกินจึงไม่ควรให้ฟรี ภาษีเหล้าบุหรี่ก็ยังต่ำเกินไป เห็นวงจรแล้วสลดใจ บริษัทสุราจ่ายให้นักการเมืองแต่มีรายได้จากการขายประชาชน ประชาชนเจ็บป่วยรักษาใช้งบรัฐบาล สรุปแล้วรัฐขาดทุน บริษัทสุราจึงถือเป็นการลงทุนระยะยาวที่มีแต่กำไร กัดกร่อนคลังอย่างเงียบๆ

    • การศึกษาก็ไม่ควร 12 ปี เพราะ 9 ปีก็เพียงพอ งบอีก 3 ปีเอาไปส่งเสริมมันสมองของประเทศที่มีประมาณ 30% ดีกว่าเอาไปหว่านลงกับคนที่เหลือราว 70% ที่ไม่มีศักยภาพที่จะผลักดันเศรษฐศาสตร์ระดับมหภาคได้คุ้มค่าเท่าทุนที่ลงไป

    เขียนซะเหมือน blog ตัวเองเลยผม

  8. อืม คิดเหมือนกันเรื่องเอกชน และสมบัติชาตินะ ให้รัฐทำเรื่องที่ถนัดดีกว่า
    อย่างเรื่องบังคับใช้กฏหมาย เรื่องการแข่งขัน การกิจการต่างๆ ยังไงเอกชนก็เก่งกว่ารัฐแน่ๆ
    ผมไม่เชื่อเรื่องรัฐทำกิจการแล้วจะซื่อสัตย์มีประสิทธิภาพมากกว่าเอกชนด้วย มันเห็นๆกันอยู่

  9. เร์่องโรคสำออยนั้นว่ากันไม่ได้ อาการหลายอย่างเกิดจากการที่หมอ ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือ ความพร้อม เวลา หรือความใส่ใจมากพอที่จะตรวจ มะเร็งหลายชนิดสังเกตุได้ยาก ต้องอาศัยความใส่ใจในรายละเอียด และเครื่องไม้เครื่องมือที่พร้อม คนที่ไปหาหมอบ่อยๆ โอกาสตรวจเจอก็จะเยอะกว่า นั่นหมายถึงโอกาสในการรักษาที่มากกว่า โอกาสรอดก็เสูงกว่า ส่งผลให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น

  10. kowito: ผมมองในมุมกลับ ในฐานะที่บ้านเราเป็นประเทศยากจน ด้อยพัฒนา หมอหนึ่งคนต้องตรวจไข้กว่า 200 คนต่อวันในพื้นที่ห่างไกล การที่เรามีโรคสำออยเยอะๆ แทนที่จะไปเพิ่มโอกาสเจอโรคประหลาด (ซึ่งไม่น่าเจอหรอก และไม่มีหลักฐานอะไรที่บอกว่าการหาหมอบ่อยๆ โดยไม่มีอาการสนับสนุน จะช่วยให้เจอได้) แต่เป็นการไปเบียดเบียนคนไข้ที่ต้องการการเอาใจใส่สูงๆ ลง

    นับเป็นความเห็นแก่ตัวอย่างหนึ่ง

  11. mamee: ในเคสของเทมาเส็กนั้น ผมเข้าใจเอาเองว่ารัฐต้องมาทำเพราะสิงค์โปร์เองยังมีขนาดเศรษฐกินไม่ใหญ่พอที่จะตั้งกองทุนระดับข้ามชาติใหญ่ๆ ได้

    อันนี้เอกชนทำไม่ได้ หรือทำได้น้อยรายจนไม่เกิดการแข่งขัน รัฐก็ทำไป ไม่ว่ากันครับ

    แต่อย่างบ้านเรา โทรศัพท์นี่รัฐจะไปทำทำไม? รถตู้นี้ประสิทธิภาพดีกว่ารถเมลมหาศาล แถมทำกำไร แต่เราก็ยังต้องเลี้ยงขสมก

  12. “kowito: ผมมองในมุมกลับ ในฐานะที่บ้านเราเป็นประเทศยากจน ด้อยพัฒนา หมอหนึ่งคนต้องตรวจไข้กว่า 200 คนต่อวันในพื้นที่ห่างไกล การที่เรามีโรคสำออยเยอะๆ แทนที่จะไปเพิ่มโอกาสเจอโรคประหลาด (ซึ่งไม่น่าเจอหรอก และไม่มีหลักฐานอะไรที่บอกว่าการหาหมอบ่อยๆ โดยไม่มีอาการสนับสนุน จะช่วยให้เจอได้) แต่เป็นการไปเบียดเบียนคนไข้ที่ต้องการการเอาใจใส่สูงๆ ลง

    นับเป็นความเห็นแก่ตัวอย่างหนึ่ง”

    เห็นด้วย 100% แทนที่จะเอาเวลาไปเสียกับคนไข้ที่กำลังจะตายกลับต้องมานั่งเสียเวลากับคนที่กลัวตายตลอดเวลาแต่ไม่ตายซักที

  13. ติดตามอ่านของคุณ lew เป็นประจำคับ

    วันนี้เขียนสนุกเป็นพิเศษ

Comments are closed.