หลายคนอ่านบทความของผมที่ Blognone กับที่นี่แล้วอาจจะคิดว่าผมเป็นพวกต่อต้านการบล็อคทุกรูปแบบ แต่ให้ผมบอกคือผมต่อต้านการบล็อคที่ไม่มีคำอธิบายทุกรูปแบบไม่ว่ามันจะดูเข้าท่าแค่ไหนก็ตาม
ประเด็นที่นายมั่น พัธโนทัยออกมาระบุว่าการบล็อคเว็บในไทยสามารถทำได้ตามกฏหมายโดยผ่านทางคำสั่งของคนสามคนในประเทศนั้นเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะผมไม่เคยได้ยินกฏหมายข้อไหนให้อำนาจคนสามคนนี้เหนือกว่าประชาชนไทยคนอื่นๆ ในแง่ของการมีอำนาจเด็ดขาดในการบล็อคเว็บ
สุดท้ายแล้วสังคมบ้านเราจะสามารถเป็นนิติรัฐได้อย่างไร หากเราอาศัยความรู้สึกของคนสามคนมาระบุว่าเรื่องอะไรผิดเรื่องอะไรถูก
เราอาจจะต้องตั้งคำถามกระบวนการที่กำหนดไว้อย่างสวยงามใน พรบ. คอมฯ นั้น มีเอาไว้ตั้งโชว์ให้ต่างชาติดูเล่นแล้วในบ้านเราใช้ระบบมาเฟียกันแบบเดิมหรืออย่างไร
น่าสนใจคือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผมไม่เห็นมีหน่วยงานไหนที่มีความพยายามทำงานในเชิงบวกเพื่อแก้ปัญหาเนื้อหาล่อแหลมและไม่พึงประสงค์ (สำหรับพวกเขา) แม้แต่น้อย ไม่ว่าจะเป็นช่องทางสื่อสารระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลกับเหล่าเว็บมาสเตอร์ หรือ Guidline อื่นๆ สิ่งที่พวกเขาทำคือการข่มขู่ในเชิงรุก และชี้หน้าใครต่อใครว่าทำผิด พร้อมกับโหมกระแสมวลชนให้เชื่อว่าการกระทำนั้นผิดตามที่พวกเขาเชื่อ
น่าสนใจว่ากระบวนตามกฏหมายใน พรบ. คอม ซึ่งเพิ่งตราออกมานั้นมีความบกพร่องอย่างไร จึงมีการประกาศใช้กระบวนการนอกกฏหมายเช่นนี้ออกมา
หลายความเห็นใน Blognone เคยอ้างว่ากระบวนการนั้นช้าเกินไป แต่สุดท้ายแล้ว ผมก็ยังเห็นหลายเว็บที่น่าจะผิดแน่ๆ เปิดทำงานโดยไม่มีปัญหาอะไร
มันจะดีกว่าไหมหากภาครัฐหยุดหาอำนาจนอกกรอบของกฏหมาย แล้วทำตามกระบวนการให้เต็มประสิทธิภาพ เมื่อตรวจพบแล้วรีบแจ้งเรื่องให้รัฐมนตรีเซ็น แล้วส่งเรื่องเข้าศาลข้อความคุ้มครองเร่งด่วนถ้ามันมีปัญหาแล้วค่อยมาคุยกันว่ามันเกิดปัญหาอะไรขึ้นกับกระบวนการนี้
หรือเรามีเหตุผลอื่นที่จะไม่ทำตามกระบวนการ?