ผมเคยอ่านหนังสือเกี่ยวกับพัฒนาการเด็กมาพอดู (แปลกไหมที่อ่านหนังสือแนวๆ นี้ตั้งแต่มัธยม) ประเด็นหนึ่งที่หนังสือแนวนี้จะพูดถึงว่าเป็นความผิดพลาดของพ่อแม่คือการที่ไม่ยอมปล่อยให้ลูกได้ผิดพลาดบ้าง
การเรียนรู้เป็นเรื่องที่แปลก เราไม่สามารถเดินในเส้นทางที่ถูกต้องอยู่ตลอดเวลาแล้วจะตระหนักได้ว่าทางนั้นมันเป็นทางที่ถูกต้อง หากเราเดินอยู่บนทางที่ถูกต้องอยู่ตลอดแล้ว เราเองจะเริ่มสงสัยว่าทางที่เราเดินนั้นมันถูกต้องจริงๆ รึเปล่านั่นเอง
จึงเป็นเรื่องปรกติที่การเรียนหลายๆ ครั้งแล้วเนื้อหาในส่วนของการปฏิบัติจะมีการให้ทำการทดลองบางอย่าง ทั้งที่มวลความรู้ของผู้เรียนไม่เพียงพอ นั่นก็เพื่อให้ผู้เรียนได้มีโอกาสลองผิดลองถูกบ้างก่อนที่จะเรียนรู้สิ่งต่อๆ ไป
การสั่งสอนจึงไม่ใช่การที่จะไม่ยอมให้ผู้เรียนทำอะไรที่ผิดพลาด ตรงกันข้ามเราควรชี้นำให้เกิดความผิดพลาดในระดับที่เราดูแลได้ขึ้นบ้าง เพื่อที่ผู้เรียนจะเรียนรู้จากความผิดพลาดนั้น ถึงตอนนั้นเราจึงชี้ทางที่ถูกต้องให้ผู้เรียนให้เขาได้ตระหนักว่าการเดินทางที่ผิดนั้นมีข้อดีข้อเสียต่างจากทางที่ถูกอย่างไร
แต่ถึงเวลาจริงๆ แล้วไม่ว่าคุณจะอยู่ในฐานะพ่อแม่ หรือฐานะผู้สอนในเรื่องใดๆ ก็ตาม คุณจะพบว่าการปล่อยให้ผู้เรียนผิดพลาดนั้นเป็นเรื่องยากที่จะทำใจ และการควบคุมปัญหาที่เกิดขึ้นก็เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาอาจจะมากยิ่งกว่าการบังคับให้ทำเรื่องที่ถูกต้องไปตรงๆ เสียอีก
แต่สุดท้ายแล้ว ถ้าเราอยากให้เกิดการเรียนรู้ขึ้น สิ่งเหล่านี้คงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไปไม่ได้
“การสั่งสอนจึงไม่ใช่การที่จะไม่ยอมให้ผู้เรียนทำอะไรที่ผิดพลาด ตรงกันข้ามเราควรชี้นำให้เกิดความผิดพลาดในระดับที่เราดูแลได้ขึ้นบ้าง เพื่อที่ผู้เรียนจะเรียนรู้จากความผิดพลาดนั้น ถึงตอนนั้นเราจึงชี้ทางที่ถูกต้องให้ผู้เรียนให้เขาได้ตระหนักว่า
การเดินทางที่ผิดนั้นมีข้อดีข้อเสียต่างจากทางที่ถูกอย่างไร”
เห็นด้วยอย่างยิ่ง ในฐานะพ่อรู้ว่าลูกจับอะไรร้อน ๆ มันร้อนแน่ ๆ แต่ก็
ยอมให้เขาจับนะ จะได้รู้ว่ามันร้อน