เพิ่งเห็นว่าคุณ Ford Antitrust เอาบล็อกผมไปอ้างตอนเขียนถึงเรื่อง DRM ที่น่าสนใจคือในบล็อกเดียวกันมีการเขียนบทความขนาดยาวที่ค่อนข้างโดนใจ เลยคิดว่าบ่นๆ มาหลายทีแล้ว น่าเขียนเรื่องนี้ให้ชัดๆ สักที ก่อนอื่นคนอ่านบทความนี้ควรเข้าใจว่า DRM คืออะไรแล้วนะครับ ไม่ขอกล่่าวถึง ถ้าสนใจแล้วหาข้อมูลไม่ได้ ควรไปถามในบอร์ดสาธารณะเช่นเว็บบอร์ดของ Blognone
โดยส่วนตัวแล้ว ผมเกลียด DRM มาก เพราะมันน่ารำคาญแต่อย่างใดก็ตาม ผมเชื่อว่าผู้ขาย และศิลปินผู้สร้างสรรผลงานมีสิทธิที่จะใช้ DRM ในงานของเขาได้เสมอ การใช้ DRM ในซีดีเพลงซักแผ่นไม่ใช่ความชั่ว มันเป็นสิทธิที่ผู้ขายจะขายสื่อของตนในรูปแบบใดๆ ที่คุณต้องการ ไม่ต่างจากวันนี้ถ้าผมทำเพลงที่โคตรดังขึ้นมาซักเพลง แล้วผมจะบอกว่ามีขายเฉพาะในรูปแบบแผ่นเสียง มันคงไม่ใช่ข้ออ้างว่าก็คุณไม่ทำเพลงเอ็มพีสามออกมาขาย คนทำเอ็มพีสามขายเลยไม่ผิด
การละเมิดลิขสิทธิเป็นความผิดอยู่แล้วไม่ว่ามันจะเข้าท่าแค่ไหนก็ทีเถอะ
แต่สำหรับค่ายเพลงส่วนใหญ่แล้ว การนำ DRM มาใช้ในทุกวันนี้ คือความผิดที่ผู้บริโภคควรเรียกร้องสิทธิของเรากลับคืนมา กรณีเหล่านี้เริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยแผ่นวีซีดีภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง ที่มีการใส่ Trojan ทำให้คอมพิวเตอร์ทำงานเต็มพิกัดตลอดเวลาจนไม่สามารถทำงานอย่างอื่นได้ ค่าขนเอาคอมขึ้นแท็กซี่ไปซ่อมที่พันทิบคงเป็นหลายเท่าตัวของค่าแผ่นหนังอยู่มาก ความเสียหายเช่นนี้ชัดเจนจนหน่วยงานต่างๆ ไม่ควรละเลยที่จะคุ้มครองผู้บริโภคโดยให้ให้เหตุผลว่าผู้กระทำผิดทำไปเพราะต้องการป้องกันตัวเองจากการละเมิดลิขสิทธิ นี่เป็นคนละกรรมกัน (ภาษากฎหมาย)
กรณีต่อมาคือการแอบๆ ใส่โปรแกรม DRM ไว้ตามแผ่นซีดีต่างๆ โดยไม่แจ้งให้ผู้บริโภคได้รับรู้อย่างชัดเจนว่าแผ่นซีดีเหล่านั้นจะมีข้อจำกัด ทำให้แผ่นเหล่านั้นไม่สามารถใช้งานได้ในบางกรณี การจำกัดการใช้งานไม่ใช่เรื่องผิด หากมีการระบุอย่างชัดเจน อย่างที่ผมยกตัวอย่างไปว่าถ้าผมจะทำเพลงแล้วอัดใส่แผ่นเสียงขายอย่างเดียว คงชัดเจนว่าข้อมูลจากแผ่นเสียงคงไม่สามารถนำไปฟังในคอมพิวเตอร์ได้โดยตรง แต่กับแผ่นซีดีนั้นเล่า เครื่องเล่นที่ติดตั้งในคอมพิวเตอร์ของผมก็ระบุมาตรฐานชัดเจนว่ารองรับมาตรฐาน CD-AUDIO แล้วทำไมผมจึงไม่มีสิทธิในการใช้งานแผ่นซีดีที่ผมซื้อมา
กรณีการแอบๆ ใส่ Jitter เข้าไปในข้อมูลเสียงเพื่อให้คอมพิวเตอร์ไม่สามารถอ่านได้นั้น เป็นการกระทำที่ชั่วร้ายไม่ต่างจากการใส่โทรจันเข้าไปในวีซีดีแต่อย่างใด เนื่องจากตัวแผ่นเองไม่ทำตามมาตรฐาน Red Book ที่เป็นมาตรฐานการผลิตซีดี ผลที่ได้คือไม่มีใครสามารถบอกได้เลยว่าจะมีเครื่องเล่นใดบ้างที่อ่านแผ่นดังกล่่าวได้หรือไม่อย่างไร การบอกว่าคอมพิวเตอร์อ่านไม่ได้ แต่เครื่องเล่นเพลงทั่วไปอ่านได้นั้นเป็นคำตอบสั่วๆ ของการใช้เทคโนโลยีอย่างไร้ความรับผิดชอบ เพราะข้อเท็จจริงคือเครื่องเล่นเพลงหลายรุ่นในท้องตลาดไม่สามารถอ่านแผ่นเหล่านี้ได้ ในทางกลับกัน เครื่องอ่านซีดีที่ติดตั้งในคอมพิวเตอร์จำนวนมากกลับสามารถอ่านแผ่นเหล่านั้นได้อย่างไร้ปัญหา
อย่างไรก็ตามแม้การใส่ Jitter เข้าไปในข้อมูลเสียงนั้นจะเป็นความน่าเกลียดทางวิศวกรรม และการตลาดที่ย่ำแย่ แต่ผมยังคงเชื่อว่าศิลปินและผู้ผลิตสามารถใช้เทคโนโลยีดังกล่าวได้ โดยระบุข้อจำกัดให้กับผู้บริโภคอย่างชัดเจน ประการแรกเลยคือต้องถอดเครื่องหมาย CD-AUDIO ออกจากหน้าแผ่น พร้อมกับต้องสร้างมาตรฐานใหม่ขึ้นเพื่อตกลงร่วมกันระหว่างผู้ผลิตกับผู้ขายว่ามีเครื่องเล่นใดบ้างที่รับรองว่าสามารถใช้งานแผ่นเหล่านั้นได้อย่างถูกต้อง กรณีเช่นนี้หากการคุ้มครองผู้บริโภคบ้านเราเข้มแข็งพอก็น่าจะหมายถึงการแนบเอกสารไว้นอกกล่องซีดีว่าแผ่นที่กำลังจะซื้อนั้นสามารถใช้ได้กับเครื่องเล่นยี่ห้อใด รุ่นใดบ้าง หากเครื่องเล่นของผู้บริโภคไม่อยู่ในรายการ ผู้บริโภคจะได้สามารถเลือกไม่ซื้อแผ่นดังกล่าวได้โดยไม่ต้องมีปัญหาภายหลัง แน่นอนว่าการกระทำเช่นนั้นกระทบกับยอดขาย แต่มันเป็นทางเลือกของผู้ผลิตเองที่จะเลือกเดินทางนั้น
แต่ในฐานะอดีตลูกค้าของค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ (ที่ซื้อแต่แผ่นอินดี้แล้วในช่วงหลัง) ผมสงสัยอยู่สองอย่างคือ ฝ่ายเทคนิคที่นำเทคโนโลยีพวกนี้มาใช้งาน เชื่ออย่างบริสุทธิใจจริงๆ น่ะหรือว่าเทคโนโลยีเหล่านี้มันจะช่วยแก้ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิลงไปได้ กับอีกประการคือบริษัทเหล่านี้ไม่มีฝ่ายการตลาดที่ศึกษาตลาดมาดีพอว่าในตลาดความบันเทิงนั้น คือพึงพอใจของลูกค้ามาเป็นอันดับหนึ่งเลยหรือ?
น่าสงสัย…
ถ้าความพอใจของลูกค้ามาเป็นที่หนึ่ง คงไม่มีอัลบั้มที่เพราะเพลงเดียว ส่วนที่เหลือเป็นเพลงใส่มาให้เต็มอัลบั้ม วางขายอยู่เกลื่อนตลาดหรอก
ผมว่า ผู้ผลิตเองก็ไม่ได้ต้องการ DRM เท่าไหร่หรอกครับ เพราะมันน่าจะหมายถึงต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
ส่วนฝ่ายเทคนิค ผมก็เชื่อว่าเค้าคงไม่คิดว่าระบบที่เอามาใช้จะป้องกันได้
แต่ปัญหามันอยุ่ที่ฝ่ายบริหารที่ต้องการแบบนั้นมากกว่า
ผมเคยเจอกรณีเกี่ยวกับการทำเว็บ
เค้าอยากให้ผมใส่ระบบป้องกันไม่ให้รูปภาพในเว็บของเค้าถูกก็อปไปใช้ได้
ผมก็บอกไปว่า ถ้ามันไปแสดงบนจอเค้าได้ ยังไงก็ป้องกันไม่ให้เค้าก็อปไม่ได้หรอก
แต่เค้าก็ยังยืนยันว่าเค้าเคยเห็นมา ก็เช่นพวกห้ามคลิกขวาหรือใส่รูปลงเป็น background แทน ฯลฯ
ซึ่งนั่นมันก็ไม่ได้ป้องกันการก็อปปี้ได้เลย
iPats – อย่างนั้นแสดงว่าปัญหาอยู่ที่ผู้บริหารที่รู้ไอทีครึ่งๆ กลางๆ ??
พี่ลิ่ว — ผมว่ามันก้มีส่วนอ่ะครับ
แต่.. พอจะมีข่าวดีนิดนึง ว่าค่าย RS ถอด DRM แล้ว
สำหรับการ download เข้า portable media player ที่สะดวกขึ้น
http://www.thairath.com/news.php?section=technology03b&content=29917
เจ้านาย (ใหม่) มีคำเรียกพวกแบบนี้โดยเฉพาะ
“ผมว่ามัน bullshit ว่ะ”