สุนัขออกลูกเป็นคนไม่ได้รัฐประหารสร้างประชาธิปไตยไม่ได้เช่นกัน
ใจ อึ้งภากรณ์
thai
ยั่งยืน
คำแนะนำการบล็อกเว็บถึงกระทรวงไอซีที
ใครอ่าน Blognone คงรู้ว่าผมมีท่าทีต่อต้านการบล็อกเว็บมาโดยตลอด คำถามหนึ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ “ไม่บล็อกแล้วจะให้ทำยังไง” วันนี้เลยลองมาเขียนดูคร่าวๆ แล้วกัน
อย่างหนึ่งที่ผมเชื่อคือไม่ว่าจะเป็นระยะสั้นหรือระยะยาว การบล็อกเว็บไม่เคยแก้ไขสิ่งที่เรามองว่าเป็นปัญหาไปแม้แต่น้อย อินเทอร์เน็ตถูกออกแบบมาตั้งแต่วันแรกให้ทนทานต่อการเสียหายไปบางส่วน หรือกระทั้งการเสียหายไปเป็นส่วนใหญ่ โดยที่ส่วนที่เหลือยังคงทำงานได้อย่างปรกติ การปิดกั้นบางส่วนในอินเทอร์เน็ตเป็นความพยายามที่มีผลเพียงช่วงเวลาสั้นๆ โดยส่วนที่เหลือจะกลับมาใช้งานได้ในเวลาไม่นานนัก การออกแบบเช่นนี้เนื่องจากอินเทอร์เน็ตถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้ในการทหารในยุคที่โลกต้องเผชิญความหวาดกลัวกับสงครามนิวเคลียร์ การออกแบบเช่นนี้ทำให้อินเทอร์เน็ตเติบโตอย่างรวดเร็ว และแน่นอนว่าขาดการควบคุมจากศูนย์ฺกลางที่แท้จริง
การบล็อกการใช้งานสร้างความเสียหายทุกครั้ง เนื่องจากการใช้งานในส่วนที่ดีมักถูกผลกระทบตามไปด้วยเสมอๆ เราเคยเห็นมาตรการการกรองคำสำคัญเช่น sex ไม่ให้สามารถใช้งานได้ ผลคือการศึกษาในทางสร้างสรรของเรื่องเพศกลับถูกปิดกั้น หรือภาคธุรกิจต้องเสียหายเนื่องจาก URL ที่ใช้งานแล้วกลับถูกปิดกั้น เนื่องจากชื่อ URL ที่หลายๆ ครั้งถูกสร้างขึ้นจากคอมพิวเตอร์บังเอิญไปสร้าง URL ที่มีคำสำคัญเหล่านั้นโดยบังเอิญ ด้วยปัญหาหลายๆ ประการ การบล็อคเว็บแบบเหมารวมทั้งประเทศจึงไม่ใช่ทางออกที่ดีสำหรับการแก้ปัญหาในระยะยาว
หนทางที่ไอซีทีจะแก้ปัญหานี้ได้ โดยลดผลกระทบต่อความไม่เชื่อใจในกระบวนการบล็อคเว็บ
- เปิดเผยรายชื่อเว็บที่ควรถูกบล็อกทั้งหมดให้มีหนทางตรวจสอบได้อย่างชัดเจน เพื่อลดคำครหาและแสดงความจริงใจว่ากระบวนการบล็อคเว็บจะไม่ถูกใช้เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง หรือประโยชน์ส่วนบุคคลอื่นๆ
- สร้างกระบวนการตัดสินใจเลือกเว็บที่จะถูกบล็อคที่สามารถอธิบายได้ว่าเว็บใดจึงควรบล็อคและเว็บใดไม่จำเป็นต้องบล็อค ที่สำคัญคือการบล็อคโดยการกดดันจากสื่อหลักเพียงไม่กี่รายที่มีผู้ตัดสินใจลงข่าวไม่กี่คนนั้นไม่ใช่กระบวนการที่ดี
- การให้บริการอินเทอร์เน็ตโดยทั่วไปจะต้องไม่มีการบล็อคใดๆ ทั้งสิ้น
- สร้างกติกาให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตทั้งประเทศ ต้องเปิดบริการเสริมเพื่อป้องกันเว็บไม่พึงประสงค์ โดยผู้ใช้สมัครใจ
- สร้างมาตรฐานชื่อบริการเสริมนี้เพือลดความสับสนของผู้บริโภค ดำเนินการประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึงให้ประชาชนที่ต้องการป้องกันเยาวชนในการดูแลของตนให้สามารถเปิดบริการเหล่านี้ได้ง่าย
- กำหนดมาตรฐานของบริการบล็อคเว็บนี้ ว่าอย่างน้อยควรบล็อคเว็บที่ทางไอซีทีระบุว่าเป็นเว็บไม่พึงประสงค์ได้ทั้งหมด
- สร้างกติกาให้ร้านอินเทอร์เน็ต หรืออินเทอร์เน็ตสาธารณะที่เยาวชนเข้าถึงได้ ต้องเปิดบริการนี้ไว้ตลอดเวลา เว้นแต่ทางผู้ให้บริการตรวจสอบแล้วว่าผู้ใช้บริการบรรลุนิติภาวะ
ด้วยการเปิดบริการการบล็อคแบบสมัครใจ ประชาชนที่กังวลว่าเยาวชนจะติดอยู่กับสื่อไม่พึงประสงค์จะมีทางเลือกที่จะป้องกันได้ทางหนึ่ง กระนั้นไอซีทีควรให้ความรู้กับประชาชนว่าการบล็อคไม่ใช่การแก้ปัญหา และผู้ปกครองควรใส่ใจกับพฤติกรรมการใช้งานของบุตรหลานมากกว่าจะหวังพึ่งบริการเหล่านี้
แต่งตัว
พอดีช่วงนี้มีข่าวว่าด้วยการแต่งเนื้อแต่่งตัวเยอะ เรื่องดาราผมไม่เชี่ยวชาญเลยไม่ขอออกความเห็นแล้วกัน แต่พอดีนึกขึ้นได้ถึงความเห็นตอนเรียน ป. ตรี
ผมไม่เห็นด้วยกับเครื่องแบบในทุกๆ กรณีครับ โดยเฉพาะอย่างในมหาวิทยาลัยที่ควรเป็นศูนย์รวมของความคิดสร้างสรร การเอาอะไรซักอย่างมาบีบเพียงแค่จะบอกให้ชาวโลกมองว่ามหาวิทยาลัยช่างดูเป็นขาวดำสวยงามดีเหลือเกินนั้น ดูเหมือนเป็นเรื่องอะไรที่คิดง่ายเกินไปสำหรับผม
ขณะเดียวกันผมก็ยังเชื่ออีกเหมือนกันว่ามหาวิทยาลัยควรมีกฏควบคุมการแต่งตัวอยู่ โดยไม่มีอะไรนอกไปจากอำนวยความสะดวกให้ทุกคนสามารถเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อันหลังนี่ประสบการณ์ตรง สอบๆ อยู่แล้วสาวข้างๆ ใส่กระโปรงสั้นแล้วไขว่ห้างที อ่านโจทย์ไม่ออกเอาเหมือนกัน…..
แต่กฏนอกเหนือจากนั้นน่ะเลิกเถอะครับ ลืมๆ ความเป็นเอกภาพแบบชนชั้นที่พยายามจะบอกให้สังคมข้างนอกรับรู้ว่าข้าเป็นนิสิตนะเว่ย ข้าเนี่ยแหละมันสมองของประเทศ แล้วมองตัวเราเปํ็นหนึ่งในสังคม เป็นกลจักรที่ต้องทำงานร่วมกับส่วนอื่นๆ ให้สังคมมันไปข้างหน้า
ปล. ผมชอบชุดนิสิตนะ ผมว่ามันเป็นชุดที่เหมาะกับเมืองไทยมากๆ คิดไว้ว่าถ้ามีประท้วงไม่ให้ใส่ชุดนิสิต จะใส่ชุดนิสิตไปประท้วงกับเค้า