ปิดหู ปิดตา ปิดปาก#2

ถ้าไม่เชื่อฟังก็ให้ตัดรายการออกไปจากสถานี ถ้าท่านใช้วิจารณญาณไม่เหมาสม ผมจะใช้วิจารณาณของผมช่วยท่านบริหารงานเองถ้ามีความจำเป็นและถ้ามีเหตุการณ์ อย่างกรณีวันที่ 31 ธันวาคม เราได้เตรียมการที่จะดำเนนการขั้นเด็ดขาดไว้แล้ว ใครจะว่าเผด็จการก็ว่าไป การที่คนทำผิดแล้วยังไม่สำนึกอีกก็ต้องใช้ไม้แข็ง
น.พล.อ.วินัย ภัททิยกุล
เลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)

ถ้าสื่อให้ความร่วมมือก็โอเค แต่ถ้าไม่ให้ความร่วมมือ เราก็ไม่รับอะไรจากพวกท่านเท่านั้นเอง การขอความร่วมมืออยู่ที่ความสมัครใจของผู้ให้ ไม่ได้ลิดรอน บอกแล้วว่า เป็นการขอความร่วมมือ เราพูดกันตรงๆ แบบทหาร ว่า เราขอความร่วมมือจากทุกท่าน ท่านจะเห็นว่าควรให้หรือไม่ควรให้ก็แล้วแต่จะพิจารณา ช่วยกรุณาดูเรื่องความสามัคคี สมานฉันท์ คงบังคับใครไม่ได้ เพราะสังคมเรา ประเทศเราเป็นประชาธิปไตย และในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ก็ให้สิทธิเสรีภาพกับสื่ออยู่แล้ว
พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน
ผู้บัญชาการทหารบก
ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)

 

ปิดหู ปิดตา ปิดปาก

ใครงงเข้าไปอ่านประชาไทกันก่อนที่น่าสนใจคงเป็นข่าวนี้ กับข่าวนี้

โดยส่วนตัวแล้วผมเป็นคนสนใจการเมืองน้อยกว่าค่าเฉลี่ยคนทั่วๆ ไป และหลีกเลี่ยงที่จะพูดคุยการเมืองนอกจากคนที่เชื่อใจได้ว่าจะไม่เอาไปเป็นอารมณ์จริงๆ ในเรื่องการเมืองว่าใครถูกหรือผิดอย่างไรในการทำรัฐประหารจึงอยู่นอกความสนใจโดยทั่วไปของผม แต่ที่ผมให้ความสนใจมากๆ คือความเสรีของสื่อ

ผมเบื่อหน่ายสื่อไทยในยุคปัจจุบันที่ขาดความเป็นกลาง ความรวดเร็วของข่าวอยู่ในระดับย่ำแย่ โดยเฉพาะความสามารถในการตรวจสอบข่าวจากผู้รู้ต่างๆ เรื่องที่น่าจะเห็นตรงกันเป็นส่วนใหญ่คือ เราต้องการสื่อที่เสรีกว่านี้ ทำงานได้ดีกว่านี้ เป็นมืออาชีพมากกว่านี้ และโดยเฉพาะ อิสระมากกว่านี้

ไม่ใช่เรื่องปรกติ และไม่ใช่เรื่องดีเมื่อผู้มีอำนาจเกิดลงมาขอร้องกับสื่อต่างๆ ให้ทำงานอย่างนั้นอย่างนี้ตามแต่ใจของตน หากคำขอร้องนั้นเป็นผล มันไม่ได้แสดงอะไรนอกจากบ้านเมืองของเรากำลังถอยหลังลงคลอง ข้อเท็จจริงคือคนทำงานสื่อก็ไม่ได้มีอำนาจอะไรเหนือกฏหมาย หากมีการเสนอข่าวที่ขัดต่อกฏหมายก็เป็นเรื่องนี้น่าจะถูกต้องหากมีการดำเนินการตามกฏหมาย

แต่การใช้อาศัยความมีอำนาจ มาขอร้องในเรื่องที่เกินขอบเขตกฏหมายเช่นนี้มันแสดงถึงอะไรกัน

 

FireFox is (quite) ready now.

ต่อจากเรื่องที่ ไฟร์ฟอกซ์ยังไม่พร้อม ที่เคยเขียนไว้ วันนี้ความคืบหน้าค่อนข้างชัดเจน การใช้งานบนลินุกซ์แม้จะมีปัญหาเรื่องของ Shortcut Key ที่ไม่เวิร์คเมื่อใช้คีย์บอร์ดภาษาอื่นๆ แต่นอกจากนั้นก็ยังคงเวิร์คอย่างเต็มรูปแบบ

ประเด็นหลักคือ Extension ตัดคำภาษาไทยที่กำลังจะออกมา ทำให้ส่วนการตัดคำจะแยกออกจากตัวโปรแกรมหลักแล้วในที่สุด ทำให้การอัพเกรดโปรแกรมหลักจะไม่ทำให้การตัดคำหายแล้วต้องไปนั่งรอคนคอมไพล์ตัวใหม่อีกต่อไป

วางแผนไว้ว่า Extension นี่วางตลาดเป็นทางการเมื่อใหร่ จะมีแคมเปญใหญ่ที่ Blognone ส่วนที่นี่เองคงมีแบนเนอร์บอกผู้ใช้ IE ให้ช่วยกันย้ายซักที

 

ZWSP Replan

หลังจากใช้งาน Firefox บน Ubuntu มาระยะหนึ่ง ความจริงข้อหนึ่งที่พบคือความพยายามฝังระบบตัดคำเข้าไปในตัวเว็บนั้น เป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าเท่าที่ควรเนื่องจากการใช้งาน Libthai บน Ubuntu ที่เวิร์คจริง และ Firefox Extension ที่กำลังจะออกมาในเร็วๆ นี้น่าจะทำให้บราวเซอร์เกือบทั้งหมดที่คนใช้เป็นคนอ่านภาษาไทยออก (ไม่ใช่ฝรั่งหลงกดลิงก์เข้ามา) เป็นบราวเซอร์ที่ตัดคำภาษาไทยได้อยู่แล้ว

สำหรับการตัดคำเพื่อทำ SEO นั้นการตรวจ User Agent แล้วจึงส่งข้อมูลที่ตัดคำให้ (ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็น ZWSP แต่เป็น Space ธรรมดาก็ได้เหมือนกัน) สามารถทำได้ดีกว่ามาก ตอนนี้กำลังหาทางลองวิธีการใหม่ๆ เพื่อปรับการทำงานของ Search Engine ให้เข้ากับภาษาไทยได้ดีกว่าเดิม แต่คงไม่ใช่ ZWSP อีกต่อไป

แต่การใช้งาน ZWSP บนสิ่งพิมพ์เช่นตอนเดโมในงาน BTD2.0 ถึงการใช้ในการจัดหน้ากระดาษยังคงมีคุณค่าให้ศึกษาอยู่ต่อไป หลังจากพยายามอ่านวิธีการเขียน Extension ให้กับ OO.o แบบผ่านๆ แล้ว (ผ่านมากๆ) พบว่าความยุ่งยากค่อนข้างมาก อาจจะหนีไปทำตัว Proof of Concept ให้กับระบบการจัดหน้าที่ง่ายกว่าเช่น LaTeX อะไรอย่างนั้นน่าจะเข้าท่ากว่า