JS or not JS

ช่วงนี้มีโอกาสได้ทำเว็บที่มีความต้องการแปลกไปจาก Blognone บ้างเลยพบว่ามีความต้องการใช้ลูกเล่นที่มากกว่าปรกติ เลยมีประเด็นที่น่าคิดขึ้นมา

เรื่องของเรื่องคือโมดูล Nice Menus  ของ Drupal ที่เวอร์ชั่นหลังๆ มีความพยายามในการขจัดการใช้งาน JavaScript ออกไปให้มากที่สุดโดยล่าสุดสามารถขจัดออกไปจากการใช้งานเว็บใน Firefox ได้แล้ว ส่วน IE ยังต้องพึ่ง JQuery กันต่อไป

ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อผมต้องการ Customize บางอย่างที่เหนือความสามารถของ CSS แล้วทำให้ต้องไปดึง JQuery กลับมาใช้งานอยู่ดี

เรื่องนี้ทำให้น่าคิดว่าบางทีแล้ว การใช้งาน JS ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องเสียหายจนเกินไป โดยเฉพาะหากเว็บไม่ได้ช้าอะไรมากมาย และการใช้งานนั้นลดระยะเวลาการพัฒนาเว็บลงได้อย่างมีนัยยะ

หลายคนอาจจะเถียงว่า CSS นั้นควรทำหลายๆ อย่างได้โดยไม่ต้องพึ่ง JS ที่ทำให้เครื่องผู้เข้าชมเว็บช้าโดยไม่จำเป็น

แต่หลังจากพยายามปล้ำกับมันมานาน ตอนนี้ผมยอมแพ้แล้วขอใช้ JQuery ให้สบายใจดีกว่า

 

my RFC

เนื่องจากช่วงนี้ต้องนั่งอ่าน RFC เลยนึกขึ้นได้ว่า RFC นี่เลขมันเยอะพอๆ กับปีเกิดเราหลายๆ คน มานั่งดูเล่นๆ ว่า RFC ของปีไหนเป็นเรื่องอะไรคงฮาๆ ดี

อย่างของผมปี 2525 กลายเป็นเรื่อง Known TCP Implementation Problem

ตอนนี้ยังไม่มันเท่าใหร่เพราะมันมีแค่สี่หลัก อีกหน่อยมีซักหกหลักแล้วเอาเดือนมาต่อกับปีได้คงสนุกกว่านี้

ต่ออีกหน่อย ไหนๆ ก็เล่ามาแล้ว RFC เป็นเอกสารที่ใช้ในการขอความเห็นกับมาตรฐานต่างๆ ที่จะประกาศเป็นมาตรฐานอินเทอร์เน็ต ตามชื่อของมันคือ Request for Comments โดยทั่วไปแล้ว RFC จะเป็นที่ รวมของเอกสารด้านเทคนิคที่คนทั่วไปอ่านไม่ออกกันเท่าใหร่ไว้เป็นจำนวนมาก

แต่ด้วยอารมณ์ขันแบบ nerd ๆ ก็จะมี RFC จำนวนมากที่โคตรฮา โดยเฉพาะ RFC ประจำวัน April’s Fools ถ้าเผื่อใครอยากอ่านเล่นๆ (จะขำมากสำหรับคอเน็ตเวิร์ค) ทีี่ Wikipedia ก็มีรวมไว้ให้แล้วตามฟอร์ม

อันที่ผมเคยเรียนมาคือ IP over Avian Carriers ที่มีพูดถึงในหนังสือเรียนแถมยังมีการนำไปสร้างของจริงแล้วที่อิสราเอล วัดความเร็วได้ถึง 2.27 Mbps (เร็วว่า ADSL บ้านผมหลายเท่า) แถมยังมีการปรับปรุงให้รองรับ QoS อีกด้วย

แถมทท้ายสุดอีกอย่างที่เด็กคอมคงชอบกัน คือ ประวัติศาสตร์แห่ง “foo” 

 

Change

นั่งอ่านหนังสือ Marketing Management ของ Philip Kothler แล้วเจอหมวดที่น่าสนใจ ในเรื่องของกระแสความเปลี่ยนแปลงของตลาด โดยเนื้อหาส่วนนี้พูดถึงความเปลี่ยนแปลงในตลาดสามแบบใหญ่ๆ คือ

  1. กระแส (Fads) เป็นแค่สิ่งที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ไม่สร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรไว้อย่างถาวร
  2. แนวโน้ม (Trends) คือความเปลี่ยนแปลงที่คงอยู่เป็นระยะเวลาหนึ่ง พร้อมกับสร้างความเปลี่ยนแปลงบางอย่างไว้เบื้องหลัง
  3. คลื่นยักษ์ (Megatrends) ความเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ และสร้างผลกระทบที่หนักหน่วงจนเกือบถาวร

ข่าวร้ายสำหรับชาวไอทีคือเรามีความเปลี่ยนแปลงให้ดูกันทุกวัน จนต้องนั่งเดากันไม่ถูกว่าอะไรจะมาอะไรจะไป และยิ่งกว่านั้นความเปลี่ยนแปลงเกือบทั้งหมดเป็นได้แค่กระแส แนวคิดจำนวนมากตายหายไปกับผู้สร้างมันโดยไม่เคยได้รับความนิยม (ยกเว้นช่วงเปิดตัวสั้นๆ) อย่างจริงจัง

แต่ถ้าใครจับกระแส หรือคลื่นยักษ์ได้เล่า ในโลกไอทีแล้วนั่นคือผลประโยชน์มหาศาลที่ยากจะมีใครเทียบได้ ลองมาไล่เรียงกระแสสำคัญๆ ที่เราเห็นในช่วงหลายปีมานี้ดู

  1. บล็อก
  2. Wiki อันนี้บ้านเราแทบจะเรียกว่าดับสนิท
  3. Always On Connection ตั้งแต่ ADSL, Wi-Fi ไปจนถึง GPRS แบบรายเดือน
  4. MP3 นี่น่าจะเป็น Megatrends

จริงๆ แล้วยังมีเทคโนโลยีอีกหลายๆ ตัวมากๆ แต่ที่น่าสนใจกว่าคือเราจะรู่ได้อย่างไรว่าตัวต่อไปมันคืออะไรกัน

เราอาจจะใช้มันอยู่แต่คิดว่ามันไม่เจ๋งเท่าใหร่ก็เป็นได้ จริงไหม