ไม่เป็นไร

เวลามีคนทำผิดกับเรา เมื่อเขามาขอโทษ คำที่ออกจากปากเราโดยไม่ต้องคิดคือ ..ไม่เป็นไร..

คำถามคือในความเป็นจริงแล้ว เรา ไม่เป็นไรกันจริงๆ หรือ??? เราถ้าเราต้องถูกกระทำอย่างเดียวกันเรื่อยไปล่ะ มันจะ …เป็นไร… ขึ้นมาบ้างไหม?

ถ้าเป็น แสดงว่าเรามุสาต่อคำว่าไม่เป็นไรของเราเอง จริงไหม

แต่ถ้าเราตอบอย่างอื่นนอกจา่กไม่เป็นไรล่ะ เราจะกลายเป็นคนขาดมารยา่ทในสังคมไปรึเปล่า

น่าคิดแฮะ….

 

เรียนรู้

เรื่องหนึ่งที่ผมรำคาญในสังคมไทย คือการที่เรามักจัดการปัญหาต่างๆ โดยอาศัยการคาดเดาว่าช่องโหว่ของกฏต่างๆ จะไม่มีใครไปใช้มัน

เรามองอะไรง่ายๆ เช่นว่าคงไม่มีใครซื้อขายหุ้นผ่านตลาดหลักทรัพย์กันทีละเจ็ดหมื่นล้าน

พี่ว๊ากคงเป็นคนดี ที่ไม่ทำใครตาย

บริษัทเหล้าคงไม่มีวันเติบใหญ่ถึงขั้นจะเข้าตลาดหุ้น

เราเอาภาพโดยทั่วๆ ไปมาเหมาเอาว่า เหตุการที่เราไม่อยากให้มันเกิด มันจะไม่เกิด และนั่นยังไม่แย่เท่ากับการที่เราจัดการกับสิ่งเหล่านี้เมื่อมันเกิดขึ้น

สิ่งที่เราทำคือเรามานั่งแช่งคนทำ

ผมไม่สนหรอกว่าเรื่องที่ผมพูดมาข้างบนมันผิดหรือมันถูก ผมไม่ใช่คนที่มีหน้าที่ตัดสิน แต่ผมมองสังคมเราแล้วสังเวทกับการแก้ปัญหา

ถ้าผมคิดว่าการซื้อขายหุ้นเพื่อทำกำไรมากๆ โดยไม่เสียภาษี ซึ่งเป็นเรื่องที่ตั้งกฏไว้มานานมากๆ แล้ว มันเป็นเรื่องไม่ดี

เราก็ควรมาถกกันไม่ใช่หรือว่ากฏนี้ัยังควรมีอยู่รึเปล่า…. อาจจะถึงเวลาที่เราต้องมาเข้าชื่อกันเพื่อยกเลิกหรือปรับปรุงสิทธิของคนซื้อขายผ่านตลาดหุ้นตรงนี้

ผมนึกถึงเรื่องของโรงงานเย็บผ้าในอเมริกาสมัยหนึ่งแล้วสวัสดิการแย่อย่างไม่น่าเชื่อ พนักงานถูกขังไว้ในโรงงานเพื่อไม่ให้อู้งาน กุญแจถูกล็อกจากด้านนอก โดยมีทางเข้าออกเพีัยงทางเดียว

วันหนึ่งโรงงานนั้นไฟไหม้ เรื่องเศร้าคือคนงานทั้งหมดเสียชีวิต

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นคือกฏหมายคุ้มครองสวัสดิภาพพนักงาน กฏหมายความปลอดภัยของอาคาร ฯลฯ

มันไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายที่เราจะพลาด หรือสิ่งที่เราเคยทำมันมีช่องโหว่

ปัญหาคือเราจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นอย่างไรต่างหาก จะเกิดอะไรขึ้นถ้าคนอเมริกันพากันสาปแช่งเจ้าของโรงงานนั้น โดยไม่เรียกร้องความคุ้มครองในอนาคต

เรื่องน่าเศร้าก็คงยังเกิดขึ้นเรื่อยไป….

 

ทนง

ไม่ใช่ชื่อคน แต่เป็นคำวิเศษแสดงถึงความหยิ่งในความแน่ของตัวเอง

ถ้าวันนี้จะเขียนเรื่องนี้ คงต้องยกตัวอย่างโซนี่เป็นหลัก

วันก่อนอ่านข่าวว่ามีรัฐมนตรีของญี่ปุ่นออกมาแสดงความกังวลว่าญี่ปุ่นกำลังสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน โดยยกตัวอย่างไอพอดที่กินตลาดวอร์คแมนไปอย่างราบคาบ

เรื่องหนึ่งที่รัฐมนตรีท่านนั้นไม่เข้าใจคือ โซนี่เสียตลาดนี้ไปด้วยแนวคิดอารยธรรมโซนี่เองนั่นแหละ

เมื่อโซนี่ออกวอร์คแมนนั้น มันได้รับความนิยมอย่างสูง กระทั่งที่ว่าเมื่อโซนี่กำลังสำรวจตลาดยุโรปเพื่อคิดชื่อให้วอร์คแมน ก็พบว่าชื่อวอร์คแมนเป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว

ถึงจุดนั้น วันนี้โซนี่กำลังหลงระเริงว่าตัวเองเป็นพระเจ้าที่จะชี้ให้ตลาดไปทางไหน ตลาดก็หันหัวตาม

ตลาด MP3 นั้นแสดงศักยภาพของตลาดมานาน แต่โซนี่ก็ยังเชื่อว่า ATRAC3 ของตนต้องเป็นหนึ่ง เห็นได้ชัดจากโฆษณาชุดออารยธรรมโซนี่

ข้อเท็จจริงคือตลาดต่างหากเป็นตัวบอกว่าโซนี่ควรทำอะไร

บทเรียนที่โซนี่ต้องเรียนรู้จากการพ่ายแพ้ต่อแอปเปิลนี้เป็นบทเรียนที่โซนี่ต้องจำไปอีกนานเท่านาน

วันนี้เห็นได้ชัดว่าโซนี่เริ่มเปิดกว้างให้กับอารยธรรมโซนี่ ด้วยการออกเครื่องเล่น MP3 ใส่ช่องอ่าน SD เข้าไปในแลปทอปของตน

ถ้าเปรียบโซนี่กับชีวิตของคนๆ หนึ่งแล้ว มันมีให้เห็นเรื่อยๆ กับความน่ากลัวของความทนงตนอย่างนี้

ที่เห็นชัดที่ผ่านมาคือการเอนทรานซ์ ที่หลายคนคิดว่าเมื่อผ่านการเอนทรานซ์เข้าไปได้แล้ว ก็ไม่มีอะไรต้องเป็นห่วงอีกต่อไป

เมื่อชีวิตผ่านมาถึงจุดหนึ่ง ผมสงสัยว่าชีวิตจะไปถึงจุดสุดที่ตรงไหน มันอาจจะไม่มีเลยก็เป็นได้ เราเพียงผ่านจุดหนึ่งและก้าวข้ามไปยังจุดที่ยากกว่า พร้อมๆ กับยิ้มให้กับความสำเร็จในจุดที่ผ่านมา

ก็เท่านั้น

 

ภาพรวม

อาจจะดูเหมือนทะเลาะกันหน่อย แต่วันนี้ในข่าวล่าสุดของผมใน Blognone ถือได้ว่าเป็นความสำเร็จอย่างสูงต่อสิ่งที่หวังไว้ใน Blognone ที่จะให้คุยกันในแบบที่ที่อื่นเขาไม่คุยกัน

แต่เรื่องหนึ่งที่รู้สึกได้คือ คนส่วนมากมองจากเล็กไปใหญ่ เช่นว่า

เกลียดทักษิณ > ไม่เอาแลปทอปร้อยเหรียญ > ไม่เอาคอมพิวเตอร์เข้าห้องเรียน

ผมไม่รู้สึกอะไรกับการที่จะมีคนต้านการใช้คอมพิวเตอร์ในห้องเรียน มันเป็นเรื่องปรกติของชาติประชาธิปไตยที่เราควรหาทางพัฒนาร่วมกันได้ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือการเอามุมมองเล็กๆ มาตัดสินภาพใหญ่ๆ

มันเหมือนกันมองขอบภาพวาดแล้วบอกว่าสีระบายไม่เต็มพื้นที่ แล้วไปตัดสินว่าภาพไม่สวย

เรื่องนี้คงเป็นปัญหาระดับโลกเลย เพราะเว็บระดับโลกอย่างวิกิพีเดีย (Wikipedia) เองก็เจอปัญหาที่ถูกวิจารณ์อย่างหนักในเรื่องของความถูกต้อง ซึ่งเป็นเรื่องดี แต่กลับไม่มีข่าวพูดถึงความยิ่งใหญ่ของความรู้ที่รวมเข้าไปในวิกิพีเดีย ทำให้บทวิจารณ์กลายเป็นเรื่องน่าเศร้าสำหรับคนทำไป เพราะถูกมองว่า

บทความหนึ่งมีจุดผิดบางส่วน > บทความนั้นไม่น่าเชื่อถือ > วิกิพีเดียไม่น่าเชื่อถือ

ความจริงประการหนึ่งคือในโลกนี้ไม่มีอะไร 100% ไม่ีมีสารานุกรมเล่มไหนถูกต้องทั้งหมด เช่นเดียวกับไม่มีโครงการไหนของรัฐขาวสะอาดไปทุกส่วน ชี้มาเถอะสักโครงการต้องมีจุดด่างพร้อย ตั้งแต่ให้เงินไปจนถึงเลี้ยงข้าวกัน

ความหวังต่อๆ ไปคือการสร้างสังคมที่พูดคุยกันในเรื่องระดับใหญ่ขึ้น มองกันในภาพกว้างขึ้น เพื่อหาข้อสรุปที่ดีขึ้น วันหนึ่ง Blognone อาจจะได้ข้อสรุปว่า แลปทอปร้อยเหรียญมีประโยชน์จริงหรือไม่ หรือการนำไอทีเข้าไปใช้ในห้องเรียนควรเป็นไปในทิศทางใด

อย่างนั้นแล้วน่าจะมีประโยชน์ต่อสังคมรวมมากกกว่า