ชี้นำ

ซีรี่ย์ที่เพิ่งดูจบไปสองเรื่องล่าสุดคือ Taken กับ 24

24 เป็นเรื่องราว 24 ชั่วโมงของครอบครัวหนึ่งที่ต้องเจอกับวันที่ยาวนานที่สุดในชีวิต

Taken เป็นเรื่องราวกว่า 50 ปี นับได้สามชั่วอายุคนของสามครอบครัวที่ต้องเกี่ยวเนื่องกับมนุษย์ต่างดาว

สองเรื่องนี้ไม่มีอะไรต่างกัน นอกจากว่าผมคงไม่มีวันดูเรื่องที่สอง ถ้าไม่ใช่ว่าสปีลเบิร์กเป็นคนสร้าง

Taken เป็นเรื่องที่ราบเรียบ เล่าถึงประสบการณ์ผ่านทางเสียงของเด็กน้อยคนหนึ่งชื่อ แอลลี่ ตลอดเรื่องคำคมนับร้อยที่น่านำไปคิด

ใครรู้จักผมดีคงรู้ว่าผมไมใช่คนจะดูหนังอย่างนี้

การที่ผมได้ดูหนังเรื่องนี้ นอกจากคำคมเปลี่ยวๆ ที่เอามาลงบล็อกแล้ว ยังมีอีกเรื่องที่น่าสนใจ คือ เมื่อคนเราดังระดับสปีลเบิร์ก คนที่เลือกดูแต่หนังทริลเลอร์อย่างผมก็ถูกลากมาดูหนังที่สปีลเบิร์กต้องการอยากให้คนดูได้

ขณะที่เรารู้จักเขาจากหนังอย่าง E.T., Saving Private Ryan หรือ Jurassic Park แต่ด้วยความดังอย่างเขา ทำให้เขาสามารถสร้างหนังแสดงอุดมการณ์ส่วนตัวอย่าง Schnidler’s List หรือ Munich ตลอดจนหนังที่แหวกแนวออกไปอย่าง Taken นี้ได้

โดยใช้ทุนสร้างสูง… และโดยเฉพาะ คนดูเยอะมหาศาล

นอกจากเรื่องทางด้านศีลธรรมแล้ว ผมเชื่อว่าอุดมการณ์หลายๆ อย่างในตัวเราควรถูกรักษาไว้โดยตระหนักถึงการเผยแพร่อุดมการณ์นั้นออกไป มากกว่าจะมุ่งแต่รักษาอุดมการณ์อย่้างเดีัยวโดยสุดท้ายต้องอ้างว้างในสังคม

ในความเป็นจริงคือการโอนอ่อนให้กับสังคมและตลาดบางส่วน เมื่อถึงจุดหนึ่งที่เรากลายเป็นผู้ชี้ทางตลาด ชี้นำสังคม

หากไม่มี หนังทำเงินจำนวนมาก คงไม่มีใครให้เงินทำซีรี่ย์อย่าง Taken นี้กับสปีลเบิร์ก

ความคิดของเขาอาจจะถูกดองไว้ในลิ้นชักของค่ายหนังสักค่้าย

ค่ายหนังเล็กๆ บางค่ายอาจจะยอมลงทุนให้เขา

ผลงานของเขาอาจจะไม่ดีเท่านี้ ด้วยความที่งบประมาณจำกัด

หรือให้ออกมาดี มันอาจจะไม่มีชื่อพอให้เราไ้ด้มีโอกาสดูกันทั่วไป

 

แก่น

จากบล็อก mk เรื่อง Support Centric Design ผมเชื่อมาเสมอว่า แท้จริงแล้ว ธุรกิจหนึ่งๆ จะดำเนินไปได้ มันเป็นไปด้วยการดำเนินการให้แก่นของธุรกิจนั้นเดินหน้าไปอย่างเต็มที่

ปัญหาคือเรามองแ่ก่นของแต่ละเรื่องไม่เห็น มากกว่าที่ว่าเราแก้ปัญหาไม่ไ้ด้

ผมเชื่อว่าแก่นปัญหาของการศึกษาไทย ไม่ใช่การที่เราจับเด็กท่องจำ หรือไม่มี Child-Center อะไรอย่างนั้น

ผมเชื่อว่าแก่นของปัญหาคือคนต่างหาก ธุรกิจการศึกษาคือธุรกิจว่าด้วยการจัดหาคนคุณภาพสูงมาสอนเด็ก ปัญหาของเราไม่ใช่ิวิธิการ แต่ปัญหาของเราในวันนี้คือเรามีคณะครุศาสตร์เป็นคณะที่มีคะแนนเอนทรานซ์ต่ำเกือบๆ จะสุดท้ายของประเทศ

ขณะเดียวกันเล่าปัญหาซอฟท์แวร์ห่วยในวันนี้คืออะไร ผมเรียน Software Engineering มา พบว่ามีกระบวนการหลากหลายที่มุ่งเน้นทั้งคนทำ หรือคนใช้ โดยส่วนตัวแล้วทั้งสองแบบมันทำร้ายคนลงทุนไม่ต่างกันเท่าใหร่เลย

ผมเชื่อว่าคุณภาพซอฟท์แวร์มันจะมาได้ด้วยกระบวนการที่ดีต่างหาก หากเรามุ่งความต้องการของคนใช้เป็นหลัก สิ่งที่ผมเห็นคือโปรแกรมที่พันกันยุ่ง พร้อมๆ กับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นแบบ Exponential หากเรามองด้านเทคนิคเป็นหลักโปรแกรมที่ได้อาจจะเรียบหรู แต่ขาดความสามารถที่จำเป็น

กระบวนการที่ดี การรีวิวที่เป็นขั้นตอนต่างหากที่เราควรทำให้มันเกิดขึ้นมากกว่าจะมาเถียงกันว่าจะเอาใจใครดี

คำถามคือถ้าเราแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ หมายถึงเราไม่ต้องมองด้านอื่นๆ แล้วอย่างนั้นหรือ….

 

มอง

มองนาฬิกา เห็นความทนทาน
มองเสื้อ เห็นยี่ห้อ
มองหนังสือเห็นชื่อคนเขียน
มองหนัง เห็นดารา

ไม่รู้ว่าเป็นเพราะผมเรียนและออกจะบ้าด้านเทคนิคมากไปรึเปล่า ทำให้เป็นพวกมองแต่ความสามารถด้านตรงของสิ่งของเป็นสิ่งสำคัญ แต่ความรู้สึกในใจหลายๆ ครั้งที่รำคาญคือการมองสิ่งเสริมแต่งมากกว่าที่จะมองแก่นของสิ่งหนึ่ง

เมื่อครั้งผมรับปริญญาเรื่องที่หมู่ญาติพูดถึงกันมากคือขนาดภาพถ่ายรับปริญญาที่ออกจะเล็กไปสักหน่อย เรื่องจริงคือไม่มีใครสนหรอกว่าผมจบมาเท่าใหร่ ลำบากแค่ไหน ไม่มีใครอยากไปพูดคุยกับอาจารย์ว่าผมตั้งใจเรียนเพียงใดตลอดเวลาสี่ปี สิ่งที่เขามองเห็นคือภาพรับปริญญา

มันง่ายดีที่จะมองอะไรง่ายๆ อย่างนั้น แต่มันเป็นเรื่องดีหรือ?

ผมนึกถึงเด็กชายข. ไข่ เด็กชายในจินตนาการที่ผมยกเอาส่วนหนึ่งของความคิดไปเป็นตัวเขา หรือกระทั่ง log ที่ไอ้มาร์คเอาไปโพส ก็เป็นตัวอย่างที่ดีในกรณีนี้

ลองนึกถึงเวลาเรามองสาวคนหนึ่ง เรามองหน้าตา เรามองชาติตระกูล มองฐานะ

ในความเป็นจริงคือถ้าเราเลือกเขา และเขาเลือกเรา สิ่งที่เราต้องเจอคือสังขารที่ร่วงโรยไป ชาติตระกูลที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในครอบครัวสักเท่าใหร่ ฯลฯ

เราอยู่กับเธอ (เขา)……

ผมซื้อนาฬิกามาดูเวลา
ผมใส่เสื้อความอากาศและความเหมาะสม
ผมพบว่าหนังสือที่คิดว่าคุ้มค่า มักมาจากนักเขียนที่ไม่ดัง
หนังที่ดีเกิดจากดาราที่ดี ไม่ใช่ดาราที่ดัง

 

ทำไมจึงควรเขียนที่ Blognone

นั่งมองหาจุดขายของ Blognone เล่นๆ สิ่งสำคัญนอกจากการที่จะมีคนเข้ามาอ่านมากๆ แล้ว คนเขียนก็สำคัญ ขณะที่เราเป็นเพียงเว็บเล็กๆ ที่ครองสัดส่วนตลาดคนอ่านเพียงเท่ามด แต่ผมกลับมองตลาดคนเขียนเป็นหลัก ผมหวังว่า Blognone จะซื้อใจคนเขียนจำนวนมากได้ โดยในมุมหนึ่งแล้วมันอาจจะสำคัญกว่าการที่ผมครองตลาดคนอ่านได้เยอะๆ เสียอีก

เรื่องหนึ่งที่ผมเคยเป็นคือการไปนั่งเขียนเรื่องที่ตัวเองสนใจอยู่เล็กๆ เงียบๆ คนเดียวสมัยที่เขียนอยู่ที่ Blogger สิ่งที่เกิดขึ้นคือพลังงานจำนวนมากที่ทุ่มลงไปมีผู้ได้รับประโยชน์จากมันเพียงหลักสิบ ขณะเดียวกันเมื่อผมหมดแรงเขียน เว็บที่ทำมาแรมเดือนก็จะสูญไปกับตา

เพราะฉะนั้นผมจึงมอง Blognone เป็นเหมือนตลาดนัดที่ทุกคนจะเอาเวลาบางส่วนมาแบ่งปันร่วมกัน ขณะที่คุณอาจจะมีแรงเขียนข่าวเพียงเดือนละข่าว แต่ข่าวนั้นของคุณจะมีคนอ่านนับร้อย โดยไม่ต้องมานั่งทำให้เว็บตัวเองดัง ขณะที่คุณอาจจะหมดอารมณ์เขียน คุณก็เพียงหยุดไป สังคม Blognone จะเดินต่อไปโดยมีคนอีกนับสิบช่วยให้มันขับเคลื่อนต่อไป

มันคือแนวคิดของการทำงานเป็นทีม ที่ให้ผลในระยะยาว มันอาจจะไม่ทำให้คุณดังขึ้นมาในช่วงข้ามคืน เพราะคุณจะถูกมองเป็นส่วนหนึ่งของ Blognone มากกว่าที่จะได้รับเครดิตไปเต็มๆ เพียงคนเดียว แต่ที่ Blognone ผมวางรากฐานการให้เครดิตไว้อย่างเต็มที่

ผมไม่หวังให้มีนักเขียนประจำมาร่วมกับผมและไอ้มาร์คเท่าใหร่ การมีคนเขียนประจำเ็ป็นเหมือนของแถมมากกว่าจะเป็นอะไรที่หวัง แนวคิดคือมีคนเขียนสักสามร้อยคนเขียนกันเดือนละข่าว เราก็ได้วันละสิบข่าวแล้วขณะที่บางคนอาจจะเขียนสามเดือนข่าว คนหนึ่งอาจจะบ้าพลังเขียนวันละแปดข่าว แต่โดยรวมแล้วทุกคนกำลังขับเคลื่อนให้เว็บมันไปข้างหน้า และสังคมภายนอกได้รับประโยชน์สูงสุดจากแรงงานที่แต่ละคนสละมาให้

ผมเสียดายบล็อกดีๆ จำนวนมากที่คนเขียนสามารถเขียนได้น่าสนใจ แต่การเขียนอยู่เงียบๆ คนเดียวพร้อมกับการเลิกเขียนในสองเดือนต่อมา มันสร้างคุณค่าให้กับงานเขียนของเขาน้อยกว่าคุณค่าที่ผมมองเห็นหลายเท่านัก

เราจะรวมนักเขียนเหล่านี้ยังไงดี อาจจะทำ Badge แบบ Write at Blognone รึเปล่าหว่า?