ให้อภัย

บิล เกตต์เคยเขียนในหนังสือของเขาว่าที่ไมโครซอฟท์ หลายครั้งมีการจ้างอดีตผู้บริหารจากบริษัทอื่นๆ ทั้งที่ผู้บริหารเหล่านั้นเคยทำผิดพลาดมาก่อนในบริษัทเดิม ด้วยแนวคิดที่น่าสนใจว่า ผู้บริหารเหล่านั้นน่าจะเรียนรู้จากความผิดพลาดของเขาและปรับปรุงการทำงานในอนาคตให้ดียิ่งๆ ขึ้น

แนวคิดประมาณนี้คือแนวคิดของการยอมรับว่าคนเราต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต ขณะที่เรามักจำแนกช่วงเวลาของชีวิตออกเป็นสองช่วงคือผู้ใหญ่กับเด็ก สิ่งหนึ่งที่มาพร้อมกับการจำแนกเช่นนี้คือการให้อภัยกับเด็กอย่างสุดโต่งจนไม่มีความผิดใดๆ ขณะที่หลายครั้งคนที่เราจำแนกว่่าเป็นผู้ใหญ่นั้นเรากลับปฎิเสธความต้องการที่จะเรียนรู้เรื่องต่างๆ ออกไป

หลายครั้งที่เราถามถึงจุดยืนของคนๆ หนึ่ง แล้วยึดเอาว่าคนๆ นั้นเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ โดยปฎิเสธความจริงที่ว่าเมื่อเวลาเปลี่ยนไปแล้ว การเรียนรู้ ประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้นกับชีวิตคนเรา สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับคนเราได้อย่างไม่น่าเชื่อเสมอๆ

หนักกว่านั้นคือเมื่อมีใครสักคนเปลี่ยนแปลงความคิดของเขา สิ่งที่เรามักจะเจอกันเรื่อยๆ คือการประณามการเปลี่ยนแปลงนั้นว่าเป็นการกระทำของคนไร้หลักการ

การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้เสมอๆ สิ่งที่สำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงคือเราสามารถอธิบายได้หรือไม่ว่าทำไมเราจึงควรเปลี่ยนแปลง และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงแล้ว หากการกระทำก่อนการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ผิด ความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เคยผิดพลั้งไปนั้นดูเหมือนจะสำคัญเป็นที่สุด

การยอมรับผู้ที่ยอมเปลี่ยนแปลงนั้นเล่า มันคงดีกว่าการให้อภัยแต่คำพูดเป็นไหนๆ

 

แต่งตัว

พอดีช่วงนี้มีข่าวว่าด้วยการแต่งเนื้อแต่่งตัวเยอะ เรื่องดาราผมไม่เชี่ยวชาญเลยไม่ขอออกความเห็นแล้วกัน แต่พอดีนึกขึ้นได้ถึงความเห็นตอนเรียน ป. ตรี

ผมไม่เห็นด้วยกับเครื่องแบบในทุกๆ กรณีครับ โดยเฉพาะอย่างในมหาวิทยาลัยที่ควรเป็นศูนย์รวมของความคิดสร้างสรร การเอาอะไรซักอย่างมาบีบเพียงแค่จะบอกให้ชาวโลกมองว่ามหาวิทยาลัยช่างดูเป็นขาวดำสวยงามดีเหลือเกินนั้น ดูเหมือนเป็นเรื่องอะไรที่คิดง่ายเกินไปสำหรับผม

ขณะเดียวกันผมก็ยังเชื่ออีกเหมือนกันว่ามหาวิทยาลัยควรมีกฏควบคุมการแต่งตัวอยู่ โดยไม่มีอะไรนอกไปจากอำนวยความสะดวกให้ทุกคนสามารถเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อันหลังนี่ประสบการณ์ตรง สอบๆ อยู่แล้วสาวข้างๆ ใส่กระโปรงสั้นแล้วไขว่ห้างที อ่านโจทย์ไม่ออกเอาเหมือนกัน…..

แต่กฏนอกเหนือจากนั้นน่ะเลิกเถอะครับ ลืมๆ ความเป็นเอกภาพแบบชนชั้นที่พยายามจะบอกให้สังคมข้างนอกรับรู้ว่าข้าเป็นนิสิตนะเว่ย ข้าเนี่ยแหละมันสมองของประเทศ แล้วมองตัวเราเปํ็นหนึ่งในสังคม เป็นกลจักรที่ต้องทำงานร่วมกับส่วนอื่นๆ ให้สังคมมันไปข้างหน้า

ปล. ผมชอบชุดนิสิตนะ ผมว่ามันเป็นชุดที่เหมาะกับเมืองไทยมากๆ คิดไว้ว่าถ้ามีประท้วงไม่ให้ใส่ชุดนิสิต จะใส่ชุดนิสิตไปประท้วงกับเค้า

 

เสียตัว!

พอดีสองบล็อกใน feed พูดเรื่องวาเลนไทน์ (1,2) แถม อสมท. ก็เล่นข่าวอินเทอร์เน็ตชักนำให้มีเพศสัมพันธ์ เลยนึกอะไรบางอย่างขึ้นมาได้ให้เอามาเขียนบ้าง

โดยพื้นฐานครอบครัว ศาสนา และการดำเนินชีวิตแล้ว ผมเป็นคนที่เชื่อว่าเพศสัมพันธ์นั้นมีไว้สำหรับหลังแต่งงานทุกกรณี ไม่มีข้อยกเว้นใดๆ ไม่ว่าจะเป็นแฟนกันแล้ว มั่นใจแล้วว่าเป็นคู่กัน หรือจะหมั้นแล้วเตรียมงานแต่งอาทิตย์หน้าก็ตามที แต่เมื่อได้อ่านหนังสือ เรื่องเพศที่ไม่อยากให้ลูกรู้ (แต่กลัวว่าอยู่ว่าลูกจะถาม) ผมได้แนวคิดอย่างหนึ่งมาจากหนังสือเล่มนี้คือพ่อแม่นั้นเป็นตัวแปรหลักที่จะกำหนดพื้นฐานในตัวลูกว่าสิ่งใดที่ควรมองว่าเป็นความถูกต้อง และสิ่งใดที่ผิดพลาด โดยพื้นฐานสังคมอเมริกันที่เปิดกว้างกว่าบ้านเรา หนังสือเล่มนั้นบอกให้ผมรู้ว่ามันมีพ่อแม่จำนวนหนึ่งเหมือนกันที่เชื่อว่าลูกของเขาควรมีเพศสัมพันธ์กันตั้งแต่คบกัน เพื่อให้ได้ข้อมูลในการเลือกจะลงเอยกับใครสักคน

ประเด็นคือถ้าพ่อแม่อยากให้ลูกเป็นแบบใด พ่อแม่ควรตระหนักว่าเขากำลังให้กำเนิดลูกออกมาในสังคมแบบใด และน่าจะเป็นเรื่องดีถ้าพ่อแม่จะเตรียมการรับมือปัจจัยภายนอกที่จะมีผลกระทบกับลูกของเขาเอาไว้ตามสมควร

บ้านเราเอง ถ้าไม่มัวนั่งฟังข่าวจากกระทรวงวัฒนธรรมจนไม่ลืมหูลืมตา คงรู้กันดีกว่าวัฒนธรรมบ้านเรามันไม่ได้สวยใส หญิงเรียบร้อย ชายสุภาพเต็มเปี่ยมกันทั้งประเทศ แบบที่พยายามสร้่างภาพกันว่าเป็นอย่างนั้นมาหลายร้อยปี แล้วเพิ่งเปลี่ยนไปเมื่อวาน

ไม่เชื่อต้องไปอ่านสุนทรภู่…..

ไม่ว่าเราจะชอบหรือรับได้หรือไม่ ความคิดแบบ “ไม่เห็นเป็นไร..” ก็ยังคงมีอยู่ ที่แย่กว่านั้นความผิดพลาดจากความ “ไม่เป็นไร” (เช่น ท้อง…) ก็ยังคงมีอยู่อีกเช่นกัน

ผมมองว่าแนวคิดแบบ ปิดไว้ไม่ให้มันรู้ เป็นแนวคิดไม่สามารถแก้ปัญหา (ถ้ามองมันเป็นปัญหา) แต่อันนั้นมันเป็นเรื่องของวิธีการของแต่ละครอบครัว

สังคมไทยยังมีเรื่องน่ารังเกียจกว่านั้นอีกเยอะ…..

ไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้งที่ผมได้ข่าวเด็กและไม่เด็กหญิงทั้งหลายถูก “เฉดหัว” ออกจากสถานศึกษา เพราะความผิดพลาดครั้งหนึ่งในชีวิต ให้ตายเถอะครับ การกระทำพวกนี้มันเป็นการกระทำสมัยนางทาส ทำไมเราต้องไปพิพากษาชีวิตคนๆ หนึ่งให้เกือบหมดโอกาสในสังคมด้วยเหตุว่าเขาผิดพลาดไป ยิ่งกว่านั้นทำไมเด็กคนหนึ่งที่เกิดมาในช่วงที่แม่กำลังอยู่ในสถานศึกษาถึงต้องเป็นต้นเหตุให้แม่หมดอนาคต

แล้วทำไมต้องลงโทษแต่ผู้หญิง (ว่ะ..) ทำไมไม่ลากคอผู้ชายมาประกาศชื่อแล้วไล่ออกกันบ้างล่ะ

ความอับอาย และความลำบากที่ต้องเรียนหนังสือทั้งที่ร่างกายไม่อำนวยมันไม่เพียงพอต่อผู้มีอำนาจหรืออย่างไรไม่ทราบ จึงต้องซ้ำเติมใหญ่ความผิดพลาดของคนๆ หนึ่งเป็นเรื่องร้ายแรงไปตลอดชีวิต

ในแง่หนึ่งแล้ว การประโคมข่าว “วันเสียตัว” ตัวเลขสถิติเทียบกับปีที่แล้ว ฯลฯ อาจจะเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับการซ้ำเติมอย่างไร้จริยธรรมเหล่านี้ก็ได้ 

 

Party by Coincidence

วันนี้ติดภารกิจไปเที่ยว (เป็นภารกิจจริงๆ นะ) แต่ก็มีเรื่องหนึ่งแว๊บขึ้นมาในหัีว

เวลาเรามีชุมชนใหญ่ๆ มากๆ เช่น Blognone หรือ Exteen เรื่องที่หลายคนอยากให้มีคืองานพบป่ะสังสรรกันบ้างเป็นครั้งคราว แต่ถ้าใครเคยจัดงานพวกนี้จะรู้ดีว่าการจะจัดงานให้ถูกใจคนจำนวนเกินร้อยขึ้นไปนี่เป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะด้วยความต่างกันหลายๆ อย่างไม่ว่าจะเป็นความสนใจ รสนิยม วิถีชีวิต ฯลฯ

แต่จะเป็นยังไงถ้าเราจัดงานปาร์ตี้แบบไม่ได้จัดงาน ลดเงื่อนไขที่สร้างขึ้นมาจากการจัดงานปาร์ตี้แบบเดิมๆ ให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ และกลับไปหาวัตถุประสงค์เริ่มแรกที่เราอยากจะมีงานปาร์ตี้สักงาน คืออยากไปเจอเพื่อนฝูงที่เราไม่ได้มีโอกาสพบเจอกันในโอกาสปรกติ

เราอาจจะทำอะไรง่ายๆ เช่นการนัดไปเดินสวนลุมไนท์บาร์ซาร์กันสักวัน ทั้งหมดที่เรามีคือการนัดแนะวันที่ ช่วงเวลา หากเป็นชุมชนในอินเทอร์เน็ตอาจจะมีแบบฟอร์มบัตรป้ายชื่อให้ติดเพื่อจะได้รู้ว่าใครเป็นใคร

แล้วที่เหลือล่ะ?

ทุกคนก็แค่ไปเดินเที่ยวกัน ใครอาจจะนัดกับใครที่สนิทกันอยู่แล้วไปเดินเล่นกันเอง คุณอาจจะชอบเดินช๊อป หรืออยากนั่งกินกาแฟ กินเบียร์ หรือจะกินส้มตำ ทั้งหมดเป็นไปตามวิถีชีวิตและการตกลงร่วมกันระหว่างกลุ่มของแต่ละคน แต่ทุกคนที่เข้าร่วมงานจะมีโอกาสอันดีมากที่จะ “บังเอิญ” พบใครสักคนที่เขาอยากพบมานานแล้ว

ปาร์ตี้ที่ดำเนินไปแบบบังเอิญๆ เราอาจจะพบใครหลายคนที่เราอยากเจอ หรือพบกับใครหลายๆ คนที่อยากเจอเรา

นั่งคิดเล่นๆ แล้วน่าสนุกดี จะมีใครเอาไปจัดจริงๆ บ้างมั๊ยเนี่ย