ว่างจัด (การบ้านยังไม่เสร็จ) ลองมาหาคำอธิบายของคำว่า “เธอดีเกินไป” กันเล่นๆ ดีกว่า
ลองจินตนาการว่าเวลาเราไม่รู้จักใคร หรือเพิ่งเจอหน้า เรามักจะไม่มีความคาดหวังใดๆ จากคนๆ นั้น และในทางกลับกัน เราเองก็ไม่มีความห่วงใยใดๆ ที่จะช่วยเหลือคนที่เราไม่รู้จักนั้น จนเมื่อเรารู้จักกันมากขึ้น เราจึงมีความคาดหวังมากขึ้นเรื่อยๆ แต่โดยทั่วไปแล้วเราก็จะมีความ “สะดวกใจ” ที่จะรับความปรารถนาดีจากคนๆ หนึ่งได้ในช่วงหนึ่งเท่านั้น เช่น เราอาจจะยินดีขอให้เพื่อนที่เรียนด้วยกันเลี้ยงก๋วยเตี๋ยวสักชาม แต่กับเพื่อนคนเดียวกัน ถ้ามาเสนอจะซื้อรถให้เราคงไม่สะดวกใจจะรับ แถมระแวงใส่ว่ามันจะมาไม้ไหน จากเหตุการณ์รูปแบบนี้เลยสรุปออกมาเป็นกราฟของความพึงพอใจกับความปรารถนาดีได้ดังข้างล่าง
โดยยิ่งเมื่อความปรารถนาดีที่ให้ต่อกันมากเกินไปแล้ว ความพึงพอใจจะลดลงเรื่อยๆ จนติดลบไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด อย่างถ้าเพื่อนเราเสนอเงินมาให้เราซักสิบล้าน เราคงแอบคิดว่ามันไปค้ายาบ้าแล้วเอาเราเป็นที่ฟอกเงินได้เหมือนกัน
แต่กราฟข้างบนก็ยังไม่สามารถอธิบายปรากฎการณ์ “เธอดีเกินไป” ได้อีกเหมือนกัน เพราะถ้ามันง่ายๆ อย่างนี้แล้ว เราคงถามสาวๆ กันได้ง่ายๆ ว่าวันก่อนที่ให้ยืมเงินไปสองร้อยแล้วมันมากเกินไปใช่มั๊ย อะไรอย่างนั้น
กลับมาที่กราฟ เราจะเห็นว่าโดยทั่วไปมักจะมีจุดที่ดีที่สุดที่เราจะรับความปรารถนาดีได้เสมอ เช่น ถ้าเรายินดียืมเงินเพื่อนสองร้อย แล้วเพื่อนให้เรายืมเงินสองร้อยเราจะไม่ลำบากใจว่ามันมากเกินไป แต่จะมีแต่ความซาบซึ้งว่าเพื่อนเราให้เราได้ เราสามารถเอาปริมาณความปรารถนาดีเหล่านี้มาเก็บค่าในมุมมองต่างๆ ที่เป็นตัวแทนความปรารถนาดีโดยทั่วๆ ไปเช่น เวลา ความช่วยเหลือ ฯลฯ (คิดไม่ออกแล้ว..) ขณะเดียวกันเราก็มีความคาดหวังกับเพื่อนอีกคนในอีกรูปแบบ เช่นคนๆ หนึ่งอาจจะงานยุ่งมากเลยไม่มีเวลาให้ แต่กลับคาดหวังให้เพื่อนว่างรับฟังปัญหาตลอดเวลาอย่างนั้นก็เป็นไปได้
กราฟข้างบนแสดงความคาดหวัง และความปรารถนาดีที่คนๆ หนึ่งมีกับคนอีกคน ซึ่งมันจะดีมาก ถ้าทั้งสองคนมีความอยากให้และรับพอๆ กัน ดังกราฟ ข้างล่างนี้
แม้คนๆ หนึ่งจะมีความปรารถนาจะให้และรับในแต่ละเรื่องไม่เท่ากัน แต่ก็เป็นไปได้ที่จะพบอีกคนหนึ่งที่เข้ากันได้พอดี เช่น คนที่มีแฟนแล้วอาจจะไม่มีเวลาให้เพื่อนมากนัก แต่เมื่อเวลามีปัญหากลับต้องการให้เพื่อนพร้อมรับฟังตลอดเวลาแม้จะเป็นตีสามก็ตามที ในกรณีแบบนี้ ถ้าเจอคนเป็นโสด นอนน้อย และยินดีคุยตลอดเวลาก็ถือว่าโอเคไป (คุ้นๆ นะกรณีตัวอย่างเนี่ย)
มั่วไปมั่วมา เราอาจจะอธิบายอาการ “เธอดีเกินไป” เป็นรูปข้างล่างนี้ไปได้
นั่นคืออาการที่ฝ่ายหนึ่งพยายามให้จนเกิน (อาจจะหวังความสัมพันธ์ที่เดินหน้าจากการให้ หรือไม่ก็อีกเรื่อง) จนสุดท้ายแล้วความพึงพอใจกลายเป็นติดลบสะสมในหลายๆ ด้านไปในที่สุด
ปล. บทความนี้มั่วมาก แถมเขียนตอนง่วง อ่านจบแล้วโปรดอย่าจริงจัง