ประเด็นที่คุยกันมากในสังคมไทยช่วงก่อนหน้านี้คือประเด็นเรื่องของความถูกต้อง ก่อนหน้านี้เราอาจจะพูดถึงความถูกต้องในเชิงกฏหมายเสียเป็นส่วนมาก
วันนี้ผมขับรถกลับบ้าน แถวบ้านผมมีไฟแดงที่ไม่ค่อยสมเหตุผลนักอยู่อันหนึ่ง มันไฟแดงเปิดทางให้ทางรองที่ไม่ค่อยมีใครใช้อยู่หนึ่งนาที ปล่อยให้รถทางเอกจำนวนมากต้องหยุดรอกัน รถจำนวนมากเลือกที่จะฝ่าไฟแดงนั้น หลายคันเลือกจากเลี้ยวเข้าช่องซ้าย แม้มันจะไม่ได้ผ่านตลอด แต่คงช่วยให้ความรู้สึกผิดในการฝ่าไฟแดงลดลงไปบ้าง
เด็กแว๊นสองคนซ้อนท้ายกันมา ไม่ใส่หมวกกันน๊อก ทั้งคู่ขับฉวัดเฉวียนมาระยะหนึ่ง แล้วจอดรอไฟแดงข้างๆ ผม…
คนเลวคือใครกัน ระหว่างคนขับรถน่าเสียวไส้ ไม่ใส่หมวกกันน็อก กับคนขับรถชิดซ้ายแล้วฝ่าไฟแดง
สำหรับผมแล้ว ความเลวไม่มีอันดับสอง ไม่มีรองชนะเลิศ ความเลวและความชั่ว ยังคงเป็นความเลวและความชั่วอย่างเปลี่ยนแปลงไม่ได้ อีกอย่างที่ผมเชื่อคือการทำความเลวมูลค่า หรือปริมาณน้อยๆ ไม่ได้บ่งบอกว่าความแลวและความชั่วนั้นน้อยกว่าการทำในมูลค่ามากๆ แต่อย่างใด
เรื่องนี้อาจจะเนื่องจากผมเป็นคริสต์ ที่มีระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “ผู้ซื่อสัตย์ในของเล็กน้อยจะซื่อสัตย์ในของมาก” และในบางกรณี “ความคิดก็ผิดไม่ต่างไปจากการลงมือทำ”
ความเลวร้ายในสังคมทุกวันนี้จึงไม่ใช่เรื่องของการที่มีคนเลวอยู่ในสังคม ธรรมชาติของมนุษย์นั้นมีความเห็นแก่ตัวมาโดยกำเนิด คงไม่แปลกอะไรที่เราจะทำในสิ่งเลวร้ายกันอยู่เป็นประจำในชีวิต แต่สิ่งที่เลวร้ายกว่านั้นคือการที่เราพยายาม “แบ่งเกรด” ความชั่วร้ายนั้นออกเป็นลำดับขั้น แล้วจัดตัวเองอยู่ในลำดับที่เลวร้ายกว่าสักหน่อย ขณะเดียวกันก็ชี้มือไปยังคนอีกกลุ่มใหญ่ แล้วพยายามบอกกับตัวเองว่าคนเหล่านั้นเลวร้ายกว่าเราเพียงใดกัน
ผมไม่เชื่อว่าความชั่วและความเลว มีขั้น “กว่า” ไม่ว่าจะมากกว่าหรือน้อยกว่า ขั้นกว่านั้นมีในกฏหมายเพื่อให้จัดการให้สังคมอยู่ร่วมกันได้ หลายๆ ครั้งขั้นกว่ามีไว้เพื่อสมดุลแห่งอำนาจ กฏหมายไม่ได้มีไว้วัดคุณธรรม
แต่ถ้าเราคิดว่าอะไรเป็นความชั่ว มันคงต้องเริ่มที่ตัวเองที่จะเปลี่ยน ละ เลิก จากสิ่งเหล่านั้นเพื่อไปยังทางที่ถูกต้อง
ไม่ใช่ชี้ไปที่คนอื่นแล้วบอกว่าคนนั้นทำมากกว่าต้องจัดการก่อน