เพิ่งอ่าน Traveler’s Dilemma จบไปเมื่อวาน แม้เหมือนจะพอรู้เรื่องแต่เอาเข้าจริงคงแค่ปลายหางอึ่ง เพราะวิชาด้าน Game theory ดูจะยิ่งใหญ่เกินไปหน่อย
Game Theory เป็นแขนงวิชาที่ใช้วิเคราะห์พฤติกรรมผู้ร่วมทำกิจกรรมใดๆ (เรียกกว่าเกม) โดยมีแนวคิดง่ายๆ ว่า ผู้เล่นทุกคนพยายามแสวงหาผลประโยชน์เข้าหาตนเองให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ โดยแยกเรื่องของจริยธรรมไว้ต่างหาก และถือว่าจริยธรรมเป็นหนึ่งในผลประโยชน์ที่ผู้เล่นแสวงหา (ฟังจากอาจารย์มะนาวมา)
แม้ Game Theory จะอธิบายพฤติกรรมหลายๆ อย่างในชีวิตจริงไว้ได้อย่างแม่นยำ นับแต่พฤติกรรมทางเศรษศาสตร์ ไปจนถึงพฤติกรรมของผู้ใช้เน็ตเวิร์ค แต่บทความในลิงก์แรกได้แสดงให้เห็นว่าโลกความเป็นจริงหลายๆ ครั้ง มนุษย์ไม่ได้ตอบสนองต่อเกมในทิศทางที่ทฤษฏีอธิบายไว้ได้จริง ที่จริงแล้วกว่าครึ่ง (55%) ทำในทิศทางตรงข้ามกับที่ทฤษฎีอธิบายเอาไว้ โดยผู้วิจัยแยกออกเป็นหลายๆ ส่วนว่า เอาเข้าจริงแล้วผู้เล่นอาจจะใช้อารมณ์เป็นหลักในการตัดสินใจ หรืออาศัยการเดาสุ่ม ตลอดจนไม่สามารถคิดลึกอย่างแม่นยำจนได้ผลที่ถูกต้องได้
อาจจะเรียกว่าเป็นข้อจำกัดของทฤษฏีนี้ก็ว่าได้ที่ต้องอาศัยว่าทุกคนเล่นตีโจทย์ในเกมเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ได้อย่างแม่นยำ ซึ่งได้ผลดีกับเกมหลายๆ อย่างเช่นตลาดหุ้น ที่ไม่ค่อยมีใครเคาะซื้อขายมั่วซั่วเพราะเป็นเงินทั้งนั้น หรือกระทั่งเน็ตเวิร์คที่บรรดา Hacker พยายามหาทางหาประโยชน์เข้าตัวให้สูงสุด
ตอนไปเรียนโทคงได้คุยกับอาจารย์เรื่องนี้เยอะขึ้น
ปล. บทความที่น่าสนใจที่สุดใน Scientific American เล่มนี้คือเรื่องของสาเหตุแห่งการคัน (pruritus) และอธิบายว่าทำไมเราต้องเกา ส่วน Section Working Knowledge นี่เป็น the must ของเล่มนี้อยู่แล้ว