underlying

เมื่อวันอาทิตย์ไปดูหนังมามีฉากหนึ่งที่กระตุกความคิดเล็กๆ ออกมา…

เรื่องราวตอนนั้นคือพระเอกซึ่งเป็นนักบัญชีพยายามแสดงความเป็นห่วงนางเอก ด้วยการอธิบายกระบวนการทางกฏหมายเพื่อให้นางเอกสามารถจัดการปัญหาได้ดีขึ้น

เรื่องราวดำเนินไปแบบตามครรลองฉากรัก (แม้จะไม่ใช่หนังรักก็ตามทีเถอะ) คือนางเอกโกรธพระเอกที่แทนที่จะเข้าใจและรับฟังปัญหา กลับมัวแต่พยายามพูดในสิ่งที่นางเอกไม่ได้อยากจะฟัง

ที่น่าสนใจคือเด็กคนหนึ่งมาบอกกับนางเอกที่กำลังโกรธนั้นว่า บางทีแล้วที่ชายหนุ่มพยายามพูดในสิ่งต่างๆ นั้น ก็คงเป็นเพราะเป็นสิ่งที่เขาทำได้ดี

…………

เวลาที่เรามองการกระทำหลายๆ ครั้งแล้ว ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่เราจะมองได้เพียงการกระทำที่เรามองเห็นตรงหน้า

เมื่อเราได้ของขวัญจากใครสักคน ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่เราจะให้ความประทับใจจากของขวัญที่เราได้รับนั้นเอง เมื่อเราได้ฟังอะไรจากคนอื่นๆ เราก็จะตัดสินความประทับใจจากข้อความที่เขาพูดออกมาเช่นกัน

แต่มันคงจะดี ถ้าเรามีเวลาสักช่วงหนึ่ง ที่เราหันกลับมาคิดว่าเขาทำสิ่งเหล่านั้นไปเพื่ออะไรกัน

คงจะดีถ้าเราจะเห็น ความตั้งใจที่จะไปเลือกของขวัญให้กับเรา และประทับใจกับความตั้งใจนั้น เราอาจจะเห็นความพยายามที่จะหาคำปลอบโยนที่ดี แม้คำพูดที่ออกมานั้นอาจจะไม่ได้เรื่องเท่าใหร่

ถ้าเราทำได้…. เราคงจะเห็นความรักอยู่รอบตัวเรามากขึ้นอีกมหาศาล…

 

โลกทั้งโลก

ประมาณสิบกว่าปีก่อน ผมเคยทะเลาะกับเพื่อนคนหนึ่งอย่างรุนแรงมาก มากจนผมจำได้มาจนทุกวันนี้

เราทะเลาะกันเรื่องเค้กก้อนละห้าบาทหนึ่งก้อน…..

เรื่องราวไม่ซับซ้อน ตามตรรกะทางความคิดในสมัยนั้น เนื่องจากว่าเราไม่มีเงินพอที่จะซื้อเค้กก้อนนั้นมาได้ เราจึงรวมเงินกันสามคนที่จะซื้อเค้กมาได้หนึ่งก่อน โดยผมเป็นคนออกเงินมากที่สุด (สามบาท)

ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อเราซื้อเค้กก้อนนั้นมา แล้วผมยืนยันว่าเราไม่ควรแบ่งเค้กให้เท่าๆ กันเพราะผมเป็นคนออกเงินมากที่สุด

ผมนึกถึงปัญหาในครั้งนั้นด้วยรอยยิ้มกับประสบการณ์ที่ผ่านมาในวัยเด็ก แต่วันหนึ่งแล้ว ผมก็ฉุกคิดอะไรบางอย่างขึ้นมา

ผมลืมอะไรบางอย่าง….

ผมลืมไปแล้วว่าปัญหานี้มันยิ่งใหญ่เพียงใดกับผมในเวลานั้น…

ผมไม่สามารถเข้าใจได้อีกต่อไป ว่าเงินสามบาทที่ผมนำไปทะเลาะกับเพื่อนนั้นมีความหมายต่อผมเพียงใด

ในกระบวนการช่วยเหลือผู้อื่นนั้น มุมมองอย่างหนึ่งที่สำคัญคือการเข้าใจให้ได้ว่าความคิดเช่นใดจึงสร้างปัญหานี้ขึ้นมา

ผมมองตัวเอง แล้วพบว่าน่าเศร้า เมื่อปัญหาหลายๆ อย่างที่ผมเคยประสบกับตัวเองโดยตรง แต่กลับไม่สามารถให้คำแนะนำใครได้อีกต่อไป เพราะไม่สามารถเข้าใจได้อีกต่อไปแล้วว่าทำไมในตอนนั้นจึงมีปัญหา

เช่นเดียวกับที่ผมไม่เข้าใจว่าทำไมผมจึงยินดีทะเลาะกับเพื่อนด้วยเงินสามบาท ผมไม่เข้าใจว่าทำไมการอ่านหนังสือหลายๆ ชั่วโมงเพื่อเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัยจึงยากนัก

คงดีไม่น้อยหากโลกเราจะมีวิธีบันทึกความรู้สึกและความนึกคิดเอาไว้ ให้เราได้เรียนรู้ และทำความเข้าใจกับประสบการณ์ของเราเอง ที่เราจะสามารถเข้าใจผู้อื่นที่มีประสบการณ์เดียวกับเราได้อย่างแท้จริง

 

เห็นมั๊ยล่ะ

วันก่อนขับรถกลับบ้าน ฟังวิทยุเป็นเรื่องของการดูนิสัยว่าที่คู่ครองจากการขับรถ เรื่องราวไม่มีอะไร เป็นการแนะนำการตีความนิสัยของชายหนุ่มเมื่อเผชิญหน้ากับรถติด แต่เรื่องนี้ทำให้นึกถึงอะไรบางอย่างขึ้นมาได้

ผมไม่รู้เหมือนกันว่าจุดเริ่มต้นของความ “ขี้เกียจ” ในการที่คนเราจะเรียนรู้กันและกันนั้นมันมีรากเหง้ามาจากตรงไหนกัน แต่ถ้าใครไปอ่านนิตยสาร หนังสือพิมพ์ หรือสื่อสารพันจะเห็นว่าเรามีเทคนิค “ทางลัด” ในการเรียนรู้ เพื่อน พ่อแม่ พี่น้อง แฟน ฯลฯ กันมากมายมหาศาล

น่าสนใจว่าวัฒนธรรมการบริโภคแบบเร่งด่วน มันสร้างวัฒนธรรมการทำความเข้าใจกันแบบเร่งด่วนไปด้วยได้อย่างทรงประสิทธิภาพ

เราลงทุนกับการเรียนรู้ผู้ที่เราคิดว่าเราอาจจะอยู่ด้วยกันไป “ตลอดชีวิต” ด้วยวิธีการง่ายๆ ในเวลา “ไม่ถึงชั่วโมง”

น่าทึ่ง……

 

ยอมรับ

เรื่องที่ท้าทายที่สุดเรื่องหนึ่งของผมคือการยอมรับความผิด และพลาดทั้งหลายที่ได้ทำลง ในตลอดช่วงเวลาที่ผ่านๆ มา

การทำผิดและพลาดไม่ใช่เรื่องดีและน่าภูมิใจแต่อย่างใด แต่หลายๆ ครั้ง (จริงๆ แล้วคงเกือบทุกครั้ง) สิ่งที่สำคัญมากคือการยอมรับให้ได้ว่าการตัดสินใจของเรานั้นไม่สมบูรณ์ และต้องการการแก้ไข พร้อมๆ กับการถ่ายทอดประสบการณ์ที่ผิดพลาดนั้นเพื่อให้คนรุ่นต่อๆ ไปได้เดินไปในทางที่ไม่ซ้ำรอยที่ผิดพลาดของเราอีกครั้ง

ในชีวิตจริง มนุษย์เรามักมีกลไกในการปกป้องตัวเองอยู่เสมอๆ เรามักหาเหตุผลดีๆ มาอธิบายความผิดพลาดของเราได้อย่างสวยหรู แต่ในใจเราก็รู้ดีว่าเหตุผลที่แท้จริงนั้นไม่ได้สวยหรูอย่างเราอ้างไว้นั้น

ถึงจุดหนึ่ง เราต้องยอมรับความผิด ถึงจุดหนึ่ง เราต้องยอมรับผลที่เกิดขึ้น และถึงจุดหนึ่งเราต้องเผชิญหน้ากับผลลัพธ์นั้น และแก้ไขความผิดพลาดนั้นให้ดีที่สุด

มันไม่ใช่เรื่องง่าย มันไม่ใช่เรื่องสนุก ตรงข้ามมันเจ็บปวดเสมอกับการต้องยอมรับและแก้ไข

แต่ความผิดพลาดแทบทุกอย่างมีทางแก้ไขเสมอ และยิ่งกว่านั้น การแก้ไขนั้นให้ผลดีกับตัวเรามากกว่าที่เราจะทนอยู่กับความผิดพลาดนั้นไปเรื่อยๆ เสมอ

ถ้าเราสามารถตระหนักถึงข้อเท็จจริงนี้ และเราเริ่มต้นแก้ไขมันได้

หลังจากจุดนั้น เมื่อเราได้มองกลับมาที่ตัวเราในอดีต เราคงยิ้มและดีใจที่เราได้เรียนรู้ที่จะเติบโตขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง