Solved Problem

สมัยผมเรียนปีสองในวิชา Discrete Mathematics นั้นโจทย์ข้อหนึ่งคือการพิสูจน์ว่าเกมที่อาจารย์กำหนดกติกามาให้นั้นเป็น [Solved Game](http://en.wikipedia.org/wiki/Solved_board_games)

Solved Game เป็นกลุ่มของเกม (โดยทั่วไปแล้วเล่นสองคน) ว่าเราสามารถรู้ผลได้ทันทีที่เริ่มเล่น หรืออาจจะก่อนหน้านั้นซะอีก หากผู้เล่นพยายามเล่นเพื่อให้ได้ผลดีที่สุดที่เป็นไปได้ (พยายามจะชนะนั่นแหละ)

แน่นอนว่าไม่มีประโยชน์อะไรที่เราจะเล่นเกมเหล่านี้ หากเราต้องการผลที่ต่างออก

ตัวอย่างเกมแบบนี้คือ O-X ที่เราหลายๆ คนคงรู้ว่าถ้าเล่นดีๆ มันมีแต่จะเสมอเท่านั้น

ชีวิตคนเราเองก็มีปัญหาหลายๆ อย่างที่ถูกแก้ไปแล้วโดยเราไม่รู้ตัว เราอาจจะไม่ต้องเครียดกับผลของมันอีกต่อไป เพราะผลของการกระทำไม่ได้เปลี่ยนไป

เราแค่ต้องถอยออกมาแล้วถามตัวเองว่าเมื่อกมจบลง เราจะเป็นอย่างไรต่อไป

 

Self Motivated

Self Motivated เป็นหนึ่งในคุณสมบัติที่เห็นกันอยู่เรื่อยๆ ตามประกาศสมัครงานทั้งหลาย

ผมเคยสงสัยมาตลอดว่าจะใส่ไว้ทำไม?… ด้วยความคิดว่าถ้าคนๆ หนึ่งไม่ motivated ในการทำงานแล้ว อาจจะหมายความได้ว่าเขาไม่เหมาะกับงานนั้นอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเรียนตามเพื่อน หรือแค่อยากเรียนโดยไม่ได้อยากทำงานในสายงานนั้นๆ

แต่ช่วงเวลาที่ผ่านมาสอนผมหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะว่ามันอาจจะไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่เราจะขาดแรงบันดาลใจไปเสียทุกอย่าง เราอาจจะทำหลายๆ อย่างได้ดี ยังคงมีความรับผิดชอบกับงานนั้นๆ แต่เรากลับขาดแรงบันดาลใจ

การขาดแรงบันดาลใจไม่ได้หมายถึงการที่คนๆ หนึ่งจะทำงานนั้นๆ ไม่ได้ เขาทำได้ และหลายๆ ครั้งก็ทำได้ดี (มาก) แต่เขาไม่มีแรงกระตุ้นที่จะทำงานนั้นให้ดีกว่าเดิม หรือทำงานให้เกินกว่าที่ได้รับมอบหมายอีกต่อไป

และเรื่องอะไรๆ ที่ควรจะง่ายมันก็ยากกว่าที่คิด

 

Revolt My Life

แก่ตัวไปแล้วมีปัญหาเรื่องการจัดการเวลามากขึ้นเรื่อยๆ เลยจัดการปฏิวัติตัวเองใหม่

– ลบเมลที่ไม่อ่านออกให้หมด ไม่ว่าจะเป็น mailing-list ทั้งหลาย หรือเมลที่ไม่เกี่ยวข้อง
– เมลที่เรื่องจบไปแล้วจะโดนโยนลง Archive หมด เมลที่อยู่ใน inbox คือเรื่องที่ค้างอยู่เท่านั้น
– กำหนด task ตอนเช้า ทำแบบ linear ไปเรื่อยๆ
– ชีวิตมีงานแค่สองระดับ ปรกติและ urgent ถ้าไม่ urgent จะโดนเอาเข้าคิวไว้ process ทีหลังเสมอ

สิ่งที่อยากได้ตอนนี้คือ task-list แบบง่ายๆ เหมือนของ Gmail แต่บอกคะแนนงานได้สักหน่อย จะได้เอามาประเมินตัวเองได้ว่า productivity ดีแค่ไหน

 

ความพยายามอยู่ที่ไหน…

ความพยายามควรอยู่ที่นั่น

ผมเชื่อว่าการไปบอกเด็กว่าความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่นเป็น Pitfall อย่างหนึ่งในการสร้างค่านิยมของไทย การ “ลงแรง” ไม่ควรเป็นการบ่งบอกถึงความ “สำเร็จ”

หนึ่งเลยคือการลงแรงอย่างไร้ปัญญา สร้างความหายนะได้มากกว่าความสำเร็จได้มากมายนัก

สองคือการลงแรงเพียงเพื่อมุ่งหวังเอาแต่ความ “สำเร็จ” แต่ไม่ได้บอกถึงคุณค่าของการลงแรงด้วยตัวมันเองนั้นเป็นการขับเคลื่อนความไร้น้ำใจในสังคมอย่างร้ายกาจ

เราแค่อยากเอาชนะ เราก็เลยลงแรง

ความพยายามไม่ใช่สิ่งที่เราจะใส่ลงไปเพื่อความสำเร็จ แต่เป็นการที่เรามองเห็นว่าถ้ามันสำเร็จมันจะคุ้มค่าแค่ไหน

มันอาจจะไม่สำเร็จ ทั้งหมดอาจจะสูญเปล่า

แต่เราก็ยังภูมิใจกับมัน เราเรียนรู้จากมัน และเราไม่เสียใจที่ได้พยายาม…