เรื่องจริง

คิดเล่นๆ ว่าถ้าไม่มีสิ่งที่เหนือธรรมชาติใดๆ เลยจริงๆ

ถ้าทั้งหมดในชีวิตเราที่เราเห็น สามารถอธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์ (อย่างน้อยก็วิทยาศาสตร์แบบที่เรารู้อยู่ตอนนี้)

“เรา” เป็นเพียงมวลก้อนหนึ่ง มีองค์ประกอบที่พอดี และถูกกระตุ้นโดยพลังงานในรูปแบบที่ลงล็อก

“เรา” เป็นเพียงผลผลิตที่เกิดจากความน่าจะเป็นหนึ่งๆ ใน sample space ขนาดใหญ่มหาศาล เราเป็นเพียงจุดๆ หนึ่งที่เป็นไปได้จากจุดอื่นๆ ที่นับไม่ถ้วน

ทั้งหมดที่เราฝัน ทั้งหมดที่เราหวัง ทั้งหมดที่เราเป็น มันจะมีความหมายอะไร

มีเราหรือไม่ มันก็ไม่ต่างกัน ความดีที่เราเคยเชื่อ คุณค่าที่เรารู้สึก มันจะมีความหมายอะไร

ทั้งหมดก็แค่เสื่อมสลายไปตามกาลเวลา จะความดีหรือความชั่วร้ายก็เสื่อมสลายไปเหมือนๆ กัน

 

Boston Marathon

ในบรรดางานวิ่งมาราธอนทั่วโลกนั้นหนึ่งในรายการที่โด่งดังที่สุดในโลกคือ Boston Marathon มันเป็นรายการที่โหดและหิน เพราะระยะทาง 42.195 กิโลเมตรของมันนั้นเป็นเส้นทางที่ลมแรง และที่ร้ายกาจที่สุดคือเนินเขาสี่เนินในช่วงปลายสุดของการแข่งกัน นักวิ่งที่เหนื่อยล้ามาตลอดเส้นทางหลายสิบกิโลเมตร

เนินเขาสี่เนินเขา แต่ละเนินพร้อมจะหยุดนักวิ่งไปทีละกลุ่ม ส่วนมากหยุุดวิ่งแล้วเดินไปข้างหน้า บ้างยอมแพ้ถอนตัวจากการแข่งขัน

จุดที่บีบหัวใจที่สุดคือเนินเขาสุดท้ายในระยะ 600 เมตรสุดท้าย มันมีความสูงเพียง 27 เมตรเท่านั้น แต่กับนักวิ่งที่วิ่งมากว่า 40 กิโลเมตร กับเนินเขาที่โหดหินถึงสามลูกก่อนหน้า เมื่อมองไปข้างหน้าเห็นเนินเขาอีกครั้งคนจำนวนมากก็พร้อมจะยอมแพ้ต่อมัน

แต่ถ้านักวิ่งเหล่านี้ผ่านไปได้ มันก็แค่อีกไม่กี่ร้อยเมตรเท่านั้น

ไม่กี่ร้อยเมตรเท่านั้นเทียบกับระยะทางหลายสิบกิโลเมตรที่พวกเขาผ่านมาได้ตั้งไกล

ปล. เล่าครั้งแรกโดย อ.อนันต์ ผลเพิ่ม ในวิชา Probability and Statistics ปีสามภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ม. เกษตร

ปล2. เห้ย ปล.แรกมันเจ็ดปีแล้วเรอะ !!!

 

Dedicate

หลายวันก่อนคุยกับ @warong เรื่องของความรัก ได้ฟังแนวคิดอีกอย่างหนึ่งที่ @warong อ้างมาอีกต่อคือ “ความรักเป็นความสามารถ”

บทสนทนาวันนั้นก็จบไป

แต่ที่ผมนึกขึ้นมาอีกอย่างหนึ่งคือ ความรักกับชีวิตคู่นั้น น่าจะเป็นคนละเรื่องกัน…

แม้ว่าชีวิตคู่ที่ดีต้องมีความรักก็ตาม แต่ชีวิตคู่ก็อาจจะไปได้แม้ไม่ความรัก หรือแม้จะรักกันแค่ไหน แต่ชีวิตคู่ก็อาจจะไปต่อไม่ได้ (หรืออาจจะเริ่มไม่ได้ด้วยซ้ำ)

เรารัก (และรักในแบบคู่รัก) ได้หลายครั้ง บางครั้งก็พร้อมๆ กันจนชีวิตวุ่นวายกันบ้าง แต่กับชีวิตคู่นั้น ดูเหมือนความปรารถนาที่จะ “มีเพียงหนึ่ง” เป็นเรื่องที่ถูกฝังมาในหัวใจของเราทุกคน

ชีวิตคู่คืออะไรกัน?

สำหรับผมแล้วชีิวิตคู่คือการ “ให้” (dedicate) บางส่วนในชีิวิตของเราให้กับคนอีกคนที่จะร่วมชีวิตไปกับเรา

และชีวิตคู่ไม่ได้เริ่มต้นที่การแต่งงาน… การแต่งงานเป็นการประกาศการ dedicate ในระดับที่สูงขึ้น และตลอดชีวิต

ตลอดเวลาที่ชีวิตคู่พัฒนาไป เรา dedicate บางอย่างเพื่อ “คู่” ของเรา แน่นอน การมีแฟนไม่ใช่การมีคนดูหนังและกินข้าว แต่ถ้าหาเวลา และกิจกรรมบางอย่างที่ dedicate ให้แก่กันและกันไม่ได้เลย ก็คงยากที่จะนึกออกว่าคู่นั้นจะไปกันรอดได้อย่างไรกััน

แต่ละคนมีระดับที่ dedicate ต่างๆ กันไป บางคนอาจจะยกให้เวลาให้ทั้งหมดนอกเวลางาน บางคู่อาจจะมีพื้นที่ส่วนตัวมากสักหน่อย แต่มันคงต้องมีสักส่วนที่เป็นของกันและกัน

คนที่แค่คบหากันอาจจะไม่มีอะไรมากกว่าการไปดูหนังด้วยกันเดือนละครั้ง อาจจะดูไม่มีสาระอะไร แต่นั่นเป็นพื้นที่ที่ทั้งสองให้กันและกัน

แล้วผมมานั่งบ่นเรื่องนี้ทำไมกัน?

 

ครั้งเดียวในชีวิต

ช่วงเวลาตลอดชีวิต มีอะไรหลายๆ อย่างที่ผมเห็นคนจำนวนมากร่วมกันทำเพื่อเป็นความทรงจำ “ครั้งหนึ่งในชีวิต”

เราพยายามทำสิ่งเหล่านั้น เพราะโอกาสมันจะไม่หวนมาอีกครั้ง

ความทรงจำเหล่านั้นเหมือนสิ่งที่เชื่อมต่อเราเข้าหากัน แต่ถ้าเรากลับมามองความทรงจำที่เรามีแล้ว สิ่งที่เชื่อมความทรงจำของเราเข้ากับใครสักคนอาจจะไม่ใช่อะไรที่ยิ่งใหญ่ มันอาจจะเป็นแค่กาแฟสักแก้ว เค้กสักก้อน ขนมสักถ้วย

มันไม่ใช่อะไรที่ยิ่งใหญ่ มันไม่ใช่อะไรที่เราจะไม่เจอมันอีกครั้งตลอดชีวิต

แต่มันก็เป็นครั้งเดียวในชีวิตที่เราจะได้สัมผัสกับช่วงเวลานั้น