ทิศ

ว่าจะเอาไว้เขียนพรุ่งนี้ แต่พอดีไปอ่านบทความของมาร์คเข้า ก็มาเขียนวันนี้เลยเดี๋ยวลืม

แนวคิดอย่างหนึ่งที่ผมเชื่อว่าสำคัญมากในการดำเนินชีวิตของคนทุกคน คือแนวคิดที่บอกเราได้ว่าเราจะเป็นอะไร?

ผมไม่เชื่อว่าการที่เราทุกคนมุ่งมั่นจะเป็น CEO จะเป็นทางออกที่ถูกต้อง ทุกคนมีทางไปของตัวเองที่เหมาะสมเสมอ ปัญหาคือเราไม่กล้าเดินในทางที่เราเหมาะกับมันต่างหาก

คนจำนวนไม่น้อยเหมาะสมที่จะเป็นลูกจ้างไปตามปรกติ เหมาะสมที่จะรับตื่นเข้า ทำงาน รับเงินเดือน และกลับบ้านอยู่กับครอบครัว โดยที่ไม่ต้องใช้ลชีวิตที่ดิ้นรนมากกว่านั้น ขณะที่คนจำนวนมาก อาจจะมีความสุขดีกับกิจการขนาดเล็ก รถเข็นสักคัน

แน่นอนว่าการเป็น CEO มันเท่ห์ การเป็นผู้นำนวัตกรรมมันได้รับการจารึกชื่อไว้ในประวัติศาสตร์ แต่หลายๆ ครั้งแล้วการเสียสละเช่นนั้นก็แลกมาด้วยความสูญเสียของคนรอบข้างจนน่าสงสัยว่า ครอบครัวของคนเหล่านั้นทำผิดอะไรจึงต้องรับผลที่ตามมา

การที่อุตสาหกรรมของอินเดียแทบไม่มีนวัตกรรมเลย ก็ไม่ได้หมายความว่าอุตสาหกรรมไอทีของอินเดียจะไม่ได้สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าให้กับแรงงานชาวอินเดีย

สิ่งที่สำคัญกว่าการก้าวไปยังข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง น่าจะเป็นเป็นการมองเป้าว่าเรากำลังก้าวไปที่ใด และหยุดคิดว่าเราจะไปตามที่เราหวังไว้อย่างไรจึงสามารถเดินทางได้อย่างมีความสุข

 

มีใจ

ในฐานะวิศวกร สิ่งหนึ่งที่ผมเริ่มทำทันทีเมื่อพบปัญหาต่างๆ คือการหาทางออกที่ให้ผลประโยชน์สูงสุดเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางการขับรถให้ใกล้ที่สุด เร็วที่สุด ประหยัดที่สุด หรือจะเป็นการใช้ชีวิตโดยหาเส้นทางที่ดีที่สุด ให้ผลตอบแทนต่างๆ สูงสุด

แต่อีกหลายครั้งเช่นกัน ทั้งที่รับรู้ถึงทางออกที่ดีเหล่านั้น ผมกลับเลือกเส้นทางอื่นๆ ที่ต่างออกไป

หลายๆ ครั้งอีกนั่นแหละ ที่ผมกลับเลือกเส้นทางที่ดูไม่ดี เส้นทางลำบาก และเส้นทางที่ดูไร้สาระ

ชีวิตที่ไม่ได้ยาวนานสอนเราได้เรื่องหนึ่ง คือการเดินในเส้นทางที่ “ถูกที่สุด” ตลอดเวลา ไม่ใช่สิ่งที่ “ดีที่สุด” สำหรับชีวิตของเราเสมอไป หลายครั้งแล้วเราสามารถเลือกเส้นทางที่แย่กว่า ยากกว่า และแพงกว่า เส้นทางที่ไม่ว่า พ่อแม่พี่น้อง หรือญาติมิตรต่างๆ จะไม่มีทางเห็นดีเห็นงามกับเราไปตลอดชีวิต แต่เราก็ยังคงเลือกเส้นทางนั้น

การเลือกไม่ได้ให้ผลที่เป็นสุขเหมือนในละครทุกครั้งไป ตรงข้าม การเลือกอย่างไร้ตรรกะเช่นนี้ มักนำมาซึ่งความลำบากอย่างที่คนรอบข้างเราเตือนไว้อย่างไม่ผิดเพี๊ยนเสมอๆ เรามักจะได้รับความเจ็บปวดจากการเลือกนั้นด้วยตัวของเราเอง แต่ก็นั่นแหละ เมื่อวันรุ่งขึ้นผ่านเข้ามา สิ่งที่เราเลือกมากมายก็เข้ามาถามเส้นทางชีวิตของเราอีกครั้ง

ความเจ็บปวดจากการเลือกเส้นทางที่ผิด ไม่ใช่สิ่งเดียวที่เราได้จากการเลือกในเส้นทางที่เรา “มีใจ” ให้กับมัน แม้เราจะต้องรับผิดชอบกับการเลือกเส้นทางที่ผิดเหล่านั้น เรากลับมีความภูมิใจอยู่ลึกๆ ว่าเราได้เลือกในเส้นทางที่เราตั้งใจไว้ ตรงข้ามกับความสำเร็จที่มาจากการเพ่งมองตรรกะ ที่เราต้องทนกับการตอบคำถามตัวเองอยู่ทุกวันที่ผ่านไป ว่ามันจะเป็นอย่างไรถ้ามวันนัั้นทำตามหัวใจของเราเอง

เมื่อเดินมาถึงสุดทางอันยาวไกล มีสองประตูอยู่ตรงหน้าเรา ประตูหนึี่งติดป้ายว่า “เส้นชัย” แน่นอนมันคือจุดหมายปลายทางที่เราเดินทางมาหามันโดยตลอด แต่อีกประดูหนึ่งที่เป็นเพียงประตูโดยไม่มีป้ายอะไรบอกกล่าวว่าอะไรอยู่ข้างหลังมันเล่า

คุณไม่อยากรู้หรือว่ามันจะพาคุณไปไหน….

ลองถามหัวใจของคุณเองแล้วกัน

 

เพื่ออะไร

เคยมีบ้างไหมที่วันหนึ่งเรายืนส่องกระจก แล้วถามตัวเองว่าเราอยู่เพื่ออะไรกัน เราไปทำงานเพื่ออะไรกัน เราพยายามทำให้คนรอบข้างมีความสุขเมื่ออยู่กับเราเพื่ออะไรกัน

ขณะที่ชีวิตเดินไปข้างหน้าอย่างรีบเร่ง ชีวิตเราคงมีบางเวลาที่ได้โอกาสหยุดเพื่อที่จะคิดว่าเราเดินมาไกลแค่ไหน และเรากำลังจะไปทางไหนกัน

น่าตกใจที่คำตอบจากคนในกระจกนั้นคือ ไม่รู้….

มีคำกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงที่ดีนั้น ควรเปลี่ยนแปลงในขณะที่สถานะการณ์ยังเป็นสถานะการณ์ที่่ดี เพราะการเปลี่ยนแปลงในสถานะการณ์ที่ย่ำแย่นั้นมักพาไปสู่สถานะการณ์ที่แย่กว่าเดิมเสมอๆ

คำกล่าวข้างบนเป็นหลักการเกี่ยวกับธุรกิจ แต่กับชีวิตเราแล้ว คำกล่าวเช่นนี้ก็น่าสนใจเช่นกัน

ทำไมเราจึงมักมองชีิวิตเราเองอย่างพิจารณา เฉพาะเมื่อในภาวะที่เราแย่กับตัวเองเสมอๆ แต่กลับหลงระเริงกับชีวิตเมื่อความสุขกำลังเต็มล้นชีวิตของเรา

ในภาวะที่ความสุขมีอยู่เต็มทุกมุมมองของเรา มันอาจจะดีถ้าเราหันกลับมามองชีวิตในขณะที่มุมมองเป็นบวก แล้วเริ่มเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ที่เราเคยคิดเอาไว้

เพื่อที่วันหนึ่งเมื่อเรายืนถามตัวเองในกระจก

เราจะได้ยิ้มอย่างภูมิใจกับการตัดสินใจของเราเอง

 

พาฝัน

“เจมส์ บอนด์ น่ะหรือพาฝัน”
“เพราะมันเป็นฝันของผู้ชายที่ไม่มีปัญญา ไม่งั้นทำไมต้องมีสาวๆ ในหนัง เพราะพวกผู้ชายไม่มีปัญญามีในชีวิตจริง”
โม และ แตง
โลกใบที่สองของโม จุก เบี้ยวสกุล + วินทร์ เลียววาริณ